แชตบอต “โปลิศน้อย” เปิดทางออกให้เหยื่อความรุนแรงในครอบครัว

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2561บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น “ดีแทค” ได้เปิดเวทีเสวนา “การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลครั้งแรกในประเทศไทย กรณีศึกษาความรุนแรงในครอบครัว” โดยเป็นการเปิดตัวแชตบอต “โปลิศน้อย” ซึ่งเป็น 1 ใน 10 โครงการ “ดีแทคพลิกไทย” ที่เชื่อว่าเทคโนโลยีจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ และปัจจุบันกำลังเปิดรับบริจาคเพื่อรวมพัฒนาระบบผ่านเว็บไซต์เทใจ (www.taejai.com)

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยว่า สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวยังทวีความรุนแรง ในปี 2559พบว่ามีคดีความรุนแรงในครอบครัวที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ถึง466 คดี รุนแรงถึงแก่ชีวิตถึง 83% และจากการศึกษาเชิงลึกพบว่า 30 – 40% มีการดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้น รองไปคือยาเสพติดและการพนัน

“ประเด็นการฆ่ากันในครอบครัวมีเพิ่มสูงขึ้น บางสัปดาห์มีมากกว่า 2ราย เป็นปัญหาความรุนแรงที่มาก สถิติที่หน่วยงานรัฐเก็บไว้มีผู้หญิงถูกทำร้ายปีละกว่า 2 หมื่นราย และยังมีที่ไม่เข้ามาแจ้งความเยอะมาก ยิ่งสถิติการถูกฆ่ามีเพิ่มขึ้นเป็น 300กว่าราย โดยเฉพาะการฆ่ากันโดยใช้อาวุธปืนมีเยอะขึ้น กลายเป็นสังคมมีความชินชากับความรุนแรงประเภทนี้มากขึ้น สิ่งที่พบคือการสำรวจในราชทัณฑ์พบว่า ผู้กระทำผิดเติบโตในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง”

แม้ปัจจุบันกลไกเยียวยาและให้ความช่วยเหลือจะดีขึ้น มีศูนย์พักพิงครบทุกจังหวัด แต่มีผู้หญิงเข้ามาพึ่งพิงน้อยมาก เพราะแนวคิดสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ยังถูกตอกย้ำมาตลอด โดยเฉพาะความรุนแรงยังเป็นเรื่องภายในครอบครัว ถูกเปลี่ยนช้ามาก ทำให้ผู้หญิงยังคงทนแม้จะถูกทำร้ายมาตลอด บางเคสที่กว่าจะเข้ามาหาทางมูลนิธิคือทนเป็น 10 ปี  ขณะเดียวกันความรุนแรงในครอบครัวไม่ได้มีแค่ผู้หญิงที่เป็นเหยื่อ เริ่มมีผู้ชายรวมถึงชายรักชาย

พ.ต.ท.หญิงเพรียบพร้อม เมฆิยานนท์ อาจารย์จากสถาบันส่งเสริมงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้พัฒนาโครงการโปลิศน้อย  เปิดเผยว่า สถิตความรุนแรงที่มีต่อผู้หญิงจากงานวิจัยของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย พบว่า แต่ละปีมีผู้หญิงถูกข่มขืนถึง 300,000 ราย นั่นหมายถึงเกิดขึ้นในทุก 15 นาที แต่มีเพียง 4,000 รายเท่านั้นที่เข้าแจ้งความกับตำรวจ และมีเพียง 2,400คดีเท่านั้นที่ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดี

“ปัญหาจากประสบการณ์การเป็นพนักงานสอบสวน คือ เข้ามาแบบเงียบๆและจากไปแบบเงียบๆ เพื่ออยากได้กระดาษใบหนึ่งที่ระบุว่าเขาถูกทำร้ายร่างกาย  หลายคนเลือกไม่ทำอะไรกับผู้ชายเพราะยังต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจ”

ขณะเดียวกันในกระบวนการของตำรวจ มักจะมีอคติทางเพศ หากไปอยู่ในมือตำรวจผู้ชายจะมองว่า ทะเลาะกันเดี๋ยวก็ดีกัน หรือทำเป็นคดีตกลงร่วมกันทะเลาะวิวาทสั่งปรับทั้งคู่ ทัศนคติที่ชายเป็นใหญ่ยังคงอยู่เยอะมาก

“ความยุติธรรมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องไปจบที่ศาลทุกเรื่อง บางคนไม่ได้ต้องการให้สามีติดคุก แค่ต้องการส่งสามีไปบำบัดให้เลิกเหล้า ซึ่งก็มีช่องทางให้ติดต่อขอความช่วยเหลือตรงนี้ได้”

จุดเริ่มต้นการพัฒนาโปลิศน้อย คือเห็นคอลเซ็นเตอร์ใช้แชตบอตมาตอบคำถามให้ลูกค้า  ขณะเดียวกันก็พบว่า ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนก็จะมีชุดคำถามเดิมๆ ที่จะมีสอบถามกันในกลุ่มตำรวจ  และด้วยปัญหาเกี่ยวกับเด็กและสตรี มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อน จึงคิดจะนำแชตบอตมาใช้ช่วยตอบคำถามต่างๆ จากเดิมที่คิดว่าจะทำเป็นคู่มือเฉพาะตำรวจ แต่เห็นว่าควรจะเผยแพร่ให้เด็กและสตรีมีความรู้เพื่อเป็นอาวุธในการตัดสินใจใช้ชีวิต รวมถึงเข้าไปติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ จึงพัฒนาเป็นแชตบอตระบบเปิด

โดยปัจจุบันได้พัฒนาการตอบชุดคำถามต่างๆ ของ “โปลิศน้อย” ได้ระดับหนึ่งแล้ว กำลังจะนำไปฝังตัวในเฟซบุ๊กแมสเซนเจอร์ และมีเปิดเป็น LINE Account ที่จะให้คนที่สนใจเข้ามาสอบถามปัญหาต่างๆ ได้ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบกับทางเฟซบุ๊ก กับ LINE  คาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ปลายเดือน ส.ค. นี้  แต่ปัจจุบันมีระบบต้นแบบเปิดทดลองแล้วที่เพจ “โปลิศน้อย” ซึ่งในทุกคำถามจะถูกนำไปประมวลเก็บข้อมูลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งมีชุดคำถามมากยิ่งช่วยให้แชตบอตมีทักษะที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

““บางครั้งเมื่อเราเจออะไรหนักๆ กับมนุษย์ ก็ไม่อยากจะคุยกับมนุษย์อีกแล้ว การได้ระบายกับสิ่งอื่นอย่างแชตบอตก็สามารถระบายได้เต็มที่ถ้าถึงจุดหนึ่งก็สามารถแนะนำให้ไปคุยกับผู้ที่ผ่านการอบรมมีทักษะที่จะรับมือได้ดีขึ้น”