แลงยา (Langya) ไวรัสตัวต่อไป อาจระบาดทั่วโลกต่อจากโควิด

ไวรัสแลงยา (Langya) เป็นไวรัสตัวต่อไปที่อาจเกิดการระบาดทั่วโลก หลังงานวิจัยล่าสุดชี้การระบาดจากสัตว์สู่คนพุ่งสูง หวั่นกลายพันธุ์เพียงไม่กี่ครั้งอาจระบาดคนสู่คนได้

วันที่ 2 กรกฎาคม 2566 ไวรัสแลงยา (Langya) เป็นเชื้อไวรัสติดต่อจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่าง สุนัข แพะ มาสู่คน ค้นพบในจีนเมื่อปี 2565 อยู่ในตระกูล Paramyxoviridae เช่นเดียวกับนิปาห์ (Nipah) โม่เจียง (Mòjiāng) เฮนดรา (Hendra) และอื่น ๆ

ล่าสุดศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี (Center for Medical Genomics) ระบุว่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 วารสารวิชาการทางการแพทย์ “Nature Communications” ตีพิมพ์งานวิจัยของดร.เอเรียล ไอแซกส์ และ ดร.หยู ชาง โลว์ นักวิจัยจาก School of Chemistry and Molecular Biosciences แห่ง “มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์” ประเทศออสเตรเลียที่ระบุ ถึงความเสี่ยงที่ไวรัสแลงยาอาจกำลังจะมีการแพร่ระบาดใหญ่ในมนุษย์

โดยงานวิจัยฉบับดังกล่าวชี้ 2 สัญญาณเสี่ยงคือ พบการระบาดแบบสัตว์สู่มนุษย์ของไวรัสแลงยา รวมถึงไวรัสอื่นในกลุ่มเดียวกันถี่ขึ้น และหากไวรัสเหล่านี้กลายพันธุ์อีกเพียงไม่กี่ตำแหน่งอาจทำให้ส่วนหนามของไวรัสสามารถจับกับเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้น นำไปสู่การระบาดแบบมนุษย์สู่มนุษย์ แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นกับไวรัสโควิด-19

สอดคล้องกับความกังวลของวงการแพทย์ทั่วโลก ซึ่งองค์การอนามัยโลกและนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างคาดการณ์ว่า กลุ่มไวรัสเฮนนิปา ซึ่งประกอบด้วยไวรัสแลงยา นิปาห์ โม่เจียง และเฮนดรา จะกลายเป็นภัยคุกคามโรคติดเชื้อที่จะระบาดไปทั่วโลกในครั้งต่อไป

อย่างไรก็ตาม ศูนย์จีโนมฯ ย้ำว่า ได้เตรียมพร้อมตรวจสอบรหัสพันธุกรรมอย่างรวดเร็ว (mass array genotyping) เพื่อตรวจจับไวรัสแลงยาดังกล่าวจากสิ่งส่งตรวจแล้ว

สำหรับไวรัสทั้ง 4 ตัวนั้น ไวรัสแลงยาพบครั้งแรกในชาวไร่จำนวน 35 คนในมณฑลซานตงและเหอหนานของประเทศจีน ในปี 2565

ไวรัสโม่เจียงค้นพบในปี 2555 ในหนูในเหมือง Tongguan ในเมืองโม่เจียง ประเทศจีน คนงานเหมือง 6 คนป่วยด้วยอาการคล้ายโควิด และ 3 คนเสียชีวิต ที่น่าแปลกคือพบไวรัสโคโรนาจากค้างคาวที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 อยู่ในเหมืองนั้นด้วย

ไวรัสนิปาห์พบในมาเลเซียและสิงคโปร์เมื่อปี 2542 มีผู้ติดเชื้อเกือบ 300 รายและเสียชีวิตมากกว่า 100 ราย มีการบันทึกการระบาดเกือบทุกปีในบางส่วนของเอเชียตั้งแต่นั้นมา ส่วนใหญ่ในบังกลาเทศและอินเดีย

ไวรัสเฮนดราพบการระบาดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 ในเมืองเฮนดรา ชานเมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีม้า 13 ตัวและครูฝึกเสียชีวิต 1 คน

ทั้งนี้ ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตเนื่องจากไวรัสแลงยา แต่ไวรัสโม่เจียง เฮนดรา และ นิปาห์ ผู้ติดเชื้อจะมีอัตราการตายสูง 40-70% โดยอาการเมื่อติดเชื้อแล้ว จะเกิดไข้และอาการระบบทางเดินหายใจอักเสบรุนแรง อาจนำไปสู่โรคปอดบวมจนถึงแก่ชีวิตได้เช่นเดียวกับโควิด-19