กรณีศึกษา ปลดซีอีโอ ChatGPT ‘แซม อัลต์แมน-สตีฟ จ็อบส์’ ความเหมือนที่แตกต่าง

sam altman-steve jobs แซม อัลต์แมน-สตีฟ จ็อบส์
Sam Altman - Patrick T. Fallon / AFP (ซ้าย), Steve Jobs - Apple (ขวา)

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนสำรวจเรื่องราวการลงจากตำแหน่งในบริษัทที่ก่อตั้งมากับมือของ “แซม อัลต์แมน” และ “สตีฟ จ็อบส์” ที่แตกต่างกันในบางแง่มุม

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 เช้าวันนี้ตามเวลาไทย (18 พ.ย.) มีข่าวใหญ่ที่สะเทือนวงการเทคโนโลยีอย่างหนัก นั่นคือการที่คณะกรรมการบริษัท OpenAI ผู้พัฒนา ChatGPT แชตบอตพลิกวงการเทคโนโลยีและ AI มีมติให้ “แซม อัลต์แมน” (Sam Altman) ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ OpenAI ออกจากตำแหน่งทั้งหมดในบริษัททันที

รายงานข่าวจาก OpenAI ระบุว่า การลงจากตำแหน่งของอัลต์แมนเป็นไปตามกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการ ที่มีมติสรุปว่าอัลต์แมนไม่ได้สื่อสารกับคณะกรรมการอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบ ทำให้คณะกรรมการไม่มีความมั่นใจในความสามารถของอัลต์แมนในการเป็นผู้นำ OpenAI อีกต่อไป

ทั้งนี้ คณะกรรมการมีมติให้ “มิร่า มูราติ” (Mira Murati) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีที่มีประสบการณ์ในบริษัทมา 5 ปี รวมถึงมีบทบาทในการพัฒนาความปลอดภัยและนโยบาย AI มาดำรงตำแหน่งซีอีโอของ OpenAI ชั่วคราวระหว่างที่มีการสรรหาซีอีโอคนใหม่

อย่างไรก็ตาม การลงจากตำแหน่งในบริษัท OpenAI ของอัลต์แมนย่อมทำให้หลายคนนึกถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับ “สตีฟ จ็อบส์” (Steve Jobs) ชายผู้เป็นดั่งจิตวิญญาณและลมหายใจของ “แอปเปิล” (Apple) เนื่องจากเป็นการลงจากตำแหน่งด้านการบริหารในบริษัทที่ก่อร่างสร้างมากับมือทั้งคู่ แต่จริง ๆ แล้ว 2 กรณีนี้กลับมีรายละเอียดที่แตกต่างกันในหลายประเด็น

จากข้อมูลของสำนักข่าว Business Insider ระบุว่า Apple ก่อตั้งขึ้นในปี 2519 โดยสตีฟ จ็อบส์ และสตีฟ วอซเนียก (Steve Wozniak) ซึ่งจ็อบส์รับหน้าที่ในการออกแบบผลิตภัณฑ์และจัดการด้านธุรกิจ ส่วนวอซเนียกเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้นทั้งสองคนกลับไม่มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจมาก่อนเลย

ต่อมา “ไมก์ มาร์กคุล่า” (Mike Markkula) หนึ่งในนักลงทุนและพนักงานรุ่นแรก ๆ ของ Apple ได้ตัดสินใจนำ “ไมเคิล สกอต” (Michael Scott) เพื่อนของตนที่เป็นผู้บริหารมากประสบการณ์เข้ามาเป็นซีอีโอคนแรกของ Apple และเมื่อสกอตลาออกในปี 2524 หลังการเสนอขายหุ้น IPO ของ Apple มาร์กคุล่าก็เข้ามารับตำแหน่งแทน

และในปี 2526 จ็อบส์ก็ได้คัดเลือก “จอห์น สกัลลีย์” (John Sculley) ซีอีโอของ PepsiCo ในขณะนั้นเข้ามาร่วมงานกับ Apple ด้วย แม้ว่าจ็อบส์จะต้องการดำรงตำแหน่งซีอีโอด้วยตนเอง แต่คณะกรรมการของบริษัทคิดว่าเขายังไม่พร้อมสำหรับตำแหน่งนี้

