KBTG บุกเวียดนาม ดึง “เทคทาเลนต์” เสริมแกร่งเคแบงก์

KBTG

บริษัท กสิกร บิสิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีในเครือธนาคารกสิกรไทย ปักธงสำนักงานแห่งใหม่ที่ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม เป็นฐานทัพเทคโนโลยีแห่งที่ 3 ในทวีปเอเชีย เพื่อขับเคลื่อนผลักดันให้ธนาคารกสิกรไทย ขยายธุรกิจไปสู่ภูมิภาคอาเซียนในรูปแบบธนาคารดิจิทัล (Regional Digital Expansion) ขณะที่ KBTG ต้องการเป็น Regional Tech Company ภายในปี 2568

“ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ย้ำว่าธนาคารมีเป้าหมายที่จะขยายสาขาทั่วภูมิภาค โดยใช้ความเป็น “ดิจิทัล” และเทคโนโลยีการเงินในการเข้าถึงประชากรในประเทศต่าง ๆ

ขัตติยา อินทรวิชัย

“คำว่าดิจิทัล สำหรับเรา คือการทำให้ชีวิตของลูกค้าง่ายขึ้น เข้าถึงผู้คนได้หลากหลายทั่วถึง ยกระดับประสบการณ์ใช้งานได้ดีขึ้น จากบริการที่รวดเร็ว และน่าเชื่อถือ KBTG ในฐานะผู้พัฒนาด้านดิจิทัลช่วยส่งเสริมมอตโต้ของเราที่ว่า บริการทุกระดับประทับใจ ให้เด่นชัดขึ้น”

วิสัยทัศน์ 2025

“วรนุช เดชะไกศยะ” ประธานกรรมการบริหาร KBTG ย้ำถึงวิสัยทัศน์ ปี 2025 ของ KBTG ว่าต้องการเป็นบริษัทเทคโนโลยีแห่งอาเซียน ด้วยการผลักดันเป้าหมายต่าง ๆ ได้แก่ การมีพนักงาน 3,000 คน ใน 7 ประเทศ เพื่อพัฒนาและดูแลระบบเทคโนโลยีของธนาคารที่จะต้องมีผู้ใช้งานดิจิทัลแบงกิ้ง 100 ล้านคนทั่วภูมิภาค และต้องดูแลจำนวนธุรกรรม 1 แสนล้านครั้งต่อปีให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องมีอัตราการส่งมอบเทคโนโลยีไอทีเร็วขึ้น 2 เท่า ส่งมอบโมเดลเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ และนวัตกรรมใหม่ ๆ เร็วขึ้น 100 เท่า และต้องสร้างรายได้จากการเข้าไปลงทุนในธุรกิจเทคสตาร์ตอัพ
ต่าง ๆ ถึง 5,000 ล้านบาท

วรนุช เดชะไกศยะ

ไม่ใช่แค่เพราะมีแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัล (Tech Talent) ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญสู่การขยายบริการของ KBTG ไปใน 7 ประเทศ ภายในปี 2025 เท่านั้น แต่เวียดนามยังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี และมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก เทียบกับกลุ่มอาเซียนด้วยกัน

“ถ้าเราไปดู growth ของโลก น้ำหนักของการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่เอเชียทั้งหมด ทั้งในระยะสั้นหรือระยะกลางทุกประเทศมีแชลเลนจ์ต่อการเติบโต เศรษฐกิจของเวียดนามปีที่ผ่านมา GDP ถึง 8% รวมถึงการเติบโตของชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อสูงขึ้นถึง 56 ล้านคน ขณะที่มีประชากรทั้งหมดราวร้อยล้านคน และใน 100 ล้านคนนั้น มีประชากรวัยแรงงานช่วงอายุ 15-64 ปี ถึง 67.8 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 71 ล้านคนภายในปี 2030 ขณะที่ประเทศไทย มี 48.5 ล้านคน (ปี 2020) และจะลดลงเหลือ 45.4 ล้านคนในปี 2030”

ทำไมต้องเวียดนาม ?

