TikTok เขย่าอีคอมเมิร์ซ ตั้งเป้าโต 4 เท่า ฟัน 2 หมื่นล้านเหรียญ

Photo by Manjunath Kiran / AFP

ByteDance Ltd. ตั้งเป้าหมายขยายธุรกิจอีคอมเมิร์ซทั่วโลกสี่เท่า ดันมูลค่าการขายสินค้า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐในสิ้นปีนี้ ผลจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

วันที่ 8 มิถุนายน 2566 บลูมเบิร์ก รายงานว่า บริษัท ByteDance Ltd. บริษัทแม่ของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย TikTok ได้วางแผนที่จะขยายธุรกิจอีคอมเมิร์ซ หรือ TikTok Shop เพิ่มขึ้นอีก 4 เท่า หรือเพิ่มยอดขายจาก 4.4 พันล้านเหรียญสหรัฐจากปี 2565 เป็น 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566

แหล่งข่าวของบลูมเบิร์ก ระบุเพิ่มเติมด้วยว่า TikTok กำลังวางเดิมพันในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่โตอย่างรวดเร็ว อย่างเช่น อินโดนีเซีย ซึ่งอินฟลูเอนเซอร์ขายสินค้าตั้งแต่ยีนส์เดนิมไปจนถึงลิปสติกด้วยการนำเสนอในวิดีโอไลฟ์สตรีม

นอกจากนี้ TikTok กำลังทำงานเพื่อขยายยอดขายในสหรัฐอเมริกาและยุโรป แม้ว่าตลาดเหล่านั้นจะมีส่วนแบ่งที่น้อยมาก จากเป้าหมาย 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ก็นับเป็นการเริ่มต้นแย่งชิงส่วนแบ่งจากตลาดอีคอมเมิร์ซที่มีมูลค่า 17 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ตัวเร่งที่สำคัญอีกประการของ TikTok คือธุรกิจโฆษณาที่เป็นตัวขับเคลื่อนรายได้หลักกำลังชะลอตัวลงในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ

ในขณะที่การขยายธุรกิจอีคอมเมิร์ซในสหรัฐอเมริกา ดูเหมือนจะยากลำบากกว่า เนื่องจากการคุกคามของนักการเมืองอเมริกัน ที่จ้องจะแบนแอปทั้งหมด เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับปัญหาด้านความปลอดภัยของประเทศแต่กระนั้นก็มีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี โดยสามารถเพิ่มกำไรกับร้านค้าและแบรนด์สินค้าหลายแบรนด์ในสหรัฐช่วยเสริมพลังให้ TikTok ได้รับพันธมิตรจากฝั่งร้านค้าและแบรนด์ เพื่อสู้กับนักวิจารณ์และศาล

บริษัทแม่ที่จีน อย่าง ByteDance ยังคงปรารถนาที่จะขยายการค้าไปยังผู้ใช้ 150 ล้านคนในสหรัฐอเมริกา โดยการพยายามเสนอมาตรการต่าง ๆ ในการแก้ไขข้อกังวลด้านความมั่นคงของชาติ รวมถึงแสดงความโปร่งใสในกระบวนการปกป้องข้อมูลของผู้ใช้ชาวอเมริกัน และอนุญาตให้พันธมิตรทางเทคโนโลยีคลาวด์ และการกักเก็บข้อมูลอย่าง บริษัท Oracle Corp. เข้ามาตรวจสอบเทคโนโลยีของตน

ถึงกระนั้นบางรัฐในอเมริกาอย่างมลรัฐมอนทานา ได้กำหนดข้อห้ามในการดาวน์โหลดแอป TikTok ในปี 2024 และฝ่ายนิติบัญญัติของสภาคองเกรตได้เสนอร่างกฎหมายที่คล้ายกันสำหรับการห้ามทั่วประเทศอีกด้วย

TikTok Shop เป็นผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซที่แฝงอยู่ระหว่างที่ผู้ใช้แอป TikTok เลื่อนชมความบันเทิงจากคอนเทนต์วิดีโอสั้นที่ไม่มีที่สิ้นสุด โดยหวังว่าผู้บริโภคจะใช้เป็นทางเลือกแทน Amazon หรือ Shopee

รูปแบบการบริการนี้เรียกว่า Shoppertainment ซึ่งผสมผสานความบันเทิงเข้ากับแรงกระตุ้นในการซื้อที่ช่วยให้ Douyin (แอป TikTok ที่ใช้ในประเทศจีน) แย่งชิงมูลค่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวจีนจาก Alibaba และ JD.com โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการล็อกดาวน์จากโควิด-19 ที่ทำให้ผู้คนใช้ช้อปออนไลน์มากขึ้น

ในปี 2564 ที่ผ่านมา TikTok เริ่มให้บริการ Shoppertainment  ในตลาดต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย และสหราชอาณาจักร