เอไอเอส-ทรูเร่งเจรจาพิพาท ปั้นโมเดลสางปมสัมปทานตามรอยดีแทค

ค่ายมือถือเร่งเจรจาระงับพิพาทตามรอย “ดีแทค” วงในชี้ “เอไอเอส-ทรูมูฟ” เริ่มดีลโค้งท้าย อีก 2-3 เดือนพร้อมคลอดโมเดลระงับข้อพิพาทระดับแสนล้านแบบต่างตอบแทน ไม่ต้องควักเงินสด ย้ำ “เจ็บแต่จบ” ช่วยปิดความเสี่ยงอนาคต แต่ยังพร้อมใจไม่ยอมเจรจา “ภาษีสรรพสามิต-ส่วนแบ่ง IC” รอศาลชี้ขาด เหตุมูลค่าพิพาทสูง

 

แหล่งข่าวภายใน บมจ.ทีโอที เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทยังมีข้อพิพาทที่เกิดขึ้นภายใต้สัญญาสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส

(เอไอเอส) ที่ยังค้างคาอยู่ แม้ว่าสัมปทานจะสิ้นสุดไปตั้งแต่ 30 ก.ย. 2558 ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาเพื่อหาข้อยุติ ตามแนวทางของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีมติให้เร่งเจรจาแก้ไขปัญหาข้อพิพาทกับเอกชน เพื่อให้มีการบริหารจัดการทรัพย์สินตามสัมปทานให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้

พิพาทแสนล้าน

โดยก่อนหน้านี้เมื่อ 5 ม.ค. 2561 ทั้งทีโอทีและกลุ่มเอไอเอสจะได้ลงนามในสัญญาเช่าเครื่องและอุปกรณ์เพื่อให้บริการโทรคมนาคม และสัญญาการใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศระบบ 2100 MHz ซึ่งทำให้ “เอไอเอส” มีสิทธิ์เข้าเป็นพันธมิตรใช้งานคลื่นย่าน 2100 MHz แลกกับการจ่ายค่าโรมมิ่งหมื่นกว่าล้านบาท และการลงทุนขยายโครงข่ายกว่า 20,000 สถานี ให้ทีโอทีเช่าใช้

ขณะที่มูลค่าข้อพิพาทสำคัญที่ “ทีโอที” ยื่นฟ้องเอไอเอส อยู่ที่ราว 1.74 แสนล้านบาท ส่วนที่ “เอไอเอส” ฟ้องทีโอที อยู่ที่ 19,954.12 ล้านบาท ซึ่งข้อพิพาทที่มีมูลค่าใหญ่สุด คือ กรณีการแก้ไขสัญญาครั้งที่ 6 และ 7 ที่ ป.ป.ช.มีมติให้เอไอเอสกลับไปจ่ายส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาหลัก โดยทีโอทีได้เรียกให้จ่ายเงินเพิ่มอีก 62,773.95 ล้านบาท ซึ่งยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของสถาบันอนุญาโตตุลาการ

สำหรับตลอดอายุสัมปทาน 25 ปีของเอไอเอส ได้จ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับ บมจ.ทีโอที กว่า 2.4 แสนล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินสัมปทานที่ส่งมอบแล้ว ราว 1.86 แสนล้านบาท

“เอไอเอส-ทีโอที” ใกล้ยุติ

ด้านแหล่งข่าวภายในวงการโทรคมนาคมเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การยุติข้อพิพาทระหว่าง “ทีโอที-เอไอเอส” อาจจะได้ข่าวดีใน 2-3 เดือนนี้ เช่นเดียวกับข้อพิพาทระหว่าง บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) กับ “ทรูมูฟ” แต่รูปแบบการชำระค่าตอบแทนการยุติข้อพิพาท อาจจะไม่ได้เป็น “เงิน” ก้อนใหญ่เหมือนที่ดีแทคจ่าย

