กูรูอีคอมเมิร์ซ เผย Lazada ปลดพนง.ทั่วอาเซียน ตั้งรับอีคอมเมิร์ซแข่งดุ

Lazada-ภาวุธ

“ภาวุธ” กูรูอีคอมเมิร์ซ ชี้ “Lazada” ลดคนทั่วอาเซียน 30% เพื่อปรับทัพองค์กรให้ลีนขึ้น พร้อมสู้ศึกอีคอมเมิร์ซที่กำลังร้อนแรง

วันที่ 9 มกราคม 2567 นายภาวุธ พงษ์วิทยภาณุ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท TARAD.com ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับประเด็นการปลดพนักงานทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ “ลาซาด้า” (Lazada) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในเครือบิ๊กเทคสัญชาติจีนอย่าง “อาลีบาบา” (Alibaba)

โดยโพสต์ดังกล่าวได้มีการอ้างอิงเนื้อหาจากโพสต์ของ “เอเดรียน โอ” (Adrian Oh) ผู้เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซในมาเลเซีย ในกลุ่มเฟซบุ๊ก “Modern Retail (MR)” ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1.Lazada ปลด Chief Marketing Officer ทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว

2. 20% ของพนักงานในมาเลเซียของ Lazada ถูกไล่ออก รวมถึง CEO ของประเทศ และ CLO (Chief Logistics Officer)

3.Lazada ได้ปิด LazMall ในเวียดนามด้วย

4.Lazada ตั้งใจที่จะลดกำลังคนประมาณ 30% ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Lazada จ้างพนักงานมากถึง 10,000 คนทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์)

5.Lazada อยู่ภายใต้การดูแลของ Alibaba International Digital Commerce ซึ่งดำเนินการ Aliexpress, Trendyol (ตุรกี) และ Daraz (ปากีสถาน) และ Alibaba.com (ขายส่ง B2B)

นอกจากนี้ นายภาวุธยังวิเคราะห์เพิ่มเติมด้วยว่า ต้องยอมรับว่า หลังจาก “แจ็ก หม่า” (Jack Ma) ออกจาก Alibaba ไป ภาพรวมของธุรกิจก็ถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัด (จิตวิญญาณขององค์กรหายไป) รวมถึงการเข้ามาล้วงลูกและสกัดของรัฐบาลจีน ทำให้ Alibaba สูญเสียโฟกัสไปมาก

ดังนั้น การลดคนและปรับโครงสร้างองค์กร การปรับทัพใหม่ของ Lazada เป็นสัญญาณของการเตรียมสู้กลับกับอีคอมเมิร์ซเจ้าอื่นในท้องถิ่น เช่น Shopee,  TikTok และเจ้าอื่น ๆ ที่กำลังจะเข้ามาอย่าง Temu อย่างเต็มที่

ซึ่งหากจะสู้กลับ อย่างแรกที่ต้องทำคือ

1.องค์กรต้องลดไขมันให้ลีน (Lean) เสียก่อน เพราะเป็นธรรมดาขององค์กรที่ใหญ่ และคนเยอะมาก ๆ ทุกอย่างจะช้าลง และปรับแนวคิดให้กลับไปทำงานรวดเร็วแบบเดิม การปรับเปลี่ยน “ผู้นำ” องค์กรในแต่ละประเทศจึงจำเป็นอย่างมาก

2.พัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ๆ ให้ออกมาแข่งขันกับตลาดได้ (ตอนนี้ตลาดไปทาง Live Commerce แล้ว Lazada เพิ่งเริ่มเปิดตัวไม่นานนี้ ยังคงตามหลังรายอื่น ๆ อยู่) 

3.สร้าง Synergy กับบริษัท ตรงนี้ถือว่า Alibaba มีความได้เปรียบมากกว่าทุกเจ้า เพราะตัวเองมีรูปแบบการขายอีคอมเมิร์ซทุกรูปแบบ B2B, B2C, C2C รวมไปถึง Infrastructure อย่าง Cloud Platform, Payment, Logistic ที่แข็งแรงมาก (แต่ที่จีนถูกรัฐบาลจีนสั่งแยกบริษัทเรียบร้อยแล้ว) แต่ก็ยังสามารถทำงานร่วมกันได้ ซึ่งหลาย ๆ บริการได้ขยายออกมานอกประเทศแล้ว

“การปรับตัวครั้งนี้ของ Lazada น่าจะกินเวลาไม่น่าเกินไตรมาส 1-2 และทุกอย่างน่าจะกลับมาเข้าสู่อัตราเร่งที่สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้”