4 บริษัทเทคปลดคนสะบัด เขย่าขวัญต้นปี 2567

4 เทค-เลิกจ้าง
เผยแพร่ครั้งแรก : 11 มกราคม 2567
ปรับปรุงครั้งล่าสุด : 12 มกราคม 2567

4 บริษัทเทคโนโลยี “Xerox-Lazada-Amazon-Google” ประเดิมปี 2567 ปลดพนักงานหลายร้อยชีวิต ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน พร้อมจัดทัพองค์กรใหม่สู้ศึกการแข่งขันที่ร้อนแรงขึ้น

แม้จะเข้าสู่ศักราชใหม่มาได้ไม่ทันไร แต่ภาพรวมของวงการเทคโนโลยีก็ดูจะร้อนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อบริษัทเทคโนโลยีหลาย ๆ แห่งเริ่มปลดพนักงานระลอกใหม่ด้วยเหตุผลที่ต่างกันออกไป ตั้งแต่ปรับขนาดองค์กรและโครงสร้างการทำงานให้พร้อมต่อการทำงานที่รวดเร็วมากขึ้น ไปจนถึงตัดค่าใช้จ่ายบางส่วนเพื่อเพิ่มโอกาสในการทำกำไร

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวม 4 เหตุการณ์ปลดพนักงานของบริษัทเทคโนโลยีในช่วง 1-2 สัปดาห์มาสรุปไว้ดังนี้

Xerox เตรียมเลิกจ้างพนักงาน 15%

รายงานข่าวจากยักษ์เทคโนโลยีการพิมพ์ “ซีร็อกซ์” (Xerox) เปิดเผยว่า บริษัทประกาศแผนลดพนักงาน 15% ภายในไตรมาส 1/2567 โดยเอกสารที่ Xerox ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565 บริษัทมีพนักงาน 20,500 คน เท่ากับว่าจะมีพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างครั้งนี้ประมาณ 3,075 คน

“สตีเว่น แบนด์โรว์แซ็ก” (Steven Bandrowczak) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Xerox กล่าวในแถลงการณ์ว่า บริษัทจะปรับรูปแบบการดำเนินงานและโครงสร้างองค์กร เพื่อส่งเสริมการคิดค้นนวัตกรรมและสิ่งใหม่ ๆ ใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการพิมพ์ บริการระดับสากล และบริการด้านไอทีและดิจิทัล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น โดยให้ความสำคัญใน 3 ประเด็น ดังนี้

  1. การปรับปรุงและการรักษาเสถียรภาพของธุรกิจการพิมพ์
  2. การเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพผ่านการจัดตั้งหน่วยงานดูแลบริการธุรกิจระดับสากล
  3. การดำเนินการที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายรายได้

นอกจากนี้ Xerox ยังปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ และแต่งตั้งทีมผู้บริหารมือดีมาเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานรูปแบบใหม่ ซึ่งรายชื่อของผู้บริหารชุดใหม่เป็นดังนี้

  1. จอห์น บรูโน่ (John Bruno) ตำแหน่ง President & Chief Operating Officer
  2. เซเวียร์ เฮสส์ (Xavier Heiss) ตำแหน่ง Chief Financial Officer
  3. ลูอี ปาสเตอร์ (Louie Pastor) ตำแหน่ง Chief Transformation & Administrative Officer
  4. ดีน่า พิเควียน (Deena Piquion) ตำแหน่ง Chief Growth & Disruption Officer
  5. แจ็กส์-เอโดว์ เกอเด็น (Jacques-Edouard Gueden) ตำแหน่ง Chief Channel & Partner Officer
  6. เฟรด เบลจาส์ (Fred Beljaars) ตำแหน่ง Chief Delivery & Supply Chain Officer
  7. ซูซาน มอร์โน-เวด (Suzan Morno-Wade) ตำแหน่ง Chief Human Resources Officer
  8. ฟลอร์ โคลอน (Flor Colon) ตำแหน่ง Chief Legal Officer & Corporate Secretary
  9. คริส ฟิเชอร์ (Chris Fisher) ตำแหน่ง Chief Strategy Officer

