คนเก่ง AI “มนุษย์ทองคำ” ยุคดิจิทัล

แซม อัลต์แมน
Photo by OLIVIER DOULIERY / AFP

มหากาพย์ความขัดแย้งภายใน “OpenAI” ผู้พัฒนา “ChatGPT” เริ่มต้นขึ้นเมื่อคณะกรรมการมีมติปลด “แซม อัลต์แมน” ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอบริษัทลงจากตำแหน่งในช่วงเช้าวันที่ 18 พ.ย. 2566 ตามเวลาไทย ด้วยสาเหตุที่อัลต์แมนไม่ได้สื่อสารกับคณะกรรมการอย่างตรงไปตรงมา เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบ

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายคาดว่าสาเหตุที่ทำให้อัลต์แมนต้องลงจากตำแหน่งมาจากความพยายามในการผลักดันให้ OpenAI เติบโตเชิงพาณิชย์และเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งขัดวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งบริษัทที่จะเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและพัฒนา AI เพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ

เหตุการณ์ดังกล่าวยังทำให้ในเวลาไม่ถึงสัปดาห์มีเรื่องราวเกิดขึ้นใน OpenAI มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการที่คณะกรรมการแต่งตั้ง “เอ็มเมตต์ เชียร์” อดีตซีอีโอ “Twitch” แพลตฟอร์มสตรีมเกมชื่อดัง เป็นซีอีโอชั่วคราว เพื่อสู้กับแรงกดดันของนักลงทุนและพนักงาน หรือการที่ “ไมโครซอฟท์” (Microsoft) พ่อบุญทุ่มที่ถือหุ้นกว่า 49% พร้อมรับอัลต์แมนมาร่วมงานในฐานะหัวหน้าทีมวิจัย AI

อย่างไรก็ตาม เกมมาพลิกอีกรอบเมื่อ “อัลต์แมน” ตัดสินใจกลับมาดำรงตำแหน่งซีอีโอ OpenAI อีกครั้งในเวลา 5 วัน ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนักในแวดวงธุรกิจ

เหตุการณ์นี้ยังสะท้อนถึงความเนื้อหอมของ “อัลต์แมน” ที่มีสถานะเป็นมนุษย์ทองคำด้าน AI โดยบริษัทที่ลงทุนไปกับการพัฒนา AI ต้องการจะดึงตัวมาเป็นแม่ทัพ จนบอร์ดบริษัทเดิมต้องยอมดึงตัวอัลต์แมนกลับมานั่งตำแหน่งซีอีโอตามเดิม เพื่อลดความกดดันในองค์กรจากการที่พนักงานราว 650 ชีวิต (จาก 770 คน) เตรียมยื่นจดหมายลาออก

“วิศวกร AI” มนุษย์ทองคำ

ชัดเจนว่าบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้าน AI เนื้อหอมอย่างยิ่ง ล่าสุดสำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานโดยอ้างอิงการวิเคราะห์ของ “Levels.fyi” แพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลค่าตอบแทนในอาชีพสายเทคที่เผยแพร่เมื่อเดือน พ.ค. 2566 ระบุว่า วิศวกร AI มีรายได้มากกว่าวิศวกรสาขาอื่น 8-12.5%

ข้อมูลบนเว็บไซต์ OpenAI ยังระบุด้วยว่า รายได้วิศวกร AI อยู่ที่ 200,000-370,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (7-13 ล้านบาทต่อปี) ส่วนตำแหน่งที่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะมากขึ้นจะมีรายได้อยู่ที่ 300,000-450,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (10-15 ล้านบาทต่อปี)

โรเจอร์ ลี ผู้ร่วมก่อตั้ง Comprehensive.io แพลตฟอร์มเปรียบเทียบค่าตอบแทนการจ้างงาน กล่าวว่า หากรวมค่าตอบแทนจากโบนัสหรือแรงจูงใจอื่น ๆ อาจทำให้รายได้ของวิศวกร AI สูงถึงปีละ 800,000 ดอลลาร์สหรัฐ (28 ล้านบาท)

ด้าน จูเลีย พอลแล็ก (Julia Pollak) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ZipRecruiter กล่าวว่า กลุ่มคนที่มีประสบการณ์และความสามารถในการพัฒนา AI ยังมีน้อยมาก และต่อให้บริษัทพยายามแก้ปัญหาด้วยการพัฒนาหลักสูตรฝึกทักษะตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัย ก็ยังไม่สามารถผลิตบุคลากรได้ทันที เพราะความซับซ้อนทางทฤษฎีในการพัฒนาโมเดล AI เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจและเรียนรู้

“การเรียนรู้เกี่ยวกับโค้ดและการพัฒนาโปรแกรมจริงในบริษัทเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลานาน ทำให้วิศวกร AI ภายในบริษัทมีค่าเท่ากับวิศวกร AI จากภายนอกบริษัทถึง 3 คน ที่สำคัญ บริษัทไม่สามารถฝึกฝนหรือรับสมัครคนกลุ่มนี้ได้ง่ายนัก ทำให้การรักษาบุคลากรไว้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด”

กรณีที่เกิดกับ OpenAI เมื่อทีมงานตัดสินใจลาออกพร้อมกันหลายร้อยชีวิต จึงเป็นภัยคุกคามขนาดใหญ่ต่ออนาคตของบริษัท เพราะบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งพร้อมอ้าแขนรับ ไม่ว่าจะเป็นไมโครซอฟท์ หรือเซลส์ฟอร์ซ จากกรณีล่าสุด

