หนังคนละม้วน! บอร์ด กสทช.ขึงขังยื่นอุทธรณ์คดี “ติ๋มทีวีพูล” ย้ำประมูลทีวีดิจิทัลไม่ใช่ PPP

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2561 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีการประชุมบอร์ด วาระที่สำคัญคือการรับทราบคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 652/2559 ระหว่าง บริษัท ไทยทีวี จำกัด ของนางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือรู้จักในชื่อ ติ๋ม ทีวีพูล ยื่นฟ้อง บอร์ดและสำนักงาน กสทช. โดยศาลพิพากษาระบุให้ บริษัทไทยทีวี มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและคืนช่องทีวีดิจิทัล 2 ช่องที่ชนะประมูลมาให้แก่ กสทช. โดยจ่ายค่าประมูลให้กับ กสทช. ตามระยะเวลาที่ใช้งาน และให้ กสทช. คืนแบงค์การันตีมูลค่าราว 1,400 ล้านบาทที่วางค้ำประกันไว้ให้แก่บริษัท ”

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด กสทช. มีมติให้ฝ่ายกฎหมายยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาภายในกำหนด 30 วัน เนื่องจากยังมีหลายประเด็นที่ศาลยังไม่ได้หยิบมาพิจารณาหรือมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน จึงต้องรวบรวมเอกสารเพื่อชี้แจงเพิ่มเติมอีกครั้ง

“การประมูลทีวีดิจิทัล ไม่ใช่สัญญาร่วมการงานอย่างที่ศาลระบุในคำพิพากษา เพราะถ้าเป็นสัญญาร่วมการงาน นั่นคือสัมปทานที่รัฐมอบให้เอกชนดำเนินการแทน แต่ กสทช. เป็นผู้มีหน้าที่อนุญาตให้เอกชนใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการ ไม่ได้มีหน้าที่ให้บริการทีวี ที่จะให้บริษัทเอกชนมาดำเนินการแทน ในรูปแบบสัมปทาน แต่เป็นการให้ใบอนุญาตใช้ทรัพยากร จึงเป็นคนละแนวคิดกัน และปกติการให้ใบอนุญาตทั่วโลกไม่มีการคืนได้”

หากมีการตีความว่าการประมูลคือการทำสัญญาร่วมการงาน จะทำให้การประมูลทุกประเภทต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน (PPP) ทั้งหมด ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนผิดไปจากหลักรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ กสทช. เปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานสู่ระบบใบอนุญาตเพื่อการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม

“กสทช. ต้องยื่นอุทธรณ์แน่นอน เพราะมีหลายประเด็นที่ต้องชี้แจง ที่ศาลยังไม่ได้หยิบมาพิจารณาเลยคือ การประมูลเมื่อได้รับใบอนุญาตจะต้องชำระเงินค่าประมูลทั้งหมดทันที ที่ กสทช. ให้แบ่งจ่ายได้ เป็นแค่การอำนวยความสะดวกเท่านั้น ส่วนการขยาย MUX (โครงข่ายส่งสัญญาณโทรทัศน์) ในการประกาศเชิญชวนระบุชัดว่าแต่ละปีต้องขยายให้ครอบคลุมเท่าใด ซึ่งมีหลักฐานชัดเจนว่า กสทช. ได้กำกับจริง ถ้าไม่ได้กำกับ ผู้ประกอบการคงเจ๊งหมดทุกราย และ กรณี MUX ของกรมประชาสัมพันธ์ มีการลงโทษแล้ว และจริงๆ คือไม่มีช่องทีวีใดใช้งานอยู่”

สำหรับบรรยากาศในการแถลงผลการประชุมบอร์ด กสทช. ในครั้งนี้ ที่ประชุมบอร์ดมอบหมายให้ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. เป็นผู้แถลงแทนนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ซึ่งปกติจะเป็นผู้แถลงผลการประชุมบอร์ดทุกครั้ง ทั้งในการแถลงข่าว รองประธาน กสทช. ยังเตรียมเอกสารสำหรับตอบในทุกประเด็นอย่างซีเรียสจริงจัง พร้อมย้ำตลอดว่า ต้องมีการอุทธรณ์ แตกต่างจากการแถลงของเลขาธิการ กสทช. เมื่อวันที่ 13 มี.ค. หลังรับทราบผลคำพิพากษาที่ระบุว่า ยินดีที่มีคำพิพากษาช่วยผ่าทางตันให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และ กสทช.