KBTG ต่อยอดงานวิจัยด้าน AI

เรืองโรจน์ พูนผล
สัมภาษณ์

ในฐานะองค์กรเทคโนโลยีในเครือกสิกรไทย KBTG เดินหน้าต่อยอดงานวิจัยด้าน AI และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ร่วมกับพันธมิตร ทั้งระดับโลกและในประเทศ ด้วยการทดลองพร้อมสาธิตให้เห็นว่า AI ช่วยให้การตัดสินใจของมนุษย์ดีขึ้นอย่างไร โดยไม่ลืมที่จะเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจในการนำไปใช้งาน หรือ AI literacy ให้เกิดขึ้นในวงกว้างเพื่อให้ “คน” อยู่ร่วมกัน และใช้งาน AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เรืองโรจน์ พูนผล” ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวว่า หลายธุรกิจมองว่า AI หรือปัญญาประดิษฐ์ เข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายส่วน โดยเฉพาะ generative AI อย่าง ChatGPT จน เป็นกระแสว่า อาจเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์ได้ทุกอย่างในอนาคตอันใกล้ ซึ่งที่จริงแล้ว การจะใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน คือการที่ “มนุษย์” กับ “AI” ทำงานร่วมกัน กลายเป็นแนวคิด Augmented Intelligence หรือการใช้ AI ยกระดับการทำงาน และความสามารถของมนุษย์ ผ่านการสร้างโมเดล machine learning ที่วางคนเป็นศูนย์กลาง (human-centric)

โดย AI รับฟีดแบ็กและประสบการณ์ต่าง ๆ จากมนุษย์ พัฒนาข้อมูลออกมาเป็นแนวทางที่กลับมาช่วยให้มนุษย์ ตัดสินใจ และกระทำการบางอย่างได้อย่างถูกต้องและแม่นยำยิ่งขึ้น

จากแนวคิด Augmented Intelligence ทาง KBTG ได้นำมาพัฒนาต่อยอดสู่การวิจัยด้าน AI และพัฒนาผลิตภัณฑ์บริการให้กับธนาคารกสิกรไทย เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (natural language processing-NLP) กลไกเบื้องหลัง Chatbot ช่วยแนะนำการตอบปัญหาลูกค้าผ่านช่องทางโซเชียลต่างๆ จนปัจจุบันประหยัดเวลาของลูกค้าในการใช้งานจริงกว่า 300,000 ชั่วโมง หรือ Wealth PLUS ฟีเจอร์แนะนำการลงทุนบนแอป K PLUS เป็นต้น

สำหรับการวิจัย และพัฒนาต่อยอดงานด้าน AI ที่ KBTG ทำร่วมกับ MIT Media Lab ก่อนหน้านี้เคยเปิดตัวผลงาน “Future You” แพลตฟอร์ม AI ที่ช่วยให้ผู้ใช้สนทนากับ Digital Twin ของตัวเองในอนาคตผ่านโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (GPT) ที่ปรับให้เหมาะสมตามข้อมูลเป้าหมายในอนาคต และนิสัยส่วนบุคคลของผู้ใช้ เพื่อให้การสนทนารู้สึกเหมือนจริง และเพิ่มความน่าเชื่อถือ ระบบจะสร้างความทรงจำสังเคราะห์เฉพาะบุคคลของผู้ใช้ในอนาคตในวัย 60 ปี พร้อมปรับให้ภาพเหมือนของผู้ใช้เปลี่ยนไปตามอายุ

งานวิจัยชิ้นนี้พัฒนามาจากทฤษฎีทางจิตวิทยาที่ศึกษา “ความต่อเนื่องของตัวเองในอนาคต” หรือ “Future Self Continuity” ว่าด้วยความความเชื่อมโยงที่บุคคลรู้สึกกับตัวเองในอนาคต ซึ่งจากผลจากการศึกษาเบื้องต้นกับผู้เข้าร่วม 188 คน ผู้ใช้ที่ได้สนทนากับตัวเองในอนาคตผ่านเทคโนโลยี Future You ช่วยลดความรู้สึกด้านลบ เช่น ความวิตกกังวล และเพิ่มความการคิดเชิงบวก เเละเเรงจูงใจในการใช้ชีวิตได้ รวมถึงมีทัศนคติต่ออนาคตในทางบวกมากขึ้น มีเเรงบันดาลใจในการทำเป้าหมายในอนาคตให้สำเร็จ

“KBTG และ MIT Media Lab ยังต่อยอด AI ไปสู่งานวิจัยอีกชิ้น คือ K-GPT (Knowledge-GPT) ซึ่งใช้ความสามารถของ ChatGPT ในการให้ความรู้เชิงลึกเฉพาะด้าน โดยปรับให้ใช้ภาษาในการสนทนาที่เป็นมนุษย์มากขึ้น รวมถึงเสริมความเชี่ยวชาญด้านภาษาไทยให้มากขึ้น สามารถตอบคำถาม และแนะแนวทาง เสมือนที่ปรึกษาให้ผู้ถามในแง่มุมที่แตกต่างกันพร้อมๆ กันได้”

โดย KBTG Labs และนักศึกษาจาก MIT Media Lab ร่วมกันสร้างงานวิจัย Proof of Concept ชื่อ “คู่คิด” ผ่าน AI น้องคะน้าและคชาที่จะตอบคำถามในมุมที่ต่างกัน เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ใช้งาน ซึ่งทั้งสองงานวิจัยต้องการทดลอง และสาธิตให้เห็นว่า AI ให้ข้อมูลที่ช่วยให้การตัดสินใจของมนุษย์ดีขึ้น มีการปรับเปลี่ยนปัจจัยในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ ภาษา ความลึกของความรู้ และอารมณ์

ล่าสุดร่วมกับ NECTEC และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หารือความเป็นไปได้ในการเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจในการนำ AI ไปใช้งาน (AI Literacy) ให้เกิดในวงกว้างโดยร่วมกันเขียน Whitepaper เพื่อเป็นไกด์ไลน์เผยแพร่ให้บุคคลทั่วไปที่ต้องการมีทักษะในการใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพ