ภาษีธุรกิจออนไลน์ กำลังจะบุกบัญชีธนาคารคุณ (จบ)

คอลัมน์ Pawoot.com

โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

หากกฎหมายนี้ออกมาจริง ๆ บรรดา SMEs น่าจะระส่ำและที่น่ากังวลมาก คือ ธนาคารทั้งหลายต้องทำระบบต่าง ๆ เพื่อรองรับ ต้องคอยดักข้อมูลส่งให้สรรพากร เชื่อว่าต่อไป สรรพากรเองก็มีงานล้นมือ

ถ้าออกมาจริงจะมีอยู่สองส่วน คือ คนกลุ่มหนึ่งจะเข้าสู่ระบบ ซึ่งผมว่าดี และเห็นด้วยว่าการทำธุรกิจต่าง ๆ ควรทำให้ถูกต้อง แต่ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยมี mindset ที่หลายคนพยายามหลบเลี่ยง หรือบอกว่าตนเองเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ไม่เสียภาษีได้ไหม เพราะการเสียภาษีทำให้ต้นทุนธุรกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งจริง ๆ แล้วหากไปดูในต่างประเทศอย่างญี่ปุ่น หรือประเทศที่พัฒนา เขามองชัดเจนว่า เมื่อใดก็ตามที่ทำธุรกิจและมีรายได้เข้ามา ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐ

มันเป็นมุมมอง หรือ mindset ที่คนในประเทศต่าง ๆ เขารู้อยู่แล้ว แต่ในไทยกลับมีแนวความคิดจะหลบเลี่ยง

ฉะนั้น ผมว่าถ้าจะทำจริง ๆ ต้องทำให้เกิดความเสมอภาค และพยายามทำให้เกิด mindset ในลักษณะที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง

ถ้าทำกันจริงจัง คนไทยอาจเปลี่ยน mindset เรื่องการเสียภาษีไปเลยก็ได้

จริง ๆ ผมแอบสนับสนุนอยู่นิด ๆ ด้วยเช่นกัน แต่แอบกังวลว่ากฎหมายตัวนี้จะเป็นกฎหมายที่บั่นทอนอะไรบางอย่าง ในขณะที่แบงก์ชาติ หรือภาครัฐเองก็ดี กำลังพยายามกระตุ้นให้คนเข้าสู่โลกออนไลน์ เช่น ให้ใช้
โมบายแบงกิ้ง พร้อมเพย์ QR code แต่ พ.ร.บ.นี้จะทำให้คน หรือร้านค้าต่าง ๆ ไม่อยากใช้ เพราะยิ่งใช้ จะยิ่งสร้างเส้นทางทางการเงินให้เห็น และจะไปถึงจุดที่ธนาคารต้องส่งข้อมูลให้กับสรรพากรตรวจสอบ

ในอีกมุม การค้าขายก็ควรต้องเสียภาษี มันอาจดูยุ่งยากในช่วงเริ่มต้น นั่นหมายถึงการทำบัญชีต่าง ๆ ต้องทำอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นผลดีกับธุรกิจด้วยซ้ำไป เพราะการทำธุรกิจไม่ได้มีการวางระบบ ไม่เห็นตัวเลข ทำให้การบริหารจัดการก็ค่อนข้างจะมั่ว แต่ถ้ามีการทำบัญชีที่ดี เชื่อว่าจะช่วยให้วางแผนธุรกิจได้ชัดเจนมากขึ้น

เรื่องภาษีหากมีการวางแผนภาษี หรือ tax planning ดี ๆ อาจทำให้เสียภาษีน้อยลง และถูกกฎหมายได้ด้วยเหมือนกัน

ที่สำคัญ ในแง่ของเอกชน หากเห็นว่ากฎหมายใดก็ตามที่ออกมาแล้วมีผลกระทบ ควรลองแสดงความเห็น เพราะมีการทำประชาพิจารณ์อยู่ หรือลองคุยกับองค์กร หรือหน่วยงานที่มีการรวมตัวกัน เช่น ในกลุ่ม สมาคม ชมรม ที่เป็นอุตสาหกรรมเดียวกัน

ลองรวมตัวกันส่งเสียงออกมา หรือทำหนังสือหรือข้อเสนอแนะไปยังภาครัฐได้ เพื่อภาครัฐจะได้ฟังว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หากออกกฎหมายมา เพียงแต่ควรต้องทำให้เป็นกิจจะลักษณะที่ให้เห็นว่าผลกระทบนั้นเกิดกับคนหมู่มากครับ