Lazada ปลดพนักงานทั่วอาเซียน 30%

“ลาซาด้า” (Lazada) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซใต้ร่มบิ๊กเทคสัญชาติจีน “อาลีบาบา” (Alibaba) ประเดิมปี 2567 ด้วยการปลดพนักงานครั้งใหญ่ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นไทย สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือพนักงานฝ่ายคอมเมอร์เชียล ค้าปลีก และการตลาด

“ภาวุธ พงษ์วิทยภาณุ” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TARAD.com ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวโดยอ้างอิงเนื้อหาจากโพสต์ในกลุ่มเฟซบุ๊ก “Modern Retail (MR)” ของ “เอเดรียน โอ” (Adrian Oh) ผู้เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซในมาเลเซีย เกี่ยวกับการปลดพนักงานของ Lazada ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

  1. Lazada ปลด Chief Marketing Officer ทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว
  2. 20% ของพนักงาน Lazada ในมาเลเซียถูกไล่ออก รวมถึง CEO และ CLO (Chief Logistics Officer) ด้วย
  3. Lazada ได้ปิด LazMall ในเวียดนามแล้ว
  4. Lazada ตั้งใจที่จะลดกำลังคนประมาณ 30% ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากที่ผ่านมา จ้างพนักงานมากถึง 10,000 คน

นอกจากนี้ “ภาวุธ” ยังวิเคราะห์เพิ่มเติมด้วยว่า การลดคนและปรับโครงสร้างองค์กร หรือการปรับทัพใหม่ของ Lazada เป็นสัญญาณของการเตรียมสู้กลับอีคอมเมิร์ซเจ้าอื่นในท้องถิ่น เช่น Shopee, TikTok และเจ้าอื่น ๆ ที่กำลังจะเข้ามา เช่น Temu อย่างเต็มที่

“การปรับตัวครั้งนี้ของ Lazada น่าจะกินเวลาไม่น่าเกินไตรมาส 1-2 และทุกอย่างน่าจะกลับมาเข้าสู่อัตราเร่งที่สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้”

Amazon เลิกจ้างพนักงานธุรกิจ “สตรีมมิ่ง-คอนเทนต์”

ตัดภาพมาที่บิ๊กเทคระดับโลกอย่าง “แอมะซอน” (Amazon) ก็ประเดิมปี 2567 ด้วยการปลดพนักงานหลายร้อยชีวิตเช่นกัน โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือพนักงานฝ่ายบริการสตรีมมิ่งอย่าง Prime Video และส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Amazon MGM Studios สตูดิโอผลิตคอนเทนต์ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งบริษัทได้เริ่มส่งอีเมล์ไปยังพนักงานที่ได้รับผลกระทบแล้ว

“ไมก์ ฮอปกินส์” (Mike Hopkins) รองประธานอาวุโสของ Prime Video และ Amazon MGM Studios กล่าวในแถลงการณ์ว่า บริษัทได้ลดหรือยุติการลงทุนในบางปัจจัย เพื่อเพิ่มการลงทุนไปที่การผลิตเนื้อหาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าแทน

ที่ผ่านมา Amazon มีความพยายามที่จะปรับแผนธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับกลุ่มธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะธุรกิจสตรีมมิ่งและคอนเทนต์ ดังเช่นที่ผ่านมามีการลงทุนราว 465 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ของ “The Lord of the Rings : The Rings of Power” มาฉายบน Prime Video ในปี 2565 รวมถึงมีแผนที่จะเปิดตัวแพ็กเกจรวมโฆษณาบน Prime Video และปรับราคาการสมัครสมาชิกแบบไม่มีโฆษณาในราคาที่สูงขึ้นในบางตลาดด้วย

