รู้จัก Tixxa เว็บไซต์ซื้อขายบัตรคอนเสิร์ตนอกระบบ ตัดวงจรมิจฉาชีพหลอกลวง

tixxa

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนมาทำความรู้จัก “Tixxa” แพลตฟอร์มซื้อขายบัตรคอนเสิร์ตนอกระบบ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมผู้ซื้อกับผู้ขาย แก้ปัญหามิจฉาชีพสวมรอยโกงค่าบัตรคอนเสิร์ต

วันที่ 9 มีนาคม 2567 การจองบัตรคอนเสิร์ตเพียง 1 ที่นั่ง เพื่อใช้เวลาราว 2-3 ชั่วโมงในการรับชมการแสดงสุดพิเศษของศิลปินคนโปรด มาพร้อมการแข่งขันอันดุเดือดในหมู่แฟนคลับเสมอ แน่นอนว่าจำนวนที่จำกัดย่อมทำให้มีทั้งคนที่สมหวังและผิดหวัง แต่ก็ไม่ใช่ว่าคนที่ผิดหวังจะหมดโอกาสในการไปเจอศิลปินเสียทีเดียว เพราะจังหวะที่การซื้อขายบัตรในระบบจบลง และไม่มีที่นั่งว่างให้จับจองอีกต่อไป การซื้อขายนอกระบบกลับกำลังเริ่มต้นขึ้น

ในแฮชแท็กที่เป็นชื่อของศิลปินและคอนเสิร์ตบน X (Twitter) จะเต็มไปด้วยโพสต์ของเหล่าผู้ใช้ที่นำบัตรคอนเสิร์ตมาขายต่อในราคาเท่าเดิมหรือราคาที่สูงกว่าปกติ (บัตรอัพ) ซึ่งบางบัญชีที่มีสถานะเป็น “ร้านรับกดบัตร” ที่ทำหน้าที่หาบัตรคอนเสิร์ตมาตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วยวิธีการธรรมชาติ หรือจองบัตรไว้ในระบบตามโควตาที่กำหนดแล้วนำมาจำหน่ายต่อ ไปจนถึงการเป็นตัวกลางรับดีลบัตรระหว่างคนที่ต้องการขายกับคนที่ต้องการซื้อ (บัตรดีล) และรับค่าตอบแทนตามที่ตกลง

แต่เมื่อการเจรจาซื้อขายบัตรคอนเสิร์ตเกิดขึ้นบนช่องทางออนไลน์ ช่องโหว่จากความรู้หน้าไม่รู้ใจกลายเป็นสิ่งที่มิจฉาชีพใช้เพื่อสวมรอยหลอกเอาเงินจากกลุ่มแฟนคลับ จนทำให้มีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกงอยู่ไม่น้อย

เช่น กรณีการโกงบัตรคอนเสิร์ตที่ประเทศสิงคโปร์ของป๊อปสตาร์สาวระดับโลก “เทย์เลอร์ สวิฟต์” (Taylor Swift) ซึ่งเกิดจากการขายบัตรปลอมและการวนขายบัตรคอนเสิร์ตของร้านรับกดบัตรเจ้าดัง และจากการรวบรวมจำนวนผู้เสียหายในเบื้องต้น พบว่าน่าจะมีผู้เสียหายไม่ต่ำกว่า 120 ราย มูลค่าความเสียหายรวมหลักล้าน

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง “โจวปลื้ม” หนึ่งในผู้เสียหายจากกรณีดังกล่าวได้ออกมาเปิดเผยผ่านโซเชียลมีเดียว่า ตนสามารถเข้าชมการแสดงของป๊อปสตาร์คนโปรดในรอบอื่นได้แล้วจากการซื้อบัตรคอนเสิร์ตบนแพลตฟอร์มที่มีชื่อว่า “ทิกซ่า” (Tixxa)

แล้ว Tixxa เป็นแพลตฟอร์มที่ต่างจากแพลตฟอร์มสำหรับจองบัตรคอนเสิร์ตอื่น ๆ อย่างไร ? “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์ของ Tixxa มาสรุปไว้ดังนี้

Tixxa เป็นแพลตฟอร์มซื้อขายบัตรคอนเสิร์ตระหว่างผู้ที่ต้องการซื้อและผู้ที่ต้องการขาย โดยผู้ที่จะทำการขายบัตรคอนเสิร์ตต้องกรอกข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดโซนและที่นั่ง ราคาต่อใบ จำนวน ประเภท ค่าจัดส่ง รูปบัตรคอนเสิร์ต และบัญชีธนาคารหรือพร้อมเพย์ จากนั้นบัตรจะถูกอัพขึ้นระบบเพื่อรอคนที่สนใจมากดซื้อ

สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อบัตรจะเข้ามาเลือกจากอีเวนท์ที่อยู่บนหน้าเว็บไซต์ แล้วทำการซื้อบัตรในโซนและที่นั่งที่ต้องการ ชำระเงินไปยังบัญชีกลางของแพลตฟอร์ม พร้อมแจ้งหลักฐานการชำระเงิน จากนั้นรอผู้ขายทำการจัดส่งบัตร เมื่อได้รับบัตรแล้วให้ผู้ซื้อตรวจสอบความถูกต้องของบัตร และกด “ยืนยันรับตั๋ว” เพื่อจบการซื้อขาย ซึ่งบริษัทจะทำการโอนเงินไปยังผู้ขายใน 3-5 วันทำการ

ทั้งนี้ Tixxa จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการซื้อขายตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ของ Tixxa เพื่อสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ ได้ทาง LINE OA @Tixxa โดยการซื้อขายบัตรแต่ละครั้งจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 3% เพื่อนำไปใช้ในการดูแลรักษาความปลอดภัยของระบบ และเป็นค่าจ้างทีมงาน

อย่างไรก็ตาม Tixxa ถือเป็นทางเลือกใหม่ของการซื้อขายบัตรคอนเสิร์ตนอกระบบที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อได้มากขึ้น เนื่องจากมีการยืนยันตัวตนผู้ขาย และการทำธุรกรรมอยู่ในการดูแลของแพลตฟอร์ม ซึ่งในอนาคต Tixxa จะมีการเพิ่มระบบรับชำระเงินให้ครอบคลุมวิธีการชำระเงินในปัจจุบัน และขยายบริการไปยังอีเวนท์ประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากคอนเสิร์ต

และจากการตรวจสอบข้อมูลบน CredenData พบว่า บริษัท ทิกเก็ต เอกซ์ จำกัด ที่ให้บริการแพลตฟอร์ม Tixxa จดทะเบียนบริษัทเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2566 ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท ในหมวดธุรกิจกิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน โดยมีกรรมการจำนวน 2 คน ได้แก่ นายพงศ์ดิศ โรจวัฒนา และนายภาวิช เลิศบัณฑิตกุล

หน้าเว็บ Tixxa