Lazada เตรียมสู้กลับศึกอีคอมเมิร์ซ

lazada
ภาพจาก : freepik

เข้าสู่ศักราชใหม่มาได้ไม่ถึง 2 สัปดาห์ วงการเทคโนโลยีก็มีประเด็นร้อนให้จับตาทันที เมื่อ “ลาซาด้า” (Lazada) ยักษ์แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซใต้ร่มเงาบิ๊กเทคสัญชาติจีนอย่าง “อาลีบาบา” (Alibaba) ประเดิมต้นปี 2567 ด้วยการปลดพนักงานระลอกใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการปลดพนักงานครั้งนี้มากที่สุด คือพนักงานฝ่ายคอมเมอร์เชียล ค้าปลีก และการตลาด

มุมมองกูรูอีคอมเมิร์ซ

“ภาวุธ พงษ์วิทยภาณุ” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TARAD.com ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว โดยอ้างอิงเนื้อหาจากโพสต์ของ “เอเดรียน โอ” (Adrian Oh) ผู้เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซในมาเลเซีย ในกลุ่มเฟซบุ๊ก “Modern Retail (MR)” เกี่ยวกับประเด็นการปลดพนักงานของ Lazada ไว้ดังนี้

1.Lazada ปลด Chief Marketing Officer (CMO) ทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว

2. 20% ของพนักงาน Lazada ในมาเลเซียโดนไล่ออก รวมถึง CEO และ CLO (Chief Logistics Officer)

3. ปิด LazMall ในเวียดนามด้วย

4. ตั้งใจที่จะลดกำลังคนประมาณ 30% ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากที่ผ่านมาจ้างพนักงานในภูมิภาคมากถึง 10,000 คน

การลดคนรอบล่าสุด “ภาวุธ” มองว่าเป็นสัญญาณของการเตรียมสู้กลับอีคอมเมิร์ซเจ้าอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น Shopee, TikTok และหน้าใหม่ที่กำลังจะเข้ามา เช่น Temu อย่างเต็มที่

ทั้งมองว่าการปรับตัวครั้งนี้ของ Lazada น่าจะกินเวลาไม่เกินไตรมาส 1-2 แล้วทุกอย่างน่าจะกลับมาเข้าสู่อัตราเร่งที่สามารถแข่งขันได้อย่างเต็มที่

ยักษ์อีคอมเมิร์ซแข่งดุ

รายงาน Ecommerce in Southeast Asia 2023 ของ Momentum Works บริษัทให้คำปรึกษาทางธุรกิจในสิงคโปร์ ระบุว่ายอดขายสินค้าโดยรวม (Gross Merchandise Value หรือ GMV) บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2565 มีมูลค่าอยู่ที่ 9.95 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โตจากปี 2563 ราว 1.8 เท่า

โดย ช้อปปี้ (Shopee) ครองส่วนแบ่งมากที่สุด 4.79 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือ Lazada 2.01 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Tokopedia ที่มีอินโดนีเซียเป็นตลาดหลัก 1.84 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

และเมื่อเจาะไปที่การแข่งขันรายประเทศ จะพบว่า Shopee และ Lazada ครองส่วนแบ่งอันดับ 1 และ 2 ในประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ส่วนในอินโดนีเซียจะพิเศษกว่าประเทศอื่นเล็กน้อย เพราะจากยอดขายสินค้าโดยรวมในปี 2565 ที่ 5.19 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ มี Shopee ครองส่วนแบ่งอันดับ 1 (36%) ตามด้วย Tokopedia (35%) และ Lazada (10%)

หมายความว่าอินโดนีเซียยังคงเป็นโจทย์สุดหินในการเจาะตลาดสำหรับ Lazada มิหนำซ้ำยังต้องเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น เมื่อในเดือน ธ.ค. 2566 TikTok เตรียมเข้าซื้อหุ้น 75.01% ของ Tokopedia ในราคา 840 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะอัดฉีดเงินลงทุนเพิ่มเรื่อย ๆ เพื่อขยายธุรกิจของ TikTok Shop ในอินโดนีเซียผ่านกิจการของ Tokopedia อีกด้วย

สแกนตลาดในไทย

รายงานของ Momentum Works เปิดเผยด้วยว่า ยอดขายสินค้าโดยรวมบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในไทย ปี 2565 อยู่ที่ 1.44 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมี Shopee ครองส่วนแบ่งมากที่สุด (56%) ตามมาด้วย Lazada (40%) และ TikTok Shop (4%)

เมื่อค้นข้อมูลผลประกอบการของทั้งสองแพลตฟอร์มที่ปรากฏอยู่ใน CredenData.co พบว่า ในปี 2565 Lazada หรือ บริษัท ลาซาด้า จำกัด มีรายได้ 20,675 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 413 ล้านบาท ส่วน Shopee หรือ บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด มีรายได้อยู่ที่ 21,709 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 2,380 ล้านบาท

ความท้าทายของการแข่งขันในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ยังมีตัวแปรสำคัญจากผู้เล่นหน้าใหม่ที่ทยอยเข้ามาบุกตลาดอย่างต่อเนื่อง และสร้างการเติบโตอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น TikTok Shop ที่ต่อยอดจากการเป็นแพลตฟอร์มคอนเทนต์ และเพิ่มฟีเจอร์ติดตะกร้า หรือการขายสินค้าแล้วรับส่วนแบ่งเป็นค่าคอมมิชชั่น ทำให้จำนวนคนขายสินค้าบนแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

หรือการเข้ามาของ Temu แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจาก Pinduoduo หนึ่งในผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน ที่ชูจุดเด่นสินค้าราคาถูกมากจนเริ่มบุกตลาดในสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ เป็นต้น