นอกจากนี้ “ทวิตช์” (Twitch) แพลตฟอร์มสตรีมเกมชื่อดังในเครือของ Amazon ก็มีการปลดพนักงาน 500 คน ซึ่งคิดเป็น 35% ของพนักงานทั้งหมดเช่นกัน โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า Twitch เผชิญกับปัญหาภายในองค์กรมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การลาออกของผู้บริหารระดับสูงหลายรายในช่วงปลายปี 2566 เช่น ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์, ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายลูกค้า, ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเนื้อหา และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายรายได้ ไปจนถึงปัญหาในเชิงของการสร้างรายได้

และที่ผ่านมา Twitch ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการให้บริการแพลตฟอร์มมาอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องรองรับการสตรีมวิดีโอ 1.8 พันล้านชั่วโมงต่อเดือน ส่งผลต่อต้นทุนการดำเนินงานมหาศาล แม้จะมีการพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานขั้นสูงของ Amazon แล้วก็ตาม และที่สำคัญตั้งแต่ Amazon เข้าซื้อกิจการของ Twitch เมื่อ 9 ปีก่อนยังไม่มีการสร้างผลกำไรเลย

ล่าสุดวันที่ 12 ม.ค. 2567 สำนักข่าว Business Insider รายงานด้วยว่า Amazon มีการปลดพนักงานในแผนก Audible หรือฝ่ายที่ดูแลธุรกิจหนังสือเสียงและพอดแคสต์เพิ่มอีก 5%

อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมา Amazon มีการปลดพนักงานไปมากกว่า 27,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเลิกจ้างงานด้านเทคโนโลยีครั้งใหญ่ในสหรัฐ หลังจากที่อุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาด

Google ปลดทีม “ฮาร์ดแวร์-Google Assistant”

และในวันนี้ (11 ม.ค.) สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า “กูเกิล” (Google) เตรียมปลดพนักงานหลายร้อยชีวิตในฝ่ายพัฒนา Google Assistant หรือผู้ช่วยสั่งการด้วยเสียง, ฝ่ายพัฒนาฮาร์ดแวร์สำหรับเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) และทีมวิศวกรรม เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงานภายในบริษัท

ตัวแทนของ Google กล่าวในแถลงการณ์ว่า ช่วงครึ่งหลังของปี 2566 บริษัทได้ทำการปรับโครงสร้างการทำงานบางส่วน และจัดสรรทรัพยากรให้สอดคล้องกับลำดับความสำคัญของกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ Google ต้องการโฟกัสมากที่สุดมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจของบริษัท

“การปรับโครงสร้างครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบางฝ่าย รวมถึงมีการตัดพนักงานบางตำแหน่งทั่วโลกด้วย”

รายงานข่าวระบุด้วยว่า พนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างครั้งนี้ เริ่มได้รับอีเมล์แจ้งการปลดตำแหน่งจากบริษัทแล้ว และจะมีโอกาสสมัครตำแหน่งงานอื่น ๆ ที่เปิดรับใน Google ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมา “อัลฟาเบต” (Alphabet) บริษัทแม่ของ Google ได้ประกาศว่าจะปลดพนักงานจำนวน 12,000 คน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 6% ของพนักงานทั่วโลก

นอกจาก 4 บริษัทที่กล่าวไปข้างต้น ยังมีบริษัทเทคโนโลยีที่ทยอยปลดพนักงานอีกเรื่อย ๆ เช่น พิกซาร์ (Pixar) สตูดิโอแอนิเมชั่นชื่อดังที่มีแผนเลิกจ้างในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่ยังไม่มีการประมาณตัวเลขแน่ชัดว่าจะเลิกจ้างเท่าใด และดิสคอร์ด (Discord) แพลตฟอร์มการสื่อสารแบบคอมมิวนิตี้ ที่ปลดพนักงานในแผนกต่าง ๆ ประมาณ 170 คน คิดเป็น 17% ของพนักงานทั้งหมด เป็นต้น