เปิดค่าธรรมเนียมการขายบน “Shopee-Lazada-TikTok” เป็นแม่ค้าออนไลน์ต้องจ่ายเท่าไร ?

shopee-tiktok shop

เปิดค่าธรรมเนียมการขายบน 4 แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “Shopee-Lazada-TikTok Shop-LINE SHOPPING” พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์เช็กที่นี่ !

วันที่ 27 มีนาคม 2567 ปฏิเสธไม่ได้ว่าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซกลายเป็นช่องทางหลักในการจำหน่ายสินค้าของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หลาย ๆ คน ซึ่งการตั้งร้านบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต้องแลกมาด้วยการจ่ายค่าคอมมิชชั่น (Commission Fee) หรือค่าธรรมเนียมการขายสินค้า (Sales Transaction Fee) ให้กับผู้ให้บริการแต่ละราย โดยในช่วงที่ผ่านมามีการปรับขึ้นอัตราค่าธรรมเนียมอย่างต่อเนื่อง

แล้วปัจจุบันผู้ให้บริการแต่ละรายมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการขายสินค้าจากผู้ขายเท่าไร ? “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลมาสรุปไว้ ดังนี้

Shopee

รายงานจากช้อปปี้ ประเทศไทย (Shopee) เปิดเผยว่า ค่าธรรมเนียมการขายจะถูกจัดเก็บจากทุกออร์เดอร์ที่เกิดขึ้นใน Shopee ในทุกช่องทางการชำระเงิน โดยแบ่งเป็นค่าธรรมเนียมสำหรับ Mall Sellers และ Non-Mall Sellers ดังนี้

ค่าธรรมเนียมสำหรับ Mall Sellers (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

  • สินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Items) ได้แก่ มือถือและอุปกรณ์เสริม, กล้องและโดรน, คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เสริม, เครื่องเสียง, เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และเกมและอุปกรณ์เสริม 5%
  • สินค้าบางประเภทในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (Exceptions of Electronics Items) 6%
  • สินค้าที่ไม่อยู่ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (Non-Electronics Items) 7%

ค่าธรรมเนียมสำหรับ Non-Mall Sellers (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

  • สินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Items) 4%
  • สินค้าที่ไม่อยู่ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (Non-Electronics Items) 4%
  • สินค้าในหมวดหมู่สินค้าแฟชั่น (Fashion Cluster) 5%
  • สินค้าบางประเภทในหมวดหมู่ย่อยของสินค้าในหมวดหมู่สินค้าแฟชั่น 4%

อย่างไรก็ตาม Shopee ได้ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมการขายครั้งใหม่ โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2567 เป็นต้นไป และมีรายละเอียด ดังนี้

ค่าธรรมเนียมสำหรับ Mall Sellers (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

  • สินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Items) 6%
  • สินค้าบางประเภทในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (Exceptions of Electronics Items) 5% หรือ 8%
  • สินค้าที่ไม่อยู่ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (Non-Electronics Items) 5-8%

ค่าธรรมเนียมสำหรับ Non-Mall Sellers (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

  • สินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Items) 5%
  • สินค้าที่ไม่อยู่ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (Non-Electronics Items) 5%
  • สินค้าในหมวดหมู่สินค้าแฟชั่น (Fashion Cluster) 6%
  • สินค้าบางประเภทในหมวดหมู่ย่อยของสินค้าในหมวดหมู่สินค้าแฟชั่น 5%

Lazada

รายงานจากลาซาด้า ประเทศไทย (Lazada) เปิดเผยว่า Lazada ได้มีการเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียมการใช้บริการมาร์เก็ตเพลซ (Marketplace Service Fee) และมีผลตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค. 2566 เวลา 00.00 น. ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  • สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (เครื่องเสียง กล้อง โดรน ฯลฯ) 4% จากเดิม 3%
  • สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก ฯลฯ) 3%
  • สินค้าแฟชั่น (กระเป๋า เสื้อผ้า ฯลฯ) 5% จากเดิม 4%
  • สินค้าแฟชั่น (เครื่องประดับ คอนแท็กต์เลนส์) 3%
  • สินค้าอุปโภค-บริโภค (นมผง ผ้าอ้อม) 3%
  • สินค้าอุปโภค-บริโภค (อื่น ๆ) 4% จากเดิม 3%
  • สินค้าดิจิทัล 3%
  • สินค้าทั่วไป 4% จากเดิม 3%

และค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ขายสินค้าใน LazMall (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็นดังนี้

1. อิเล็กทรอนิกส์

  • คอมพิวเตอร์ และแล็ปทอป 5%
  • เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ 5%
  • โทรศัพท์มือถือ และแท็บเลต 5%
  • โทรทัศน์ และวิดีโอ 5%

2. สินค้าอุปโภค-บริโภค

  • สินค้าแม่และเด็ก 7%
  • สินค้าอุปโภค-บริโภค 6%
  • สุขภาพ 7%
  • ของใช้ในบ้าน 6%

3. หมวดหมู่อื่น ๆ 7%

TikTok Shop

รายงานจาก TikTok Shop ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 เวลา 00.00 น. (ตามเวลาไทย) TikTok Shop จะปรับค่าธรรมเนียมคอมมิชชั่น จากอัตราค่าธรรมเนียมคอมมิชชั่นคงที่ก่อนหน้านี้ที่ 4% จะถูกเปลี่ยนเป็นอัตราค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกัน ตามหมวดหมู่ย่อยของสินค้า ซึ่งรายละเอียดของค่าธรรมเนียมใหม่ (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็นดังนี้

  • สินค้าแฟชั่น 4.00-5.35%
  • สินค้าอุปโภค-บริโภค (FMCG) 4.28%
  • สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 4.28%
  • สินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น อุปกรณ์กีฬา เครื่องครัว 4.28%

โดยสูตรการคำนวณค่าคอมมิชชั่นของตลาดคือ ค่าคอมมิชชั่นของตลาด = ค่าธรรมเนียม X (ราคาสินค้า-ส่วนลดของร้านค้า)

ตัวอย่างการคำนวณ

  • สินค้าของผู้ขาย : รองเท้าสีเทา 
  • ราคาเดิม : 1,900 บาท
  • ส่วนลดของร้านค้า : 120 บาท
  • ราคาสินค้าหลังหักส่วนลดของร้านค้า : 1,780 บาท
  • อัตราค่าธรรมเนียมคอมมิชชั่น : 5.35%

ค่าคอมมิชชั่นของตลาด = 5.35% X (1,900-120) – 95.23 บาท

LINE SHOPPING

รายงานจากไลน์ ประเทศไทย (LINE) เปิดเผยว่า LINE มีการคิดค่าธรรมเนียมการใช้บริการ (Service Fee) จากคำสั่งซื้อที่สั่งซื้อผ่านช่องทางสื่อและแคมเปญของ LINE SHOPPING 3% (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 2566

โดยตัวอย่างช่องทางสื่อและแคมเปญของ LINE SHOPPING เช่น LINE SHOPPING Home Feed, Live Hall, Event, Search, Gift Zone เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม LINE จะไม่เก็บค่าธรรมเนียมการขายในกรณีที่คำสั่งซื้อเกิดจากการออกออร์เดอร์ผ่านห้องแชตในแอปพลิเคชั่น LINE หรือผู้ขายเป็นผู้ทำโฆษณาร้านค้าด้วยตนเอง หรือส่งลิงก์ร้านค้าและสินค้าของผู้ขาย shop.line.me/@shopbasicid ให้กับผู้ซื้อโดยตรง