รู้จัก Taobao กับโอกาสใหม่ในตลาดจีน

taobao

ในยุคที่ช่องทางอีคอมเมิร์ซเข้ามามีบทบาทกับการดำเนินธุรกิจมากขึ้น คู่แข่งของผู้ประกอบการไทยไม่ได้อยู่แค่ในประเทศอีกต่อไป แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นโอกาสในขยายตลาดไปต่างประเทศของสินค้าไทยด้วยเช่นกัน

“กุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ” นายกสมาคมอีคอมเมิร์ซแห่งประเทศไทย เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า GDP ไตรมาสแรก 2567 ของจีนอยู่ที่ 29,629.9 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 5.3% ส่วนยอดการนำเข้า และส่งออกสินค้าอยู่ที่ 10,169.3 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 5.0% สะท้อนว่าการนำเข้า และส่งออกสินค้าโตต่อเนื่อง

กุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ

ขณะที่รายได้ต่อหัวของผู้อยู่อาศัยทั่วประเทศอยู่ที่ 11,539 หยวน (57,695 บาท) เพิ่มขึ้น 6.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจจีนยังขยายตัวต่อเนื่อง มาจากการให้ความสำคัญกับ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ภายในประเทศ เห็นได้จากนโยบาย World AI by 2030, นโยบาย Live Commerce กระจายสู่ทุกมณฑล ทุกชุมชน ชนบท, นโยบาย Metaverse Cities และนโยบาย CBEC Pilot Cross-border e-Commerce ซึ่งเศรษฐกิจดิจิทัลจะทำให้เกิดการกระจายรายได้ทั่วถึงทั้งประเทศ มีการแข่งขันทางการค้า ผู้เล่นไม่ผูกขาด เปิดกว้างกับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในทวีปเอเชียที่เป็นคู่ค้ากับจีนมายาวนาน ถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะเริ่มเข้าไปทำธุรกิจในจีน

แม้การแข่งขันในจีนจะดุเดือด แต่หลายมณฑลมี e-Industrial Parks ที่ต้องการให้บริษัทต่างประเทศเข้าไปเปิดธุรกิจ โดยทางการจีนจะช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ เช่น มณฑลเจ้อเจียง เฉิงตู และเสฉวน รวมถึงเมืองที่หลายคนคุ้นเคยอยู่แล้ว เช่น เซี่ยงไฮ้ หางโจว และเสิ่นเจิ้น

“กุลธิรัตน์” แนะนำว่า ผู้ประกอบการไทยควรเริ่มเปิดตลาดนักท่องเที่ยวจีนในไทย และทำการตลาดให้ครอบคลุมเป้าหมาย เช่น นักท่องเที่ยวจีนที่กำลังมาไทย นักท่องเที่ยวจีนที่อยู่ในไทย นักท่องเที่ยวจีนที่เคยมาไทยอย่างน้อย 1 ครั้ง และกลับไปจีนแล้ว และนักธุรกิจหรือผู้บริหารคนจีนที่อยู่ในไทย รวมถึงต้องรู้จักแอปพลิเคชั่นที่คนจีนใช้อยู่เป็นประจำ เพื่อทำการขายสินค้าได้อย่างตรงจุด เช่น Douyin (TikTok), Pindoudou, Meituan Dianping, Alipay, Baidu, Taobao, Tmall, JD, Weibo เป็นต้น

สำหรับ “เถาเป่า” (Taobao) น่าจะเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่คนไทยจำนวนไม่น้อยรู้จัก และคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี

ล่าสุดเมื่อเพจ Taobao Thailand ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับแพลตฟอร์ม Taobao ในเครืออาลีบาบา ประกาศว่าจะเปิดตัวเว็บเวอร์ชั่นภาษาไทย 100% เพื่อให้บริการดูแลคำสั่งซื้อ ตรวจสอบสินค้า และประสานการจัดส่งสินค้ากับแพลตฟอร์ม Taobao Official ปรากฏว่าได้รับความสนใจจำนวนมาก

