ถอดรหัส LINE VOOM เติมอีโคซิสเต็มเขย่าสมรภูมิวิดีโอสั้น

ฟิลลิป คิม

แม้ว่า “LINE” จะโลดแล่นมานานกว่า 12 ปี ในฐานะแอปพลิเคชั่น “แชต” ยอดนิยมของคนไทยปัจจุบันมีฐานผู้ใช้ 53 ล้านคนต่อเดือน และขยายน่านน้ำธุรกิจออกไปอีกมากมาย ทั้งด้านคอนเทนต์, อีคอมเมิร์ซ, ฟู้ดดีลิเวอรี่ เพื่อตอกย้ำบทบาทการเป็นแอปพลิเคชั่นโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับทุกไลฟ์สไตล์ของชีวิต

หนึ่งในฟีเจอร์ที่มีออกมาเสริมบริการด้านโซเชียลมีเดีย ให้ผู้ใช้เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ได้ง่าย ๆ ด้วยวิดีโอสั้น “LINE VOOM” ปลายปี 2564

ทรานส์ฟอร์ม “LINE TIMELINE”

“LINE VOOM” เป็นฟีเจอร์วิดีโอสั้นบน LINE ที่เกิดจากการพลิกโฉม “LINE TIMELINE” หรือฟีเจอร์แสดงเนื้อหาในรูปแบบโพสต์ ให้ครอบคลุมการเป็น “โซเชียลเน็ตเวิร์ก” ที่มีสื่อหลากหลายรูปแบบ ตอบรับเทรนด์ “วิดีโอสั้น” ที่กำลังเป็นที่นิยม

“ฟิลลิป คิม” หัวหน้าฝ่าย LINE VOOM กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ LINE ตัดสินใจเปลี่ยน LINE TIMELINE เป็น LINE VOOM คือผู้ใช้งานนิยมรับชมคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอสั้นมากขึ้น LINE จึงพัฒนาฟีเจอร์ใหม่โดยต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้ใช้งานที่เปลี่ยนไป

ตารางอัตราการใช้ LINE VOOM

“LINE TIMELINE จะโฟกัสคอนเทนต์ที่เป็นรูปภาพมากกว่า แต่เราเห็นว่า พฤติกรรมผู้ใช้งานของเราเริ่มเปลี่ยนไป พวกเขาสนใจ และรับชมคอนเทนต์วิดีโอมากขึ้น เราจึงมี LINE VOOM ออกมารองรับเทรนด์ที่เกิดขึ้น”

หลังเปิดให้บริการ LINE VOOM ที่เน้นแสดงผลคอนเทนต์วิดีโอสั้นแทนการแสดงผลข้อความ และรูปภาพในรูปแบบโพสต์บน LINE TIMELINE พบว่า ผู้ใช้งานใช้เวลาในการรับชมคอนเทนต์เพิ่มขึ้น 200% และมียอดรับชมอยู่ที่ 3.9 พันล้านวิวต่อเดือน

ปัจจุบัน LINE VOOM มีผู้ใช้ 35 ล้านคนต่อเดือน เป็นกลุ่มผู้ใช้งานในต่างจังหวัด 57% อีก 43% อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล เป็นผู้หญิง 53% ผู้ชาย 47% มีอายุระหว่าง 30-39 ปี และผู้สูงวัยที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งกลุ่มผู้สูงวัยรับชมคอนเทนต์เพิ่มขึ้น 7%

ชู “Utilitainment” สู้ศึกวิดีโอสั้น

จุดเด่นของ LINE VOOM คือ “Utilitainment” (Utility+Entertainment) หรือการสร้างสรรค์คอนเทนต์แบบมีสาระควบคู่ความสนุก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันในสนามวิดีโอสั้นที่กำลังดำเนินไปอย่างดุเดือด

“เราโฟกัส Utilitainment เป็นหลัก เพราะกลุ่มผู้ใช้งานหลักของเราอยู่ในช่วงอายุ 30-39 ปี และ 50 ปีขึ้นไป ชอบคอนเทนต์เกี่ยวกับข่าว และไลฟ์สไตล์ เราจึงต้องการให้ LINE VOOM เป็นแพลตฟอร์มที่พวกเขาสามารถเพลิดเพลินกับคอนเทนต์ที่ให้ความรู้ และความสนุกไปพร้อมกันได้”

ปัจจุบันสัดส่วนคอนเทนต์บน LINE VOOM แบ่งเป็นสาระ 65% บันเทิง 35%

สำหรับตัวอย่างประเภทคอนเทนต์ยอดนิยม ได้แก่ 1.การแนะนำสินค้า 2.อินฟลูเอนเซอร์สูงวัย (Grandfluencer) หรือการที่ผู้สูงวัยผันตัวมาเป็น “Content Creator” สร้างสรรค์เนื้อหาตามความชอบของตัวเอง 3.การให้ความรู้ในชีวิตประจำวัน 4.ความบันเทิง และ 5.ข่าวสารทั่วไป

“เราหวังที่จะสร้างคอมมิวนิตี้ของผู้ใช้ให้แข็งแกร่งด้วย User-generated Content หรือ UGC หรือคอนเทนต์ที่ผู้ใช้สร้างขึ้นด้วยตนเอง โดยให้ความสำคัญกับคุณภาพของคอนเทนต์เป็นอันดับแรก เพราะเป็นสิ่งที่มีผลต่อการใช้เวลาบนแพลตฟอร์มของผู้ใช้ และการเติบโตของ LINE VOOM”

