คัดกรองมะเร็งเบื้องต้นด้วย AI ลดต้นทุนบริการสุขภาพ

มะเร็ง เทคโนโลยี การคัดกรอง ผู้ป่วย

“ดีป้า” จับมือ “แอสตร้าเซนเนก้า” ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสุขภาพ ยกระดับระบบสาธารณสุขไทย และต่อยอดการใช้ AI ตรวจคัดกรองมะเร็งเบื้องต้น ขยายโอกาสในการเข้าถึงบริการในพื้นที่ห่างไกล-ลดต้นทุนบริการตรวจสุขภาพ

วันที่ 6 ตุลาคม 2566 ดีป้า และบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “Accelerate the Development and Delivery of Digital Healthcare in Thailand” เพื่อส่งเสริมการนำนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสุขภาพมาใช้ยกระดับระบบสาธารณสุขในประเทศไทย

ต่อยอดการนำเทคโนโลยี AI ตรวจคัดกรองมะเร็งปอดเบื้องต้น และขยายผลสู่การตรวจคัดกรองมะเร็งชนิดอื่น เพื่อให้บริการประชาชนเป็นของขวัญปีใหม่ และขยายโอกาสการให้บริการในพื้นที่ห่างไกลและโรงพยาบาลที่มีความจำเป็นต้องลดต้นทุนการให้บริการตรวจสุขภาพ

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ประกอบกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และการเกิดขึ้นของโรคอุบัติใหม่ล้วนเป็นปัจจัยท้าทายระบบสาธารณสุขไทย ทั้งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

หลังการเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ ทำให้ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยตระหนักถึงความจำเป็นในการปฏิรูประบบสาธารณสุขเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และการมาถึงของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) เป็นตัวแปรสำคัญที่จะเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลง

โดยรัฐบาลเล็งเห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยี AI ที่จะนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับระบบการทำงานเพื่อลดทอนเวลา และขั้นตอนต่าง ๆ รวมถึงค่าใช้จ่าย เพิ่มความถูกต้องแม่นยำ ซึ่งจะนำไปสู่การขับเคลื่อนระบบสุขภาพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทย

“กระทรวงดีอี มีความตั้งใจที่จะบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมในการขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติด้านสุขภาพผ่านการดำเนินงานของดีป้า”

โดยมุ่งมั่นผลักดันให้เกิดการดำเนินโครงการเกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลด้านสุขภาพและการดูแลรักษาโรคร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรอย่างเป็นรูปธรรม

เชื่อมโยงไปสู่การส่งเสริมกลไกช่วยเหลือดิจิทัลสตาร์ตอัพด้านดิจิทัลและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล องค์ความรู้ ตลอดจนโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ รวมถึงการสร้างความตระหนักในวงกว้างเกี่ยวกับการดูแลรักษาโรคด้วยดิจิทัล

“รัฐบาลตั้งใจที่จะดำเนินการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม จึงเป็นที่มาของการลงนามความร่วมมือในวันนี้ โดยการบูรณาการการทำงานระหว่างดีป้า และบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) เป็นตัวอย่างของการนำเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้โดยแท้จริง

เป็นประโยชน์อย่างมากกับประชาชน ให้ตระหนักถึงการป้องกันและการดูแลสุขภาพอย่างทันท่วงทีด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการตรวจวินิจฉัยมะเร็ง โดยการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ตรวจคัดกรองมะเร็งปอดระยะเริ่มต้น นับเป็นหนึ่งในของขวัญปีใหม่จากกระทรวงดีอี”

ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า กล่าวว่า เมื่อปี 2564 ดีป้าได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) เป็นครั้งแรกในการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสุขภาพ (Digital Healthcare)

โดยมีผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ ทั้งการเปิดตัวโครงการนำร่อง “ตรวจไว สู้ภัยมะเร็งปอด” ร่วมกับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว โดยการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ตรวจคัดกรองมะเร็งปอดระยะเริ่มต้นในผู้ป่วยกว่า 10,000 ราย

รวมถึงการบูรณาการการทำงานกับสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยในการพัฒนา “Asthma Excellence” แอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาโรคหืด ซึ่งที่ผ่านมามีบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศกว่า 3,000 รายนำแอปพลิเคชั่นดังกล่าวมาใช้อำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น

สำหรับความร่วมมือล่าสุดก็เพื่อต่อยอดการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ตรวจคัดกรองมะเร็งปอดเบื้องต้น และขยายผลไปสู่การตรวจคัดกรองมะเร็งและวินิจฉัยโรคประเภทอื่น ซึ่งมีเป้าหมายที่จะดำเนินการร่วมกับโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อให้บริการประชาชนกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ และขยายโอกาสการให้บริการในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงโรงพยาบาลที่มีความจำเป็นต้องลดต้นทุนการให้บริการตรวจสุขภาพ”

ด้านนายโรมัน รามอส ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี บริษัทดำเนินงานภายใต้ความมุ่งมั่นที่จะค้นคว้า คิดค้นนวัตกรรมยาและโซลูชั่นต่าง ๆ ที่จะช่วยเปลี่ยนชีวิตของผู้ป่วย รวมถึงการริเริ่มโครงการต่าง ๆ ที่เป็นมากกว่าการรักษา เพื่อส่งเสริมการป้องกันโรคและถ่ายทอดองค์ความรู้ในการตรวจวินิจฉัยโรคในระยะเริ่มต้นผ่านการทำงานกับพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชน

“เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สานต่อความร่วมมือกับดีป้า ในการผลักดันการใช้เทคโนโลยี AI และนวัตกรรมดิจิทัลอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์ โดยเชื่อว่า อนาคตที่ยั่งยืนเกิดจากการที่ประชาชนมีสุขภาพที่ดีและแข็งแรง”

และความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการสานต่อความร่วมมือในโครงการ Don’t Wait. Get Checked. 2.0 ที่ดำเนินการร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นด้วยเทคโนโลยี AI ในเครือข่ายโรงพยาบาลรัฐ

ทำให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และลดอัตราการเสียชีวิต รวมถึงการขยายขอบเขตการทำงานไปสู่หน่วยงานภาครัฐในระดับจังหวัดหรือภูมิภาค เพื่อพัฒนาการใช้เทคโนโลยี AI ในผู้ป่วยมะเร็งชนิดอื่น อาทิ มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งรังไข่ ฯลฯ ต่อไป