“แอสปาร์แตม” นักวิทย์ชี้ อย่าเพิ่งแตกตื่น WHO จัดเป็นสารก่อมะเร็ง

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา จาก สวทช. อธิบายกรณี WHO จัดแอสปาร์แตมเป็นสารก่อมะเร็งนั้น ยังเป็นเพียงกลุ่ม “อาจจะเป็น” เท่านั้น เช่นเดียวกับว่านหางจระเข้-ผักดอง

วันที่ 2 กรกฎาคม 2566 กระแสที่องค์การอนามัยโลก (WHO) มีการประกาศให้แอสปาร์แตม เป็นหนึ่งในกลุ่มสารก่อมะเร็งนั้น อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความกังวล แต่ในความเป็นจริง สารก่อมะเร็งนั้นแบ่งเป็นหลายระดับตามความชัดเจนของหลักฐานที่เชื่อมโยงสารดังกล่าวกับการเกิดมะเร็ง

ซึ่งระดับที่ แอสปาร์แตม ถูกจัดให้อยู่นั้น คือกลุ่มที่ “อาจจะเป็นสารก่อมะเร็ง แต่ยังมีข้อมูลรับรองไม่มากนัก” โดยในกลุ่มเดียวกันนี้มีอาหารที่คนไทยคุ้นเคยกันดีและบริโภคกันมานาน อย่าง ว่านหางจระเข้ และผักดอง รวมอยู่ด้วย

โดย ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค-สวทช. โพสต์เฟซบุ๊ก (facebook.com/anan.jongkaewwattana) อธิบายถึงกรณีนี้ว่า International Agency for Research on Cancer (IARC) ซึ่งเป็นหน่วยงานของ WHO ทำหน้าที่จัดสารเข้าข่ายก่อมะเร็งนั้น แบ่งสารก่อมะเร็งเป็น 4 ระดับคือ

3: No evidence it causes cancer
2b: Possibly (some evidence, usually slim) it causes cancer
2a: Probably (some evidence, a bit more robust) it causes cancer
1: Causes cancer (strong evidence)

โดยสารให้ความหวานอยู่ในระดับ 2b คือ อาจจะเป็นสารก่อมะเร็ง แต่ข้อมูลรองรับยังมีอยู่ไม่มาก โดยตัวอย่างของสารที่ IARC จัดให้อยู่ category 2b เช่น

– Coconut oil soaps (สบู่น้ำมันมะพร้าว)
– Nickel (โลหะนิกเกิล)
– Sassafras oil (น้ำมันหอมระเหยชนิดหนึ่ง)
– Aloe vera (ว่านหางจระเข้)
– Bracken fern (เฟิร์นกูดเกี๊ยะ)
– Pickled vegetables (ผักดอง)
-Talcum powder (แป้งทัลคัม)

ดร.อนันต์กล่าวต่อไปว่า หลายคนเชื่อว่า สาร 2b หลายตัวมีใช้กันมาเป็นเวลานานมาก และความเชื่อมโยงกับการก่อมะเร็งยังไม่ชัดเจน ทำให้การนำข้อมูลที่มีไม่มากไปสรุปอะไรใหญ่ ๆ อย่างให้ความรู้สึกต่อผู้บริโภคว่าประหนึ่งเป็น “สารก่อมะเร็ง” Category 1 ซึ่งมีผลกระทบเป็นวงกว้างโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ

“ประเด็นเรื่องของการจัดสารให้ความหวานแทนน้ำตาล (Aspartame) ที่พบในน้ำอัดลม Diet ว่าเป็นสารที่อาจก่อมะเร็งกำลังจะเป็นเรื่องถกเถียงในวงการวิทยาศาสตร์แน่นอน ทั้ง 2 ฟากของความเห็น ทั้งเห็นพ้องและเห็นแย้งต่างมีข้อมูลวิชาการ เป็นการถกเถียงกันด้วยข้อมูล ซึ่งแน่นอนผลสรุปที่ได้ออกมาย่อมมีผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมของผู้ผลิต และผู้บริโภค”