ปมเหตุสำคัญที่ทำให้จ็อบส์ต้องออกจาก Apple นั้นเกิดจากในปี 2528 Apple ได้เปิดตัว “Lisa” คอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่มีอินเทอร์เฟซการใช้งานแบบกราฟิก (GUI) แม้จะเป็นความมหัศจรรย์ทางเทคนิค แต่เป็นยอดขายโดยรวมกลับล้มเหลว

ความล้มเหลวในการจำหน่าย Lisa ทำให้สกัลลีย์ตัดสินใจส่งจ็อบส์ไปดูแลงานในส่วนอื่นแทนการพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่ม Macintosh ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจให้กับจ็อบส์เป็นอย่างมาก จ็อบส์จึงเข้าไปพูดคุยคณะกรรมการที่ดูจะเห็นด้วยกับสกัลลีย์ไปแล้ว และแน่นอนว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็ทำให้จ็อบส์ต้องออกจาก Apple ไปในที่สุด

จากนั้นจ็อบส์จึงก่อตั้ง “NeXT” บริษัทที่เขาเชื่อว่าจะเป็นวิวัฒนาการต่อไปของคอมพิวเตอร์ แต่ในความเป็นจริงอุปกรณ์ของ NeXT ไม่ได้ขายดีขนาดนั้น เพราะมีราคาสูงแม้ว่าจะมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่โดดเด่นก็ตาม ส่วนฝั่ง Apple ก็มีการเปลี่ยนมือซีอีโออีกหลายคนและเผชิญปัญหาอีกหลายครั้ง

จนกระทั่งในปี 2539 “กิล อเมลิโอ” (Gil Amelio) ซีอีโอของ Apple ในขณะนั้นวางแผนที่จะเข้าซื้อกิจการของ NeXT ที่ราคา 429 ล้านดอลลาร์ ซึ่งดีลทั้งหมดเสร็จสิ้นในช่วงต้นปี 2540 และแน่นอนว่านั่นคือการคัมแบ็กสู่ Apple อย่างยิ่งใหญ่ของจ็อบส์

และในช่วงกลางปี 2540 สัดส่วนการถือหุ้นของ Apple เปลี่ยนไป เมื่อฝ่ายที่ไม่ระบุชื่อขายหุ้น Apple จำนวน 1.5 ล้านหุ้นในการทำธุรกรรมครั้งเดียว ทำให้หุ้น Apple ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 12 ปี ซึ่งจ็อบส์ได้ใช้โอกาสนั้นในการโน้มน้าวคณะกรรมการให้เสนอชื่อเขาเป็นซีอีโอชั่วคราวและบีบให้อเมลิโอลงจากตำแหน่ง

รายงานระบุว่า หลังจากนั้นไม่นาน จ็อบส์ก็เปิดเผยว่า ตนเป็นคนขายหุ้น Apple ทั้งหมด และอเมลิโอก็ลาออกจาก Apple ในที่สุด ส่วนจ็อบส์ก็ได้ดำรงตำแหน่งซีอีโอชั่วคราวของ Apple มาตั้งแต่ตอนนั้น และได้รับตำแหน่งซีอีโออย่างเป็นทางการในปี 2543

นอกจากนี้ ในเดือน ส.ค. 2540 จ็อบส์ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ใน Apple เช่น นำคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาบริหารงาน และเชื่อมสัมพันธ์กับคู่แข่งเก่าแก่อย่าง “ไมโครซอฟท์” (Microsoft) โดย “บิล เกตส์” (Bill Gates) ได้ปรากฏตัวผ่านไลฟ์สตรีมในการประชุม “Macworld” และประกาศว่าจะลงทุนใน Apple เป็นมูลค่า 150 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่สร้างความฮือฮาให้ผู้คนในแวดวงเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก

ดังนั้น ความแตกต่างระหว่างกรณีของอัลต์แมนกับจ็อบส์คงมาจากปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นการถือหุ้นในบริษัทสักเท่าไร เพราะอัลต์แมนไม่ได้ถือหุ้น หรือมีส่วนได้ส่วนเสียใน OpenAI แต่นั่นก็อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คณะกรรมการไม่เชื่อมั่นในการบริหารงานของเขามากพอ