Shopee โกยยอดขายอู้ฟู่ ครองส่วนแบ่งมากสุดในอาเซียน

ช้อปปี้

เปิดส่วนแบ่งตลาดแพลตฟอร์ม “อีคอมเมิร์ซ” ใน 6 ประเทศอาเซียน พบ “Shopee” โกยยอดขายอู้ฟู่ ครองอันดับหนึ่งในทุกประเทศ

วันที่ 15 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากความเคลื่อนไหวล่าสุดในแวดวงอีคอมเมิร์ซที่ “ลาซาด้า” (Lazada) ตัดสินใจปลดพนักงานทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

น่าจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่สะท้อนถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจที่พยายามหาทางสร้างผลกำไรมากขึ้น และภาพการแข่งขันของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคที่ส่อแววความร้อนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงที่ผ่านมา

รายงาน Ecommerce in Southeast Asia 2023 ของ Momentum Works บริษัทให้คำปรึกษาทางธุรกิจในสิงคโปร์ ระบุว่า ยอดขายสินค้าโดยรวม (Gross Merchandise Value หรือ GMV) บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2565 มีมูลค่าอยู่ที่ 9.95 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โตจากปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 เริ่มระบาดราว 1.8 เท่า

โดยมี “ช้อปปี้” (Shopee) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากยักษ์เทคสัญชาติสิงคโปร์อย่าง “Sea Group” ครองส่วนแบ่งอันดับหนึ่งที่ 4.79 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วย Lazada 2.01 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ, Tokopedia แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในอินโดนีเซีย 1.84 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และแพลตฟอร์มอื่น ๆ อีก 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

และเมื่อจำแนกภาพการแข่งขันในปี 2565 เป็นรายประเทศ จะพบว่ามีรายละเอียดดังนี้

ไทย

มูลค่ายอดขายสินค้าโดยรวมอยู่ที่ 1.44 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มครองส่วนแบ่งตลาดดังนี้

  • Shopee 56%
  • Lazada 40%
  • TikTok Shop 4%

อินโดนีเซีย

มูลค่ายอดขายสินค้าโดยรวมอยู่ที่ 5.19 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มครองส่วนแบ่งตลาดดังนี้

  • Shopee 36%
  • Tokopedia 35%
  • Lazada 10%
  • Bukalapak 10%
  • TikTok Shop 5%
  • Blibli 4%

ฟิลิปปินส์

มูลค่ายอดขายสินค้าโดยรวมอยู่ที่ 1.15 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มครองส่วนแบ่งตลาดดังนี้

  • Shopee 60%
  • Lazada 36%
  • TikTok Shop 4%

เวียดนาม

มูลค่ายอดขายสินค้าโดยรวมอยู่ที่ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มครองส่วนแบ่งตลาดดังนี้

  • Shopee 63%
  • Lazada 23%
  • Tiki.VN 6%
  • TikTok Shop 4%
  • Sendo 4%

มาเลเซีย

มูลค่ายอดขายสินค้าโดยรวมอยู่ที่ 8.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มครองส่วนแบ่งตลาดดังนี้

  • Shopee 78%
  • Lazada 19%
  • TikTok Shop 3%

สิงคโปร์

มูลค่ายอดขายสินค้าโดยรวมอยู่ที่ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มครองส่วนแบ่งตลาดดังนี้

  • Shopee 53%
  • Lazada 35%
  • Amazon Singapore 11%
  • TikTok Shop 1%

จากการจำแนกภาพการแข่งขันรายประเทศ จะพบว่า Shopee ครองส่วนแบ่งเป็นอันดับหนึ่งในทุกประเทศ ส่วนอินโดนีเซียและเวียดนามดูจะมีความพิเศษกว่าประเทศอื่นเล็กน้อย เนื่องจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในท้องถิ่นยังสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ได้ โดยแพลตฟอร์มท้องถิ่นของอินโดนีเซีย (Tokopedia, Bukalapak และ Blibli) ครองส่วนแบ่งรวมกัน 49% ส่วนของเวียดนาม (Tiki.VN และ Sendo) ครองส่วนแบ่งรวมกัน 10%

นอกจากนี้ รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ยอดขายสินค้าโดยรวม (Gross Merchandise Value หรือ GMV) บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2571 มีโอกาสขยายตัวถึง 1.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือถ้ามีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาส่งเสริมอาจจะขยายตัวถึง 2.32 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ Momentum Works ยังมองว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการขยายตัวของตลาดอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือการบุกตลาดของ “Temu” แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากผู้ให้บริการรายใหญ่ในจีนอย่าง Pinduoduo ที่ชูจุดเด่นขายสินค้าในราคาถูกมาก จนสามารถบุกตลาดในสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ

หาก Temu จริงจังกับการเข้ามาทำตลาดในภูมิภาคมากขึ้น ผู้ให้บริการที่ครองตลาดอยู่เดิมอาจจะต้องดำเนินกลยุทธ์ที่ช่วยสร้างการเติบโตมากขึ้น และจัดทัพองค์กรให้ “ลีน” พร้อมต่อสู้การแข่งขันและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันของสมรภูมิอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเป็นที่จับตาของหลายฝ่าย เนื่องจากการบุกตลาดของผู้ให้บริการหน้าใหม่ และการเติบโตอย่างรวดเร็วของบางแพลตฟอร์ม เช่น TikTok Shop คงส่งผลต่อทิศทางการดำเนินธุรกิจของเจ้าตลาดเดิมไม่มากก็น้อย