TDRI เชื่อมฐานข้อมูลติตตามอุบัติเหตุบนท้องถนน

TDRI
ที่มาภาพ: Alexander Fox/ PlaNet Fox, Pixabay

TDRI เชื่อมโยงข้อมูล 3 ฐาน เปิดให้หน่วยงานรัฐระดับท้องถิ่นบูรณาการแผนลดอุบัติเหตุตรงเป้า และประชาชนเข้าถึงได้

วันที่ 10 เมษายน 2566 ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ (TDRI) เปิดเผยในงานสัมมนาหัวข้อ “ติดตาม DATA เจ็บ-ตาย สู่เป้าหมายถนนไทยปลอดภัยสำหรับทุกคน” ว่า TDRI ได้มีการสร้างเว็บไซต์ขึ้นเพื่อให้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นนักวิจัย หน่วยงานรัฐระดับต่าง ๆ จนถึงประชาชนที่สนใจ เข้าถึงข้อมูลเชิงสถิติที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ จาก https://tdri.or.th/road-safety/

โดยเป็นข้อมูลภาพรวมยอดผู้เสียชีวิตสะสมทั่วประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563-2565 พร้อมแสดงข้อมูลประเมินผลตัวชี้วัดรายจังหวัดบนหน้าเว็บไซต์ จากการรวบรวมข้อมูลการบูรณาการจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มาใช้วิเคราะห์เป้าหมายของแต่ละตัวชี้วัด เพื่อเป็นทิศทางให้กับองค์กรส่วนจังหวัดและภูมิภาคในการกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยบนท้องถนน

ดร.สุเมธกล่าวด้วยว่า ข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญในการกำหนดนโยบายหรือมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดอุบัติเหตุ และแก้ปัญหาได้ตรงจุด ต้องมี “ข้อมูลอุบัติเหตุที่ดี” และเป็นระบบอย่างครอบคลุม ดังนั้นหากข้อมูลสถิติมีความครอบคลุมแต่ก็ละเอียดเเม่นยำลงไปถึงระดับจังหวัดหรืออำเภอ รวมถึงจำแนกประเภทข้อมูลได้หลากหลาย เช่น ระบุสถิติด้วยว่าผู้เสียชีวิตและประสบอุบัติเหตุอยู่ในช่วงอายุใด หรือช่วงเวลาใด ก็จะเป็นประโยชนให้หน่วยงานในท้องถิ่นนำไปกำหนดมาตรการให้จำเพาะเจาะจงได้เฉพาะถิ่นของตนได้มากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างเช่น จากข้อมูลย้อนหลังในทศวรรษที่ผ่านมา สัดส่วนผู้เสียชีวิตที่ขับขี่รถจักรยานยนต์คิดเป็นร้อยละ 74.5 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด และในปี 2565 กว่า 86.82% เป็นผู้เสียชีวิตที่ไม่สวมหมวกนิรภัย

นอกจากนี้ในช่วง 5-10 ปีย้อนหลัง มีสัดส่วนผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้สูงอายุประมาณ 1 ใน 5 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด และยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละ 5.45% ซึ่งมีอัตราการเพิ่มขึ้นสูงที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มเสี่ยงผู้ใช้รถใช้ถนนกลุ่มอื่น ๆ

กลุ่มคนเดินเท้ามีจำนวนผู้เสียชีวิตเป็นอันดับที่ 3 รองจากผู้ขับขี่ที่เป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์และรถยนต์ ในช่วงปี 2561-2565 มีผู้เสียชีวิตจากการเดินเท้าเฉลี่ยเดือนละ 32.97 คน หรือมีผู้เสียชีวิตจากการเดินเท้าอย่างน้อยวันละ 1 คนทุกวัน

ทั้งสามกลุ่มนี้จึงนับเป็นกลุ่มเปราะบาง และด้วยข้อมูลที่ได้มานี้ หากมีการกำหนดมาตรการหรือนโยบายอย่างแม่นยำตรงจุด จะช่วยลดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุในภาพรวม

ทั้งนี้ ฐานข้อมูลที่รวบรวมไว้ ทุกภาคส่วนทั้งนักวิจัย หน่วยงานท้องถิ่น หรือประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงและนำไปช่วยกันต่อยอด เพื่อให้ทุกส่วนขับเคลื่อนนโยบายสอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาว ปี 2570 ว่าผู้เสียชีวิตจากท้องถนนต้องไม่เกิน 8,474 คน หรือ 12 คนต่อแสนประชากร และผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนนต้องไม่เกิน 103,376 คน