มหาสมุทร “ข้อมูล” เขย่าธุรกิจ 85% ต้องการ “หุ่นยนต์” ตัดสินใจแทน

หุ่นยนต์

การวิจัย The Decision Dilemma โดย ออราเคิล และ เซท สตีเฟนส์-เดวิโดวิตซ์ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และผู้เขียนหนังสือติดอันดับขายดี New York Times สำรวจความคิดเห็นพนักงาน ผู้บริหารกว่า 14,000 คน ใน 17 ประเทศ รวมถึงผู้ตอบแบบสอบถามอีกกว่า 45,000 คน ในเอเชีย-แปซิฟิก และญี่ปุ่น (JAPAC) พบว่าผู้คนรู้สึกลำบากในการตัดสินใจ ทั้งในชีวิตส่วนตัว และการงาน ทั้งคิดว่าไม่มีความรู้พอในการใช้ข้อมูลเพื่อช่วยตัดสินใจ

ความเสี่ยงมหาสมุทร “ข้อมูล”

74% ของคนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และญี่ปุ่น (JAPAC) กล่าวว่าการตัดสินใจในแต่ละวันเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า ใน 3 ปีที่ผ่านมา และกว่า 75% รู้สึกว่าโดนจู่โจมด้วยข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ มากกว่าในอดีต 86% ยอมรับว่าข้อมูลจำนวนมากทำให้การตัดสินใจ ทั้งในชีวิตส่วนตัวและการงานซับซ้อนขึ้น

61% เผชิญภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในการตัดสินใจมากกว่า 1 ครั้งต่อวัน

33% ไม่ทราบว่าข้อมูลใด หรือแหล่งข้อมูลใดที่เชื่อถือได้ และ 71% ตัดสินใจไม่ได้ เพราะข้อมูลมีมากเกินไป

89% ไม่สามารถตัดสินใจได้ ส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิต ทำให้เกิดความวิตกกังวล (37%) พลาดโอกาส (37%) และการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น (35%)

ผลที่ตามมาคือ 92% เปลี่ยนวิธีการตัดสินใจใน 3 ปีที่ผ่านมา 41% รับฟังเฉพาะแหล่งข้อมูลที่พวกเขาเชื่อถือ และ 31% พึ่งพาความรู้สึกเพียงอย่างเดียว

ผู้นำธุรกิจใน JAPAC ต้องการข้อมูลช่วยสนับสนุน และตระหนักว่าข้อมูลมีความสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กร แต่ไม่มั่นใจว่ามีเครื่องมือที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้

87% ของผู้บริหารมีความทุกข์จากความกดดันในการตัดสินใจ เช่น เสียใจ รู้สึกผิด หรือตั้งคำถามกับการตัดสินใจในปีที่ผ่านมา 90% เชื่อว่าการมีข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจที่เหมาะสม สร้างหรือทำลายความสำเร็จขององค์กรได้เลย 96% ต้องการการสนับสนุนจากข้อมูล

ในเชิงอุดมคติต้องการข้อมูลเพื่อช่วยให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น (43%) ลดความเสี่ยง (37%) ตัดสินใจได้เร็วขึ้น (40%) ทำเงินได้มากขึ้น (37%) และวางแผนสำหรับสิ่งที่ไม่คาดคิด (30%) แต่ในความเป็นจริง 73% ยอมรับว่าข้อมูลมีปริมาณมากเกินไป และการขาดความเชื่อถือในข้อมูลทำให้ไม่สามารถตัดสินใจใด ๆ ได้

องค์กรรับมือความท้าทาย

92% เชื่อว่ายิ่งมีแหล่งข้อมูลเพิ่มมากขึ้นเท่าใด ยิ่งเป็นตัวจำกัดความสำเร็จขององค์กรเท่านั้น

การจัดการแหล่งข้อมูลที่แตกต่างกันจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรเพิ่มเติม เพื่อรวบรวมข้อมูล (47%) ทำให้การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ช้าลง (38%) และอาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดมากขึ้น (31%)

