มัดรวม 5 เหตุการณ์เทคระดับโลก ส่งท้ายปี 2566

5 เหตุการณ์วงการเทค

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนสำรวจ 5 เหตุการณ์สำคัญในวงการเทคโนโลยี ปี 2566 พบ “AI” ยังคงมาแรงและเตรียมส่งแรงสั่นสะเทือนต่อในปีหน้า

วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ปี 2566 ถือเป็นปีที่วงการเทคโนโลยีระดับโลกมีประเด็นร้อนและเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ท่ามกลางความนิยมในเทคโนโลยี AI ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งแต่ละเหตุการณ์ล้วนส่งผลต่อการขับเคลื่อนวงการเทคโนโลยีในปี 2567 ทั้งสิ้น

“ประชาชาติธุรกิจ” ร่วมส่งท้ายปี 2566 ด้วยการรวบรวม 5 เหตุการณ์สำคัญในวงการแวดวงเทคโนโลยีโลกมาสรุปไว้ดังนี้

Apple เปิดตัว Apple Vision Pro

นับเป็นการสร้างความฮือฮาครั้งใหญ่ให้กับสาวกแอปเปิลทั่วโลก เมื่อ “แอปเปิล” (Apple) เปิดตัว Apple Vision Pro แว่น Mixed Reality รุ่นแรกของบริษัท ในงาน WWDC 2023 (Worldwide Developers Conference 2023) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5-9 มิถุนายน 2566 ณ แอปเปิล ปาร์ก (Apple Park) เมืองคูเปอร์ติโน รัฐแคลิฟอร์เนีย

โดยแว่น Mixed Reality รุ่นนี้มาพร้อมการผสานการใช้งานในโลกเสมือนกับโลกจริงเข้าด้วยกัน ขณะสวมแว่นผู้ใช้ยังคงมองเห็นตามปกติ สามารถสั่งการได้ด้วยการขยับมือหรือเสียง ซึ่งมีกำหนดการวางจำหน่ายในช่วงต้นปี 2567 มีราคาเปิดตัวอยู่ที่ 3,499 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 125,000 บาท)

Apple Vision Pro

Twitter แปลงร่างเป็น X

หลังจากที่ในปีก่อนหน้า การเข้าซื้อกิจการ “ทวิตเตอร์” (Twitter) ของมหาเศรษฐีที่ชื่อ “อีลอน มัสก์” (Elon Musk) เป็นมหากาพย์มาอย่างยาวนาน พอเข้าปี 2566 ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงกับแพลตฟอร์มโซเชียลนกฟ้าขึ้นมากมาย โดยเฉพาะการเปลี่ยนชื่อและโลโก้มาเป็น “X” ที่อาจทำให้บริษัทสูญเสียมูลค่าแบรนด์ราว 0.4-2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.4-7.1 แสนล้านบาท)

นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในการใช้งานบนแพลตฟอร์มอีกหลายอย่าง เช่น การจำกัดจำนวนการอ่านข้อความในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ, การเปลี่ยนปุ่ม Retweet เป็น Repost, การยกเลิกฟีเจอร์ “วงเขียว” หรือ Circles ที่จำกัดสิทธิ์การเข้าถึงข้อความของผู้ใช้งานบางคน เป็นต้น

twitter X

Meta ส่ง Threads ท้าชน X

ในช่วงที่ X เกิดความอลหม่านมากมายบนแพลตฟอร์ม “เมตา” (Meta) ก็ได้ใช้โอกาสดังกล่าวในการเปิดตัว “เธรดส์” (Threads) โซเชียลมีเดียเน้นข้อความของตนเอง ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก และทำให้เธรดส์มีผู้ใช้งานมากกว่า 100 ล้านบัญชี ในเวลาเพียง 5 วัน