นอกจากนี้ เวียดนามยังมีนักศึกษาในสาขา STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics) เป็นอันดับต้น ๆ ของอาเซียน

“เป็นกลุ่มที่เรียนจบตรงในสาขาที่เป็นที่ต้องการนับหมื่นคน ขณะที่บ้านเรามีน้อยมาก ขณะที่วัฒนธรรมการทำงานคล้ายคลึงกันกับประเทศไทย จำนวนผู้ที่สำเร็จการศึกษาในสายวิทยาศาสตร์-วิศวกรรม (ปี 2020) มีมากถึง 22.6 ล้านคน ขณะที่ไทยมี 19.6 ล้านคน และเมื่อเทียบอัตราส่วน วิศวกร จะพบว่าอยู่ที่ 1.35 คน ต่อพันประชากรวัยแรงงาน สูงที่สุดในอาเซียน สิงคโปร์มี 1.25 คนต่อพันประชากรมากเป็นอันดับสอง ส่วนไทยอยู่อันดับ 5 มี 0.85 คนต่อพันประชากรวัยแรงงาน”

บรรดาผู้สำเร็จการศึกษาสายวิทยาศาสตร์-วิศวกรในประเทศเวียดนามยังประกอบไปด้วยผู้ที่มีทักษะซอฟต์แวร์ และโค้ดดิ้ง เป็นอันดับสองในอาเซียน รวมถึงมีทักษะด้านเอไอมากติดอันดับ 3 ของโลกอีกด้วย

“ธนุสศักดิ์ ธัญญสิริ” กรรมการผู้จัดการ KBTG Vietnam กล่าวว่า ด้วยจำนวนประชากรวัยแรงงานและอัตราการใช้โมบายแบงกิ้งที่เพิ่มสูง จากผลสำรวจที่มีพบว่าคนวัยทำงานในเวียดนามไม่มีบัญชีธนาคารมากที่สุดในโลก ขณะที่ KBTG ได้รับอนุญาตจากแบงก์ชาติเวียดนามให้เปิดบริการดิจิทัลแบงกิ้งได้ ทั้งระบบ e-KYC ตามกฎระเบียบของเวียดนาม ทำให้ชาวเวียดนามเปิดบัญชีออนไลน์ และใช้งาน K+ ได้รวดเร็วมาก

ธนุสศักดิ์ ธัญญสิริ

“เขาไม่ได้ผ่านยุคที่ต้องใช้อินเทอร์เน็ตแบงกิ้งที่เป็นเว็บไซต์ และเติบโตมาพร้อมกับยุคดิจิทัลโมบายทำให้สเกลอัพได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังต้องการคนที่มีความสามารถมาช่วยอีกมาก เพราะใน 1 ปี สเกลได้ 6 แสนคนจากวันแรกที่มามี 3 คน ตอนนี้มีกว่า 200 คน ดูแลระบบ และพัฒนาแอปพลิเคชั่นเป็นชาวเวียดนามทั้งหมด สามารถออกแบบฟีเจอร์ใหม่ ๆ ให้เหมาะกับท้องถิ่นของตนได้”

“เวียดนามมีธนาคารเยอะมาก เราไม่ได้มองว่ามาแข่งกับใคร เพราะ 1 คนใช้บริการหลายธนาคารอยู่แล้ว เราวางตนเองเป็นผู้ให้บริการด้านฟินเทค ที่เป็นธนาคารดิจิทัล จึงคาดหวังจะเป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างอีโคซิสเต็มที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และฟินเทค
เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการเติบโตร่วมกับเศรษฐกิจของเวียดนาม”

K+ตอบโจทย์ดิจิทัลเนทีฟ

ขณะที่ “เรืองโรจน์ พูนผล” ประธานกลุ่มบริษัท KBTG กล่าวว่า ได้มีการทดลองลงทุนในสตาร์ตอัพด้านฟินเทคของเวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งผลตอบรับดีมาก เพราะประชากรในสองประเทศนี้เป็น “ดิจิทัลเนทีฟ” ขณะที่เงื่อนไขของธนาคารแบบดั้งเดิมเป็นอุปสรรคหลายอย่าง เช่น ในอินโดนีเซียมีระเบียบว่าคนที่จะขอบัตรเครดิตต้องกู้ซื้อบ้านก่อน ทำให้ฟินเทค และการใช้บัญชีดิจิทัลเติบโต ส่วนในเวียดนามสนับสนุนด้านกฎระเบียบหลายด้าน เรียกว่าให้บริการทางการเงินดิจิทัลง่ายกว่าที่ประเทศไทย

เรืองโรจน์ พูนผล

“ถ้าเราทำที่ไทยได้ก็ทำที่อื่นได้ เรานำเทคโนโลยีที่ KBTG ประเทศไทยใช้เวลาสะสมมานาน โดยเฉพาะ Core Banking ที่ใครก็ไม่อยากไปแตะต้อง เพราะยุ่งยากใช้เวลานาน และจะกระทบกับผู้ใช้บริการเป็นวงกว้าง เมื่อเรามาเวียดนามเราสามารถสเกล และจัดการ Core Banking ใหม่ได้ภายใน 8 เดือน นี่คือผลประโยชน์ของดิจิทัลและเทคทาเลนต์ที่เราต้องสร้าง”

