Threads : Twitter Killer ?

Threads
คอลัมน์ : Tech Times
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ปกติเวลาเห็นบริษัทไหนทำท่าจะกลายเป็นคู่แข่งขึ้นมา เฟซบุ๊กก็มักจะชิงซื้อกิจการนั้นเสียก่อนเพื่อเป็นการดับไฟตั้งแต่ต้นลม

หนึ่งในบริษัทที่เฟซบุ๊กเคยอยากได้มากคือ ทวิตเตอร์

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เคยเสนอซื้อในราคา 500 ล้านเหรียญ ในปี 2008 แต่ถูกปฏิเสธ ผ่านไป 15 ปี อีลอน มัสก์ เทกโอเวอร์ ทวิตเตอร์ไปด้วยเงินกว่า 4.4 หมื่นล้านเหรียญ แต่หลังเข้ามาบริหารก็มีการปรับเปลี่ยนนโยบายหลายอย่าง ทั้งการไล่พนักงานออกเกือบหมด และปรับนโยบายตรวจสอบคอนเทนต์ จนลูกค้าพากันถอนโฆษณากันยกใหญ่ ในขณะเดียวกัน ผู้ใช้งานก็หงุดหงิดกับความเยอะของอีลอน มัสก์ ไม่แพ้กัน

ที่ดูจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายสำหรับหลาย ๆ คน คือ การจำกัดการมองเห็นข้อความในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ใช้งานโบกมืออำลาไปซบอกคู่แข่งอย่าง BlueSky และ Mastodon จน BlueSky ขอหยุดรับสมาชิก เพราะระบบรองรับไม่ทัน

Meta ที่ซุ่มสังเกตการณ์มาสักระยะเห็นว่าจังหวะดี ก็จัดการเปิดตัว Threads ออกมาแข่งเสียเลย

Threads หรือที่ชาวเน็ตขนานนามว่าเป็น “Twitter Killer” มีฟังก์ชั่นเหมือนทวิตเตอร์เกือบทุกอย่างจะเรียกว่าเป็นฉบับ copycat ก็ว่าได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับ Meta ที่มักหา “แรงบันดาลใจ” จากคู่แข่ง มา “พัฒนา” บริการของตัวเองเสมอ เช่น Reels ของ IG ที่ก๊อป TikTok มาทั้งดุ้น แต่จนแล้วจนรอดก็สู้ไม่ได้

สำหรับ Threads ตั้งเป้าเจาะกลุ่มผู้ใช้งานอินสตาแกรมเป็นกลุ่มแรก โดยผู้ใช้ล็อกอิเข้าใช้ Threads จากบัญชี IG ของตัวเองได้เลย

แม้จะมีคู่แข่งหลายเจ้า แต่ Meta เหนือชั้นกว่าหลายขุม เพราะฐาน
ผู้ใช้งานเดิมทั้งบน เฟซบุ๊ก ไอจี และWhatsApp ทั่วโลกก็ปาเข้าไป 3 พันกว่าล้านคนแล้ว หากดึงมาใช้ Threads ได้แค่บางส่วนก็ชนะทวิตเตอร์ได้สบาย ๆ (ทวิตเตอร์มีผู้ใช้งานราว 250 ล้านคน)

ในวันพฤหัสบดีซึ่งเป็นวันเปิดตัว Threads มีรายงานว่า มีคนกดดาวน์โหลดแอปในชั่วโมงแรกกว่า 5 ล้านคนแล้ว รวมทั้งคนดัง ตลอดจนแบรนด์ และบริษัทชั้นนำต่าง ๆ

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประเดิมเขียน Thread แรกด้วยการขิงใส่ทวิตเตอร์ว่า โลกควรจะมีแพลตฟอร์มสนทนาสาธารณะที่มีคนใช้งานทะลุ 1 พันล้านสักที หลังจากที่ทวิตเตอร์ทำไม่สำเร็จสักที แต่ก็ใช่ว่าหนทางจะโล่งสะดวกไปเสียหมด

มีคนแสดงความกังวลถึงนโยบายการรักษาข้อมูลส่วนตัวของ Threads หลังพบว่าจะมีการเก็บข้อมูลส่วนตัวสำคัญหลายอย่าง เช่น ข้อมูลสุขภาพ การเงิน รายชื่อคอนแท็กต์ ประวัติการท่องเว็บ และโลเกชั่นการใช้งาน

การรักษาข้อมูลส่วนบุคคลเป็นเรื่องใหญ่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในเครือ EU โดย TechCrunch สื่อไอที เชื่อว่า Treads ไม่สามารถเปิดให้บริการใน EU ได้ เพราะต้องเจอกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวที่เข้มงวด โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพที่ต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ใช้งานก่อน

นอกจากนี้ Meta ยังเพิ่งถูกโทษปรับไปกว่า 1.3 พันล้านเหรียญ จากการส่งข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กใน EU ไป process ที่อเมริกา ซึ่งผิดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ EU เชื่อได้ว่าหลักเกณฑ์เดียวกันก็น่าจะนำมาใช้กับบริการอื่น ๆ ในอนาคตด้วย

เอาเป็นว่า ณ วันที่เขียนต้นฉบับนี้ Threads เปิดตัวไปแล้วในกว่า 100 ประเทศ ยกเว้น EU ส่วนจะเป็น “Twitter Killer” หรือแค่แอป “ก๊อบปี้” ก็คงต้องรอดูกันต่อไป