เปิดมุมมองกูรูสตาร์ตอัพ “แพลตฟอร์ม” ไม่ใช่สูตรสำเร็จ

เป็นอีกงานใหญ่ประจำปีสำหรับสตาร์ตอัพ “Techsauce Global Summit” ที่เปิดเวทีรวบรวมทั้งสตาร์ตอัพ และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องในวงการมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อช่วยกันสร้างระบบนิเวศให้กับสตาร์ตอัพได้เติบโตอย่างยั่งยืน

หนึ่งในเวทีที่น่าสนใจ คือ “Race for Platformation in Asia” ที่ฉายภาพโอกาส ความท้าทาย และอุปสรรคของการพัฒนาแพลตฟอร์มฮิต ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของเหล่าสตาร์ตอัพจำนวนไม่น้อย

ฐานลูกค้าคือจุดเริ่มต้น

“อริยะ พนมยงค์” กรรมการผู้จัดการ ไลน์ ประเทศไทย ระบุว่า 7 ปีของ LINE ได้ก้าวจากการเริ่มต้นเป็นแค่แอปพลิเคชั่นส่งข้อความ กลายเป็นแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ด้วยผู้ใช้กว่า 44 ล้านราย ซึ่งปัจจุบันมีทั้ง LINE TV, LINE Giftshop, LINE @, LINE Games, LINE Pay

“บริษัทไม่ควรตั้งเป้าหมายในการเป็นแพลตฟอร์ม แต่แพลตฟอร์มจะเกิดได้เมื่อสร้างฐานผู้ใช้ที่มากพอ และนำเอาข้อมูลของลูกค้าไปพัฒนาเป็นบริการต่อไป”

ขณะที่ “เอเจย์ กอร์” หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) ของ Go-Jek สตาร์ตอัพดาวรุ่งจากอินโดนีเซียกล่าวว่า เริ่มต้นธุรกิจจากการขนส่งอาหาร โดยดึงดูดผู้ใช้ด้วยความง่ายและสะดวก ทำให้มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นจำนวนมาก และจากการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคเหล่านี้ Go-Jek ได้เห็นโอกาสที่จะเข้าไปทำตลาดใหม่ โดยตั้งแต่ ม.ค.ปี 2560 Go-Jek มียอดดาวน์โหลด 30 ล้านครั้ง และในปี 2561 Go-Jek มีบริการแบบออนดีมานด์ถึง 18 บริการรวมในแพลตฟอร์มเดียว ภายในสิ้นปีนี้ Go-Jek มีแผนที่จะขยายไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไม่ได้มองว่าจะเข้าไปแข่งขันกับใคร แต่เป็นการเริ่มต้นเพื่อช่วยคนในท้องถิ่นนั้น ๆ

“ในตอนเริ่มต้นเราไม่มีเงินทุนมากมาย และด้วยการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นเราต้องทำการบ้านอย่างหนักเพื่อให้เข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคก่อนที่จะสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมา ดังนั้น ความท้าทายของสตาร์ตอัพในเอเชีย คือ แต่ละประเทศมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ดังนั้น ต้องศึกษาตลาดท้องถิ่นของแต่ละประเทศให้ได้มากที่สุด ก่อนจะเริ่มต้นทำแพลตฟอร์ม”

เน้นร่วมมือไม่ทำเองทุกอย่าง

ด้าน “เกรซ หยุน เซีย” ผู้อำนวยการ Jungle Ventures บริษัทร่วมลงทุนในสตาร์ตอัพจากสิงคโปร์กล่าวว่า ธุรกิจขนาดใหญ่หลายรายรู้ดีว่าไม่สามารถทำงานได้ด้วยตัวคนเดียว เช่น วีแชต (WeChat) ที่เปลี่ยนตัวเองจาก closed-loop ไปสู่ open-loop สตาร์ตอัพด้วยการเป็นพาร์ตเนอร์กับสตาร์ตอัพอื่น เพื่อเพิ่มบริการในด้านต่าง ๆ เช่น คมนาคม, ธุรกรรมทางการเงิน ดังนั้นกลุ่มธุรกิจจำเป็นต้องมีพาร์ตเนอร์ ซึ่งการได้ร่วมงานกับบริษัทขนาดใหญ่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี

