กสทช. ยิ้มร่า ประมูล USO พื้นที่ชายขอบประหยัดงบได้ 624 ล้านบาทจากราคากลาง 1.3 หมื่นล้าน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 – 2 สิงหาคมที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดประมูลโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน ภายใต้งบประมาณ 13,614.62 ล้านบาท

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า การจัดประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) เมื่อวันที่ 1 และ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา ดำเนินการไปอย่างเรียบร้อย ไม่มีข้อทักท้วงใดๆ โดยผลการประมูลทั้งหมด 8 สัญญา รวมมีราคาต่ำกว่าราคากลาง และทำให้ กสทช. ประหยัดงบประมาณไปได้ 624 ล้านบาท

โดยสัญญาที่ 1 ติดตั้งและให้บริการบรอดแบนด์ พื้นที่ภาคเหนือ 1 วงเงิน 2,857 ล้านบาท ผู้เสนอราคาต่ำสุดด้วย วงเงิน 2,812 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 45 ล้านบาท

สัญญาที่ 2 ติดตั้งบรอดแบนด์ในพื้นที่ภาคเหนือ 2 วงเงิน 2,123 ล้านบาท เสนอราคาต่ำสุด 2,103 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 20 ล้านบาท

สัญญาที่ 3 ติดตั้งบรอดแบนด์ในพื้นที่ภาคอีสาน วงเงิน 2,542 ล้านบาท เสนอราคาต่ำสุด 2,492 ต่ำกว่าราคากลาง 50 ล้านบาท

สัญญาที่ 4 ติดตั้งบรอดแบนด์ในพื้นที่ภาคกลางและใต้ วงเงิน 1,888 ล้านบาท เสนอราคาต่ำสุด 1868 ต่ำกว่า 20 ล้านบาท

สัญญาที่ 5 การติดตั้งโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ พื้นที่ภาคเหนือ 1 วงเงิน 2,120 ล้านบาท ผู้เสนอราคาต่ำสุด 1,889 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 230 ล้านบาท

สัญญาที่ 6 การติดตั้งโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ พื้นที่ภาคเหนือ 2 วงเงิน 904 ล้านบาท ผู้เสนอราคาต่ำสุด 786 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 117 ล้านบาท

สัญญาที่ 7 ติดตั้งโครงข่ายมือถือในพื้นที่ภาคอีสาน วงเงิน 641 ล้านบาท ผู้เสนอราคาต่ำสุด 532 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 108 ล้านบาท

สัญญาที่ 8 ติดตั้งโครงข่ายมือถือในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ วงเงิน 536 ล้านบาท ผู้เสนอราคาต่ำสุด 504 ล้านบาท ต่ำกว่า 32 ล้านบาท

“ผมก็ยังไม่ทราบว่าใครชนะบ้าง ยกเว้นคนที่เข้าประมูลด้วยกัน เพราะต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ โดยจากนี้จะนำเข้าบอร์ด กสทช. ให้อนุมัติให้ได้เร็วที่สุด เพื่อให้ลงนามในสัญญาจ้างภายในเดือนสิงหาคม เพื่อเปิดให้บริการในเดือนธันวาคมนี้ ไม่น้อยกว่า 15% ของ 3,920 หมู่บ้าน”

สำหรับโครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการ USO ของ กสทช. ในการจัดให้มีบริการสาธารณะอย่างทั่วถึงในพื้นที่ห่างไกล โดยประชาชนในพื้นที่เป้าหมายจะได้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วไม่ต่ำกว่า 30 Mbps ฟรีเป็นเวลา 5 ปี โดยโครงการได้กำหนดจุดให้บริการไว้คือ ในโรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล จุดให้บริการฟรีไวไฟในพื้นที่สาธารณะ รวมถึงมีศูนย์ USO net ที่มีทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์และผู้ดูแลศูนย์ที่คอยให้ความรู้ด้านการใช้งานให้กับประชาชน อีก 763 แห่ง