จากรายงานของ Alizila ศูนย์ข่าวของเครืออาลีบาบา ระบุว่า Taobao เปิดตัวในปี 2546 เพื่อให้บริการผู้บริโภคชาวจีนในพื้นที่เมืองใหญ่ และเมืองเล็ก มีการพัฒนาประสบการณ์ซื้อสินค้าให้เข้ากับแต่ละบุคคลด้วยดาต้า และเทคโนโลยี โดยผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลของผลิตภัณฑ์ และเทรนด์ใหม่ ๆ ได้แบบเรียลไทม์ รวมถึงมีฟีเจอร์สำหรับการไลฟ์ และสร้างคอนเทนต์วิดีโอสั้นที่ช่วยให้ผู้ขายสื่อสารกับลูกค้าได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น

ส่วน Taobao Live เริ่มให้บริการในเดือน พ.ค. 2559 จากความสำเร็จของการถ่ายทอดสดงาน Alibaba’s 11.11 Shopping Festival โดยในปี 2563 สร้างยอดขายสินค้าโดยรวม (Gross Merchandise Value หรือ GMV) ได้ถึง 6.1หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรม KOLs (Key Opinion Leaders) หรือผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ของจีนเติบโตมากขึ้นด้วย

จุดเด่นที่สำคัญของ Taobao คือการสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กให้มีพื้นที่ในการขายสินค้า เห็นได้จากโครงการ “Taobao Village” หรือการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในชุมชนใช้อีคอมเมิร์ซเป็นเครื่องมือในการประกอบธุรกิจของตนเองได้ โดยชุมชนที่เข้าร่วมโครงการนี้จะต้องมีปริมาณการทำธุรกรรมต่อปีอย่างน้อย 10 ล้านหยวน และมีร้านค้าออนไลน์อย่างน้อย 100 ร้าน (10% ของครัวเรือนในหมู่บ้าน) ที่ขายสินค้าบน Taobao

รายงานจาก AliResearch กลุ่มธุรกิจวิจัยในเครืออาลีบาบาระบุว่า ในเดือน ส.ค. 2562 มี Taobao Village อยู่ที่ 4,310 หมู่บ้านจาก 25 จังหวัด โดยยอดขายรวมในรอบ 12 เดือน (สิ้นสุด ณ มิ.ย. 2562) อยู่ที่ 7 แสนล้านหยวน สร้างงานในจีนกว่า 6.8 ล้านตำแหน่ง ซึ่งจำนวนร้านค้าออนไลน์ที่ดำเนินการโดย Taobao Village ในปี 2561 มีอยู่ 660,000 ร้าน เพิ่มขึ้นจาก 70,000 ร้าน ในปี 2557

ในช่วงแรก Taobao ยังอำนวยความสะดวกให้ผู้ขายโดยเชื่อมต่อระบบการชำระเงินเข้ากับ “อาลีเพย์” (Alipay) และเปิดให้นำสินค้ามาขายบนเว็บไซต์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการเปิดร้านค้าออนไลน์ ทำให้สินค้ามีราคาถูก เพราะนอกจากจะลดต้นทุนค่าเปิดร้านยังเป็นการซื้อสินค้าโดยตรงจากผู้ผลิต เจ้าของโรงงาน และร้านค้าปลีกทั่วไป โดยมีรายการสินค้าบนแพลตฟอร์มกว่า 2 ล้านรายการ ครอบคลุมสินค้าทุกหมวดหมู่ เช่น สินค้าออริจินอล สินค้าจากแบรนด์ชั้นนำ พืชผลทางการเกษตร เป็นต้น

ปัจจุบัน Taobao ไม่ได้เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสำหรับสั่งซื้อสินค้าเท่านั้น แต่ยังเป็น “One-Stop Super App” ที่ครอบคลุมบริการต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการสั่งอาหาร จองตั๋วเครื่องบิน แพลตฟอร์มเพื่อความบันเทิง และพื้นที่สำหรับพูดคุยกับ KOLs คนโปรดอีกด้วย

ในหนังสือ “It’s Live Time รวยด้วย Live Commerce ทะลุล้าน” เขียนโดย “กุลธิรัตน์”ระบุว่า Taobao คือ

แพลตฟอร์มซื้อของออนไลน์ C2C ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิก ด้วยจำนวนผู้ใช้กว่า 892 ล้านคน ซึ่งกลุ่มผู้ใช้กว่า 70% เป็นคนรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 30 ปี ขณะที่ร้านค้าส่วนใหญ่เป็นร้านค้าท้องถิ่น ขนาดเล็กถึงกลาง ไปจนถึงร้านขายของมือสอง จึงเหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการลองตลาดในประเทศจีน และต้องการเพิ่มการรับรู้ของแบรนด์