“แต่ต้องคำนึงด้วยว่าในทุก ๆ ธุรกิจไม่สามารถที่จะเป็นพาร์ตเนอร์กับทุกคน VC (venture capital) หวังว่าสตาร์ตอัพจะประสบความสำเร็จและยั่งยืนได้ด้วยการเป็นแพลตฟอร์ม แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นแพลตฟอร์มเองถ้ามองว่าไม่มีตลาดรองรับ VC ไม่สามารถลงทุนในสตาร์ตอัพใหม่ ๆ ได้ทั้งหมด เช่นเดียวกับบริษัทใหญ่ ๆ ก็ไม่สามารถร่วมมือกับสตาร์ตอัพที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ทั้งหมด ดังนั้น สิ่งสำคัญคือต้องพิจารณาความเข้ากันได้ระหว่างสองฝ่ายว่าไปด้วยกันได้ไหม ไม่อย่างนั้นจะทำให้เสียเวลา เสียทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์”

“อริยะ” กล่าวเสริมว่า LINE เองไม่ได้ทำทุกอย่างเอง บางฟีเจอร์ก็ร่วมกับสตาร์ตอัพพัฒนาเพิ่ม ล่าสุดได้ร่วมกับสตาร์ตอัพไทยในการทำ LINE job อย่างไรก็ตาม มองว่าประเทศที่มีศักยภาพในการทำแพลตฟอร์มก็คือ ประเทศจีน ที่ปัจจุบันเป็นผู้นำในการผลักดันแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ เนื่องจากจำนวนผู้ใช้งานที่มีมหาศาล

ด้าน “อราคิน รักษ์จิตตาโภค” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานพัฒนาบริการแอปพลิเคชั่นโทรคมนาคมและเครือข่าย บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า ต่อให้บริษัทจะใหญ่ขนาดไหน ยังไงก็จำเป็นที่จะต้องร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ ซึ่งสตาร์ตอัพถือเป็นจุดสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ โดยบริษัทใหญ่จะเป็นเหมือนโครงสร้างพื้นฐานให้กับสตาร์ตอัพที่จะเข้าไปช่วยด้านเทคนิค

แพลตฟอร์มยังไม่ใช่ทุกสิ่ง

CTO ของ Go-Jek กล่าวว่า การเข้าไปแก้ปัญหาถือว่าเป็นโอกาสของสตาร์ตอัพในแต่ละภูมิภาค เพราะบริษัทใหญ่ต้องการที่จะเข้ามาร่วมมือกับสตาร์ตอัพที่มีความรู้ความเข้าใจตลาดท้องถิ่นของตนเองเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม สตาร์ตอัพไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปเป็นแพลตฟอร์ม เพราะบางครั้งการเปลี่ยนแปลงอาจไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น ควรทำความเข้าใจที่จะแก้ปัญหาโดยเลือกทางที่ดีที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องเป็นแพลตฟอร์ม

อย่าแค่ก๊อปปี้ Silicon Valley

ขณะที่อีกเวที “The DigitalEntrepreneurial Ecosystems : What are the key ingredients ?” ได้ฉายภาพอย่างชัดเจนว่า การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาของสตาร์ตอัพควรจะเป็นอย่างไร โดย “ทาวี รอยวาส” (Taavi Roivas) อดีตนายกรัฐมนตรีของเอสโตเนีย ประเทศที่บริการภาครัฐกว่า 99% อยู่ในระบบดิจิทัล ซึ่งประชาชนสามารถใช้งานได้จริง แม้แต่การเลือกตั้งกล่าวว่า เอสโตเนียได้ลงทุนขนานใหญ่ด้านการศึกษาตั้งแต่เมื่อ 26 ปีที่ได้รับอิสรภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนจะเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยี ทั้ง ๆ ที่ยังเป็นยุคที่การใช้งานคอมพิวเตอร์ไม่ใช่เรื่องง่าย และด้วยความต้องการที่จะเปลี่ยนประเทศสู่ดิจิทัล รัฐบาลต้องมีความเข้าใจถึงปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นสกุลเงินดิจิทัลเทรนด์ gig economy รวมถึงการออกกฎหมายที่เอื้อต่อการก้าวไปสู่ดิจิทัลในโลกที่ไร้กระดาษ

ด้าน “Paul Papadimitriou” ผู้ก่อตั้งและ CEO of Intelligencer กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่การพัฒนาระบบนิเวศสำหรับสตาร์ตอัพไม่ประสบความสำเร็จเพราะรัฐบาลต้องการจะสร้าง “Silicon Valley” อีกแห่งขึ้นมา แต่กลับมองข้ามกระบวนการดึงดูดคนที่มีความสามารถ (talent) ด้านไอทีเข้ามาทำงานด้วย ที่สำคัญคือ ควรให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อต่อผู้ประกอบการ อาทิ กฎหมายแรงงานและกฎหมายล้มละลาย ไม่ใช่จำกัดบทบาทแค่เป็นแหล่งเงินสนับสนุนเท่านั้น