เปิดประวัติ “Emmett Shear” ซีอีโอคนใหม่ของ “OpenAI”

Emmett Shear
ภาพจาก Reuters

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนมาทำความรู้จักชายที่ชื่อว่า “Emmett Shear” ซีอีโอคนใหม่ของ “OpenAI” ที่ต้องรับตำแหน่งท่ามกลางความกดดันในองค์กร

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า คณะกรรมการของ “OpenAI” บริษัทผู้พัฒนาแชตบอตพลิกวงการเทคโนโลยี “ChatGPT” ตัดสินใจว่าจ้าง “เอ็มเม็ตต์ เชียร์” (Emmett Shear) เป็นซีอีโอชั่วคราวของบริษัทแทน “แซม อัลต์แมน” (Sam Altman) หนึ่งในผู้ก่อตั้ง OpenAI ที่ต้องลงจากตำแหน่งซีอีโอเนื่องจากมติของคณะกรรมการ

ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวระบุว่า “มิร่า มูราติ” (Mira Murati) ซีอีโอชั่วคราวของ OpenAI วางแผนที่จะพาอัลต์แมนกลับมาดำรงตำแหน่งในบริษัทอีกครั้งท่ามกลางความกดดันของผู้บริหารและนักลงทุนที่ไม่พอใจกับมติของคณะกรรมการ แต่รายงานล่าสุดจากสำนักข่าวบลูมเบิร์ก เปิดเผยว่า อัลต์แมนจะร่วมงานกับ “ไมโครซอฟท์” (Microsoft) ในฐานะซีอีโอของทีมพัฒนา AI ของบริษัท

ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นของทั้งสองฝั่งเริ่มทำให้เห็นการแบ่งขั้วการดำเนินงานและเป้าหมายในการพัฒนา AI ที่ต่างกันมากขึ้น โดยฝั่งของคณะกรรมการยังคงพยายามรักษาจุดยืนการเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และพัฒนา AI เพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ ซึ่งการที่คณะกรรมการดึงตัว “เชียร์” มานั่งในตำแหน่งซีอีโอชั่วคราวของ OpenAI ก็ถือเป็นหนึ่งในแนวทางที่ตอกย้ำจุดยืนนั้น

จากข้อมูลในบัญชี LinkedIn ของ Emmett Shear ระบุว่า เชียร์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ในปี 2548 และในปี 2549 เชียร์ได้ก่อตั้ง “Justin.tv” แพลตฟอร์มวิดีโอที่อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถสตรีมคอนเทนต์ได้แบบเรียลไทม์ร่วมกับ “จัสติน คาน” (Justin Kan) และ “ไมเคิล เซเบล” (Michael Seibel)

การเติบโตของ Justin.tv ทำให้ทีมผู้ก่อตั้งตัดสินใจสปินออฟแพลตฟอร์มสำหรับสตรีมคอนเทนต์เกมโดยเฉพาะในปี 2554 นั่นคือ “Twitch” ที่คอเกมหลายคนคงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี และในปี 2557 อเมซอน (Amazon) ได้ซื้อกิจการของ Twitch ในราคา 970 ล้านดอลลาร์ โดยเชียร์ดำรงตำแหน่งซีอีโอของ Twitch มาตั้งแต่ปี 2554 และลาออกจากตำแหน่งในเดือน มี.ค. 2566

ปัจจุบัน เชียร์ดำรงตำแหน่ง Visiting Group Partner แบบพาร์ทไทม์ใน “Y Combinator” บริษัทที่บ่มเพาะและให้การสนับสนุนสตาร์ตอัพเติบโตเป็นธุรกิจที่ทำเงินได้จริง (Startup Incubator) ที่อัลต์แมนเคยนั่งแท่นเป็นประธานบริหารจนถึงปี 2562 ด้วย

อย่างไรก็ตาม เชียร์เป็นหนึ่งในผู้บริหารสายเทคฯ ที่สนับสนุนการพัฒนา AI อย่างค่อยเป็นค่อยไป

โดยเชียร์ได้โพสต์ข้อความผ่าน X (Twitter) ส่วนตัวเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาว่า “เราไม่สามารถเรียนรู้วิธีสร้าง AI ที่ปลอดภัยได้หากไม่มีการทดลอง และเราไม่สามารถทดลองได้โดยไม่มีความก้าวหน้า แต่เราก็ไม่ควรก้าวไปข้างหน้าด้วยความเร็วที่มากเกินไปเช่นกัน” และนี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คณะกรรมการตัดสินใจเลือกเชียร์ให้มาดำรงตำแหน่งซีอีโอชั่วคราวของ OpenAI

ทั้งนี้ เชียร์ได้ประกาศแผนงาน 30 วันแรกในฐานะซีอีโอชั่วคราวของ OpenAI ทั้งหมด 3 ข้อบน X ส่วนตัวว่า

  • จ้างผู้ตรวจสอบอิสระเพื่อตรวจสอบกระบวนการทั้งหมดและสร้างรายงานการทำงานฉบับเต็ม
  • พูดคุยกับพนักงาน หุ้นส่วน นักลงทุน และลูกค้าของ OpenAI ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
  • ปฏิรูปทีมผู้บริหารให้มีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนองค์กรและสร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อลูกค้าของ OpenAI

และคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การตัดสินใจปลดอัลต์แมนลงจากตำแหน่งซีอีโอย่อมทำให้คณะกรรมการของ OpenAI ต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันจากนักลงทุนรายใหญ่อย่าง Microsoft และ Thrive Capital รวมถึงความเชื่อมั่นของพนักงานในองค์กรที่ลดลง ส่งผลให้หลายคนตัดสินใจลาออกไปในที่สุด