รู้จัก “บัญชีม้า” กรณีศึกษากลโกงบัตรคอนเสิร์ต “Taylor Swift”

taylor swift
ภาพ Taylor Swift จาก REUTERS/Kim Kyung-Hoon

ทำความรู้จัก “บัญชีม้า” ผ่านกรณีศึกษากลโกงค่าบัตรคอนเสิร์ตของพ็อปสตาร์ระดับโลก “Taylor Swift” หลังผู้เสียหายในไทยมากกว่า 120 ราย ถูกขายบัตรซ้ำ-บัตรปลอม มูลค่าความเสียหายรวมหลักล้าน

วันที่ 4 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ “โจวปลื้ม” อินฟลูเอนเซอร์และนางแบบชื่อดังออกมาเปิดเผยผ่านโซเชียลมีเดียว่า ตนได้ทำการซื้อบัตรคอนเสิร์ตของพ็อปสตาร์ระดับโลกอย่าง “เทย์เลอร์ สวิฟต์” (Taylor Swift) ที่จัดขึ้น ณ ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2567 แต่กลับไม่สามารถเข้าชมคอนเสิร์ตได้

เนื่องจากที่นั่งของตนมีการสแกนเข้าคอนเสิร์ตไปก่อนแล้ว และในเวลาต่อมาก็มีการสแกนเข้าที่นั่งดังกล่าวอีกหลายรอบ จนทำให้เจ้าหน้าที่ที่คัดกรองผู้เข้าชมคอนเสิร์ตในขณะนั้น ตัดสินใจเชิญทุกคนที่ถือบัตรในที่นั่งที่มีปัญหาออกจากพื้นที่การแสดงทั้งหมด ทำให้ชาวเน็ตพยายามสืบหาตัวตนของ “ร้านรับกดบัตร” ที่เป็นสาเหตุของเรื่องดังกล่าว

อินฟลูเอนเซอร์สาวได้พบว่ามีคนที่ถือบัตรคอนเสิร์ตที่มีเลขที่นั่งเดียวกับตนถึง 8 คน โดยตนได้ซื้อบัตรจากผู้ขายบน X (Twitter) ซึ่งเป็นบัญชีของร้านรับกดบัตรชื่อดังที่มียอดติดตามเป็นหลักหมื่น เนื่องจากตนไม่สามารถซื้อบัตรได้ในระบบปกติ และภายหลังชาวเน็ตก็สืบทราบตัวตนของร้านรับกดบัตรดังกล่าว พร้อมกับสรุปประวัติและพฤติกรรมที่เข้าข่ายการฉ้อโกงในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ข่าวสดรายงานด้วยว่า ยอดผู้เสียหายในไทยจากการโดนโกงบัตรคอนเสิร์ตของ “เทย์เลอร์ สวิฟต์” ที่ประเทศสิงคโปร์ครั้งนี้มีมากกว่า 120 ราย มูลค่าความเสียหายรวมหลักล้าน โดยมีทั้งการจำหน่ายบัตรซ้ำ และปลอมแปลงบัตรมาจำหน่ายเป็น “บัตรอัพ” หรือบัตรคอนเสิร์ตที่จำหน่ายในราคาที่สูงเกินจริง

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาร้านรับกดบัตรดังกล่าวได้ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นที่เกิดขึ้น และจะดำเนินการรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างถึงที่สุด โดยในโพสต์ของทางร้านได้ระบุถึงชื่อของบุคคลหนึ่งที่เป็นเจ้าของบัญชีที่ใช้รับเงินของทางร้าน พร้อมทั้งยืนยันว่าบุคคลดังกล่าวไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่มีสถานะเป็น “บัญชีม้า” แต่อย่างใด

โกงคอนเสิร์ต taylor swift

และหลังจากที่ร้านออกมาชี้แจงในลักษณะดังกล่าว ก็ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ทั้งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงคอนเสิร์ต การใช้บัญชีผู้อื่นที่เข้าข่ายการหลีกเลี่ยงภาษี และการตีความคำว่า “บัญชีม้า” ในแง่มุมของร้านที่ดูจะสวนทางกับความเห็นของชาวเน็ต

แล้วความหมายของ “บัญชีม้า” หรือบัญชีที่เข้าข่ายการเป็นบัญชีม้ามีลักษณะอย่างไร ? “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลมาสรุปไว้ดังนี้

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) ณ วันที่ 25 มี.ค. 2566 เปิดเผยว่า บัญชีม้า คือบัญชีเงินฝากธนาคารที่คนร้ายนำมาใช้เป็นช่องทางรับ และถ่ายโอนเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิด เพื่อป้องกันไม่ให้มีพยานหลักฐานโยงมาถึงตัวได้

และหนึ่งในวิธีที่คนร้ายทำเพื่อให้ได้มาซึ่งบัญชีม้า คือการจ้างให้บุคคลอื่นเปิดบัญชี หรือรับซื้อบัญชีเงินฝากธนาคารของบุคคลทั่วไป พร้อมกับสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและซิมการ์ดโทรศัพท์ที่เจ้าของบัญชีเปิดใช้งานด้วย เพื่อให้สามารถนำข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของบัญชีไปผูกกับ mobile banking และทำธุรกรรมออนไลน์ได้ทันที

โดยผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 จะได้รับบทลงโทษ ดังนี้

มาตรา 9 ผู้ใดเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตน โดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้อง หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 10 ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