ผู้บริหาร LINE VOOM กล่าวว่า การสร้างการเติบโตจะมุ่งไปยัง 2 เรื่อง คือ “ฟีเจอร์” และ “คอนเทนต์” ฝั่งฟีเจอร์จะเน้นไปที่การใช้ AI นำเสนอคอนเทนต์ให้ตรงใจผู้ใช้งาน ส่วนฝั่งคอนเทนต์จะพยายามส่งเสริมและผลักดันการสร้างคอนเทนต์ด้วยตัวผู้ใช้เอง หรือ “User-generated Content”

ปั้นครีเอเตอร์ 5 แสนราย/เดือน

แม้ว่าการสร้างคอมมิวนิตี้คุณภาพด้วยการโฟกัสที่คุณภาพคอนเทนต์ จะเป็นสิ่งที่ LINE VOOM ชูเป็นกลยุทธ์หลักรักษาฐานผู้ใช้งานแต่คอนเทนต์ที่ดีต้องเกิดจากการสร้างสรรค์ของครีเอเตอร์ที่เข้าใจธรรมชาติของแพลตฟอร์ม

“ฟิลลิป” กล่าวว่า LINE VOOM มีเป้าหมายในการขยายฐานครีเอเตอร์เป็นกว่า 5 แสนคนต่อเดือน ด้วยการให้ Incentive จูงใจ และผลักดันให้ผู้ใช้สร้างสรรค์คอนเทนต์ด้วยตนเอง โดยส่วนแรกเป็นแคมเปญจากแบรนด์ที่ให้ครีเอเตอร์เข้าร่วมแลกกับ Incentive จาก LINE หรือแบรนด์ ส่วนที่สองเป็นแคมเปญจาก LINE VOOM เช่น “ใครไม่เกิดบ้านเกิด”

“ใครไม่เกิดบ้านเกิด เป็นแคมเปญนำเสนอวัฒนธรรม ประเพณี อาหาร และเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นที่ เราผลักดันให้ผู้ใช้สร้างสรรค์คอนเทนต์ด้วยตนเอง โดยใช้จุดแข็งจากการที่มีฐานผู้ใช้มากกว่าครึ่งอาศัยอยู่ในต่างจังหวัด ทำให้ผู้ที่เข้าร่วมแคมเปญนี้เป็นผู้ใช้งานในต่างจังหวัดถึง 62%”

ต่อยอดสู่การสร้าง “รายได้”

“ฟิลลิป” กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมายังสั้นเกินกว่าที่จะบอกว่า LINE VOOM ประสบความสำเร็จ ทั้งในการสร้างฐานผู้ใช้หรือการสร้างรายได้ โดยในระยะแรกจะให้ความสำคัญกับการสร้างฐานผู้ใช้งาน และเวลาที่ใช้บนแพลตฟอร์มก่อน เพื่อเป็นรากฐานในการสร้างรายได้ต่อไป

“ไม่ใช่ว่ารายได้ไม่สำคัญ แต่เราต้องการโฟกัสฐานผู้ใช้งาน และเวลาที่ใช้บนแพลตฟอร์มมากกว่า เพราะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการสร้างรายได้ ถ้าบรรลุเป้าหมายในการเป็น Service KPI ได้ เป้าหมายในการสร้างรายได้ หรือ Revenue KPI ก็จะตามมาเอง”

“สิ่งเหล่านี้คือแนวทางที่เกิดการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับผู้ใช้จนพบว่า กลุ่มผู้ใช้หลักที่เป็นวัยผู้ใหญ่ ชอบคอนเทนต์ที่มีสาระ สอดรับกับความเป็น LINE ที่เป็นแพลตฟอร์ม Friend & Family ที่มีการแบ่งปันเรื่องราวดี ๆ ให้เพื่อน และครอบครัว”

ช่วงที่เปลี่ยนจาก LINE TIMELINE เป็น LINE VOOM ไม่ได้มีแคมเปญเปิดตัวใหญ่โต ส่วนหนึ่งมาจากความพร้อมและการเรียนรู้ความต้องการของผู้ใช้งาน ซึ่งกลุ่มผู้ใช้งานหลักที่เป็นวัยผู้ใหญ่ต้องการคอนเทนต์ที่มีสาระแต่ไม่เครียดเกินไป

ซึ่งจะนำมาพัฒนาเป็นจุดแข็งที่แตกต่างไปจากแพลตฟอร์มอื่น และการที่ฐานผู้ใช้งานหลักเป็นวัยผู้ใหญ่ หรือวัยที่มีกำลังซื้อสูง จึงจะช่วยเติมเต็มอีโคซิสเต็ม และการสร้างรายได้ของ LINE ได้อีกทางด้วย

“ผู้ใหญ่ใช้เวลาบนแพลตฟอร์มเยอะ ถึงไม่กดไลก์หรือคอมเมนต์ แต่จะดูแล้วซื้อเลย เป็นกลุ่มคนที่พร้อมทั้งเงิน และเวลา เวลาที่ผู้ใหญ่เข้ามาใช้ LINE เขาจะเข้าแชตมาแล้วกดอ่าน LINE TODAY จากนั้นจะใช้ LINE VOOM เป็นอีโคซิสเต็มที่เชื่อมถึงกันหมด LINE VOOM จึงเป็นช่องทางที่แบรนด์จะเข้ามาสร้างคอนเทนต์เพื่อสื่อสารกับลูกค้า”

เป็นการสื่อสารกับผู้ใช้งานโดยตรง และเน้นการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า “ตัวจริง” เป็นบริการที่คิดบนพื้นฐานของการสื่อสาร มากกว่าที่จะสร้างการเติบโตอย่างรวดเร็ว