“AI” คืออากาศแทรกซึมทุกพื้นที่

ดังที่ เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่ม กสิกร บิสซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวในการบรรยายหัวข้อ “AI พลิกโลก” ในงาน “THAILAND 2024 : Beyond Red Ocean” โดย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า Generative AI อยู่บนยอดสุดของความนิยม และภายในปี 2567 กว่า 95% ของแรงงานจะใช้ AI ในการทำงานต่าง ๆ ช่วยให้ทำงานเร็วขึ้น 25-40%

“เราอยู่ในยุคที่มนุษย์ทำให้ AI ดีขึ้น และ AI ก็จะกลับมาช่วยเราเช่นกัน ทุกคนสามารถทำงานได้ เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ได้ เป็นนักดนตรีได้ หรือแม้แต่งานคราฟต์ที่สมัยก่อนต้องใช้ฝีมือและทักษะก็ทำได้แค่ป้อนข้อความ มีการจับคู่ AI กับโปรแกรมเมอร์ ช่วยให้การพัฒนาซอฟต์แวร์ และออกแบบ UX, UI มีเวิร์กโฟลว์ดีขึ้น ช่วยให้เกิดการทำงานอัตโนมัติได้อย่างเร็วขึ้นมหาศาล”

แม่ทัพ KBTG ย้ำว่า เมื่อโลกเปลี่ยนจากยุค Mobile First มาเป็น AI First โดย AI เปรียบเป็นอากาศที่แทรกซึมไปทุกพื้นที่ ไม่ใช่แค่เรื่องระดับปัจเจกบุคคลที่ต้องปรับตัวตาม บริษัทใดที่ใช้ AI เป็น จะมาแทนที่บริษัทที่ใช้ไม่เป็น ทุกองค์กรจึงต้องมียุทธศาสตร์ด้าน AI ของตนเอง

“คนที่ใช้ AI เป็นจะมาแทนคนที่ใช้ไม่เป็นแน่ เพราะประสิทธิภาพการทำงานจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า รายได้จะเพิ่มมหาศาล แต่ความน่ากลัวคือคนตรงกลางจะหายไป คนยอดบนจะเก่งขึ้นอีก 10 เท่า ทำงานแทนคนได้มากขึ้น ความน่ากลัวอีกอย่างคืองานระดับเบื้องต้น AI ทำได้หมด เด็กจบใหม่ที่ไม่มีทักษะการทำงานจะลำบาก อย่าง data analyst ที่ใช้ปุ่มลัดทำงานบน Excel เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ ก็แทบไม่ต้องใช้แล้ว เพราะสามารถสั่งการกับ AI ได้”

ทักษะเปลี่ยนคนต้องปรับตัวอยู่กับ AI

อีกปัจจัยที่เป็นเสมือนตัวเร่งให้คนต้องเริ่มปรับตัวและเรียนรู้ คือการที่เครื่องมือในการทำงานมาพร้อมกับฟังก์ชั่นสั่งงานด้วย AI เช่น “Copilot for Microsoft 365” ที่นำประสิทธิภาพของโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model หรือ LLM) มาเพิ่มคุณสมบัติการใช้งานโปรแกรมใน Microsoft 365 ผ่านการสั่งการด้วยคีย์เวิร์ดหรือข้อความสำคัญ

หมายความว่า Word, PowerPoint, Excel และโปรแกรมอื่น ๆ ที่คุ้นเคย จะสั่งการผ่าน “พรอมพต์” (Prompt) เพื่อให้โปรแกรมทำงานตามคำสั่งโดยอัตโนมัติ จากที่แต่เดิมผู้ใช้จะต้องจดจำวิธีการทำงานในแต่ละขั้นตอนด้วยตนเอง เช่น การแนะนำสูตรคำนวณบน Excel, การสรุปเนื้อหาบน Word และการสรุปเนื้อหาการประชุมบน Teams เป็นต้น

“เชาวลิต รัตนกรไกรศรี” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า เรากำลังเข้าสู่ยุคของการใช้ Generative AI เป็น “ผู้ช่วย” (copilot) ในการทำงาน ซึ่งไมโครซอฟท์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วย AI เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าองค์กรที่ต้องรับมือกับปัญหาทางเศรษฐกิจ การบริหารค่าใช้จ่าย และการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในองค์กร ซึ่งมีคนเป็นปัจจัยสำคัญ

“บริการ copilot เป็นการเชื่อมโยงคนเข้ากับเทคโนโลยี ช่วยจัดการงานซ้ำซ้อน และลดเวลาการทำงาน แต่การนำไปใช้เป็นเหมือนการทรานส์ฟอร์มวิธีการทำงานครั้งใหญ่ จากที่ผู้ใช้ต้องมีความรู้เชิงลึกในการใช้งานโปรแกรมต่าง ๆ ก็อาจจะเรียนรู้แค่พื้นฐาน และมาให้ความสำคัญกับการฝึกเขียนพรอมพต์แทน เพราะการสั่งการ copilot ต้องใช้พรอมพต์ที่ละเอียดและมีโครงสร้างประโยคชัดเจน”

ปัจจุบัน Copilot for Microsoft 365 ให้บริการลูกค้าองค์กรในไทยผ่านการเข้าร่วมโปรเจ็กต์ Early Access Program (EAP) หรือกลุ่ม Early Adopter ที่ได้ทดลองใช้งานก่อน 6 ราย เช่น AIS, SCB และ ปตท.สผ. พบว่า productivity ในการทำงานของแต่ละองค์กรเพิ่มขึ้นอย่างต่ำ 12-15%