ผู้บริหารไม่เชื่อว่าแนวทางการใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์ในปัจจุบันจะรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ได้ โดย 74% ยอมรับว่าแผงควบคุมและแผนภูมิที่พวกเขาได้รับมาไม่ได้สัมพันธ์โดยตรงกับการตัดสินใจที่พวกเขาต้องทำเสมอไป และ 77% เชื่อว่าข้อมูลส่วนใหญ่มีประโยชน์สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านไอที หรือนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเท่านั้น

“ผู้บริหาร” เชื่อว่าข้อมูลและข้อมูลเชิงลึกที่ถูกต้องสามารถช่วยสนับสนุนพวกเขาในการตัดสินใจได้ดีขึ้น ทั้งในเรื่องทรัพยากรบุคคล (97%) การเงิน (93%) ห่วงโซ่อุปทาน (95%) และประสบการณ์ลูกค้า (93%)

ผู้บริหาร 73% ระบุว่าปวดหัวกับการที่ต้องรวบรวม และตีความข้อมูล เพราะมีจำนวนมากกว่าที่จะจัดการได้ โดย 75% กล่าวว่า ผู้คนมักตัดสินใจก่อนแล้วจึงค่อยหาข้อมูลเพื่อนำมาสนับสนุนการตัดสินใจนั้น

พนักงาน 74% เชื่อว่าธุรกิจให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของบุคคลที่มีรายได้สูงสุดมากกว่าข้อมูล และ 26% รู้สึกว่าการตัดสินใจส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในองค์กรไม่สมเหตุสมผลทำให้ผู้คนกว่า 81% และผู้บริหารธุรกิจกว่า 85% ต้องการให้ “หุ่นยนต์” ช่วยตัดสินใจแทน

และรู้ว่าหากไม่มี “ข้อมูล” การตัดสินใจของพวกเขาจะแม่นยำน้อยลง (45%) ประสบความสำเร็จน้อยลง (32%) และมีแนวโน้มเกิดข้อผิดพลาด (41%) ทั้งเชื่อว่าองค์กรที่ใช้เทคโนโลยีการตัดสินใจที่ขับเคลื่อนด้วย “ข้อมูล” มีความน่าเชื่อถือมากกว่า (77%) จะประสบความสำเร็จมากกว่า (77%) เป็นบริษัทที่อยากลงทุนด้วย (75%) เป็นพันธมิตรคู่ค้าด้วย (75%) และทำงานด้วย (76%)

“ออราเคิล” ชูคลาวด์ตัวช่วยธุรกิจ

นายทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น ประเทศไทย กล่าวด้วยว่า การขยายตัวของธุรกิจในประเทศไทย เพื่อให้บริการลูกค้าในรูปแบบใหม่ ๆ ทำให้ปริมาณข้อมูลที่จำเป็นเข้าสู่ระบบมากขึ้นตามไปด้วย สำหรับผู้บริหารที่ต้องตัดสินใจ การเพิกเฉยต่อ “ข้อมูล” เพิ่มความเสี่ยง สอดคล้องกับสิ่งที่บริษัทได้ยินจากลูกค้าที่กำลังทบทวนวิธีการตัดสินใจ

และมองหาการสนับสนุนในการเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับข้อมูลเชิงลึก เพื่อการตัดสินใจ และด้วยศักยภาพของระบบคลาวด์ที่เชื่อมโยงกันของออราเคิล ตั้งแต่การจัดการข้อมูลพื้นฐาน การวิเคราะห์เพิ่มเติม และการวิเคราะห์เชิงประยุกต์ ไปจนถึงชุดแอปพลิเคชั่นเพื่อการดำเนินงาน ทำให้ตอบสนองความต้องการและช่วยสนับสนุนลูกค้าได้

ขณะที่ข้อมูลจาก IDC’s Worldwide Big Data and Analytics (BDA) Spending Guide for Asia Pacific ฉบับล่าสุด คาดการณ์ว่า การใช้จ่ายเกี่ยวกับโซลูชั่นระบบวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (BDA) จะมีมูลค่าสูงถึง 70.7 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2569

และการนำเทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูล และแนวทางการทำงานที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์มาใช้เปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ระบบดิจิทัล ยังถือเป็นการวางเดิมพันสำคัญของผู้นำในระดับภูมิภาค เพื่อเพิ่มรายได้ และทำให้จัดการต้นทุนได้ดีขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนเช่นทุกวันนี้