แต่ปัจจุบันความนิยมของเธรดส์ดูเหมือนจะลดน้อยถอยลงไปตามกาลเวลา โดย “เซนเซอร์ ทาวเวอร์” (Sensor Tower) บริษัทวิจัยตลาดด้านเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ในช่วงปลายเดือน ก.ค. 2566 เวลาที่ผู้ใช้อยู่บนแพลตฟอร์มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยฝั่งผู้ใช้ iOS เหลือ 4 นาที จาก 19 นาที ส่วนผู้ใช้แอนดรอยด์ (Android) เหลือ 5 นาที จาก 21 นาที เมื่อนับจากวันเปิดตัว

Threads

Google เปิดตัว Gemini

“Gemini” ถือเป็นโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดของ “กูเกิล” (Google) ในปัจจุบัน มีทั้งหมด 3 เวอร์ชั่น ได้แก่ Gemini Ultra สำหรับการใช้งานที่มีความซับซ้อนสูง, Gemini Pro และ Gemini Nano สำหรับการใช้งานบนสมาร์ทโฟน 

ทั้งนี้ Gemini ยังมาพร้อมความสามารถแบบ “มัลติโมเดล” ที่รองรับการประมวลผลผ่านข้อมูลในรูปแบบข้อความ เสียง รูปภาพ และวิดีโอ ซึ่ง Google ได้ปล่อยให้ใช้งานบน Bard แชทบ็อตอัจฉริยะของตนเองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยรายงานจาก Google ระบุว่า Gemini มีประสิทธิภาพเหนือกว่า GPT-4 ของ OpenAI ในหลากหลายด้าน เช่น การตอบคำถามหลายตัวเลือก (MMLU) Gemini Ultra ได้คะแนน 90.0% ส่วน GPT-4 ได้คะแนน 86.4% และการตอบปัญหาคณิตศาสตร์ (GSM8K) Gemini Ultra ได้คะแนน 94.4% ส่วน GPT-4 ได้คะแนน 92.0% เป็นต้น

Gemini

มหากาพย์ปลดซีอีโอ OpenAI

ช่วงเช้าของวันที่ 18 พ.ย. 2566 ตามเวลาไทย เกิดเหตุการณ์ที่บอร์ดของ OpenAI ปลด “แซม อัลต์แมน” (Sam Altman) ลงจากตำแหน่งซีอีโอของบริษัทแบบสายฟ้าแลบ เหตุเพราะแซมไม่ได้สื่อสารกับบอร์ดอย่างตรงไปตรงมา ทำให้บอร์ดไม่มั่นใจในความสามารถของเขาในการเป็นผู้นำ OpenAI อีกต่อไป

แต่การตัดสินใจของบอร์ดกลับนำมาซึ่งความกดดันและความตึงเครียดในองค์กร เมื่อนักลงทุนเบอร์ใหญ่อย่าง “ไมโครซอฟท์” (Microsoft) และพนักงานจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจดังกล่าว จนทำให้พนักงานกว่า 600 ชีวิต เตรียมยื่นหนังสือลาออกหากบอร์ดไม่มีมตินำแซมกลับมาดำรงตำแหน่งตามเดิม

ซึ่งในเวลาเพียง 5 วัน มีเหตุการณ์เกิดขึ้นกับ OpenAI และแซมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการที่บอร์ดแต่งตั้ง “เอ็มเมตต์ เชียร์” (Emmett Shear) อดีตซีอีโอของ Twitch แพลตฟอร์มสตรีมเกมชื่อดัง เป็นซีอีโอชั่วคราว รวมถึงการที่ไมโครซอฟท์เสนอตำแหน่งให้แซมมาร่วมงานในฐานะหัวหน้าทีมวิจัย AI

แต่ท้ายที่สุดแล้ว บทสรุปของเรื่องราวทั้งหมดก็จบลงที่บอร์ดตัดสินใจคืนเก้าอี้ให้แซมกลับมาดำรงตำแหน่งเป็นซีอีโอของ OpenAI อีกครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในแวดวงธุรกิจ

Sam Altman
Sam Altman (ภาพจาก AFP)