“ธนุสศักดิ์” กล่าวต่อไปว่า เป้าหมายของ KBTG Vietnam ในปีนี้จะมุ่งไปยังการสรรหาบุคลากรไอที จาก 200 คน เพิ่มเป็น 500 คน เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ให้กับธนาคารกสิกรไทย และธุรกิจต่างประเทศ โดยแอปพลิเคชั่น K PLUS Vietnam ซึ่งเป็นบริการเรือธงของธนาคารกสิกรไทยที่ใช้รองรับการขยายฐานลูกค้าของธนาคารในประเทศให้ได้ 1.3 ล้านคนภายในสิ้นปี

“ต้องดูแลธุรกรรม และแอปพลิเคชั่นของผู้คน 1.3 ล้านคน และในอนาคตที่จะเพิ่มขึ้นอีก เพราะเวียดนามมีประชากรเกือบร้อยล้านต้องการผู้ที่มีความสามารถทางเทคโนโลยีอีกมาก และต้องเป็นคนท้องถิ่นเพื่อสร้างฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่เหมาะกับผู้ใช้ในประเทศนั้น ๆ แม้นักพัฒนาทั้งในไทย เวียดนาม และที่ KLabs ในจีนจะพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันได้ แต่บางอย่างจำเป็นต้องใช้คนในท้องถิ่นจริง ๆ”

เช่น บริการที่เตรียมนำจากไทยมาเปิดใน K+ Vietnam อย่างขุนทอง และ MAKE ก็ต้องปรับให้เข้าบริบท กรณี “ขุนทอง” เป็นแอปทวงเงินที่จะส่งข้อความผ่านแอปไลน์เพราะคนไทยนิยมใช้ แต่ชาวเวียดนามมีแอปแชตยอดนิยมของตนเอง คือ Zalo คล้ายกับไลน์ หรือวีแชต ก็ต้องปรับให้เข้ากับความต้องการ หรืออีกฟีเจอร์ที่กำลังศึกษา โดยให้คนที่ใช้ K+ ใน 2 ประเทศ ทั้งไทย และเวียดนาม ใช้บริการข้ามกันได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือใครที่ต้องทำการแลกเปลี่ยนซื้อขายระหว่างประเทศ

สร้าง Deep Tech-AI ลุยอาเซียน

“เรืองโรจน์” เสริมว่า เวียดนามถือเป็นจุดเริ่มต้นในการหาคนที่มีความสามารถให้เป็นศูนย์กลางใหม่ที่จะสเกลออกไปประเทศต่าง ๆ แม้เทรนด์บริษัทเทคโนโลยีทั่วโลกจะอยู่ระหว่างการปรับลดพนักงาน แต่ KBTG เชื่อว่าพนักงาน 3,000 คน ยังไม่ใช่ขนาดที่จะหยุดอยู่แค่นี้ เพราะภาพใหญ่คือการให้บริการทั้งอาเซียน

“เรามีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศไทย มีประมาณ 2 พันกว่าคน กำลังจะเพิ่มที่เวียดนามให้เป็น 500 คน และมี KLabs ที่จีนอีก ก่อนหน้านี้บิ๊กเทคต่าง ๆ เร่งปลดพนักงาน นั่นคือโอกาสที่เราจะดึงคนเหล่านั้นมา อย่างที่จีน ก่อนหน้านี้ต้องการวิศวกรบล็อกเชนจำนวนมาก แต่หาไม่ได้ พอบริษัทเทคปลดคน เราก็ได้มาเยอะเลย อีกทั้งเวียดนามมีผู้ชำนาญด้านเอไอเยอะมาก ทั้งบริษัทกำลังพัฒนา Deep Tech ด้านบล็อกเชน-เอไอ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับยุคต่อไป”

คลื่นการเปลี่ยนแปลงต่อไป คือเทคโนโลยี “เอไอ” จึงต้องนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้เพิ่มกำลังคนให้ได้ ปัจจุบันเอไอออโตเมชั่น สามารถเพิ่มแรงงานได้นับหมื่น Man Power ต่อปี ขณะที่คนยังเท่าเดิม ผลิตภัณฑ์ในฝั่งของ “บล็อกเชน” ก็เตรียมพร้อมไว้แล้ว คาดว่าจะเปิดตัวได้เร็ว ๆ นี้ทันช่วงบิตคอยน์ฮาฟวิ่งรอบหน้าพอดี