ส่วนหลักการสำคัญจะยึดแบบเดียวกับ “ดีแทค” คือ เป็นการทำสัญญาระงับข้อพิพาท ที่จะไม่รวมข้อพิพาทเรื่องส่วนแบ่งรายได้ที่เกี่ยวกับภาษีสรรพสามิต และข้อพิพาทเรื่องส่วนแบ่งรายได้ที่เกี่ยวกับค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (ค่า IC) เพราะเป็นข้อพิพาทที่มีมูลค่าสูง ควรต้องให้ศาลตัดสิน

โดยข้อพิพาทเกี่ยวกับภาษีสรรพสามิตของ “เอไอเอส-ทีโอที” อยู่ที่ 3.14 หมื่นล้านบาท ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีมติไม่รับคำอุทธรณ์ของทีโอที ทำให้คดีถึงที่สุด และเอไอเอสไม่ต้องจ่ายเงินจำนวนดังกล่าว ส่วน “แคท” ฟ้องให้บริษัท ดิจิตอล โฟน (ดีพีซี) ผู้รับสัมปทานซึ่งเป็นบริษัทในเครือเอไอเอส จ่าย 3.41 พันล้านบาท คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

ขณะที่ “ดีแทค” มีข้อพิพาทเกี่ยวกับภาษีสรรพสามิตกับแคท 2.31 หมื่นล้านบาท

“การทำสัญญาระงับข้อพิพาทเป็นการปิดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากปัญหาเก่า ๆ ในคดี เพื่อเริ่มต้นเดินหน้าทำธุรกิจต่อไปอย่างไม่ต้องกังวล และจะได้จับมือเป็นพันธมิตรกับเจ้าของสัมปทาน สร้างโอกาสธุรกิจใหม่ ๆ ได้ ซึ่งบางรายยอมจ่ายค่าตอบแทนเยอะเพราะความเสี่ยงสูง ส่วนที่เหลือก็พยายามเจรจาเพื่อหาทางออกให้ดีที่สุด โดยเฉพาะวิธีการต่างตอบแทนที่ไม่ต้องควักจ่ายเป็นเงิน”

สัมปทานดีแทค 1.26 แสนล้าน

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงภายใน บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) กล่าวว่า ตลอดสัมปทาน “ดีแทค” จ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับแคทราว 1.26 แสนล้านบาท ส่วนการทำสัญญาระงับข้อพิพาทกับ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เป็นไปตามมติ ครม. และ คนร. ทั้งบอร์ดของแคทยังได้พิจารณาเห็นชอบแล้วว่า ไม่ได้ทำให้รัฐเสียประโยชน์ ทั้งในส่วนที่บอร์ดดีแทคเพิ่งอนุมัติเมื่อ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจะจ่ายค่าตอบแทนเพื่อการระงับข้อพิพาทให้แคท เป็นเงิน 9,510 ล้านบาท กับส่วนของเสาและอุปกรณ์โทรคมนาคม ที่ลงนามไปเมื่อ 14 ก.ย. 2561 ซึ่งจ่ายค่าเช่าให้แคทปีละ 1.6 พันล้านบาท

เร่งเจรจา “ทรูมูฟ-ดีพีซี”

ในส่วนข้อพิพาทกับ “ทรูมูฟ” และ “ดิจิตอล โฟน” (ดีพีซี) ซึ่งเป็นอีก 2 ผู้รับสัมปทานให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากแคท ซึ่งสัมปทานสิ้นสุดไปตั้งแต่ 15 ก.ย. 2556 กำลังอยู่ในกระบวนการเจรจาระงับข้อพิพาทเช่นกัน แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ว่าจะได้ข้อยุติเมื่อใด

โดยในส่วนของข้อพิพาทเสาโทรคมนาคม เมื่อปลาย ต.ค. 2561 บอร์ดแคทมีมติเห็นชอบการระงับข้อพิพาทส่วนนี้กับบริษัท ทรูมูฟ จำกัด แล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการยกร่างสัญญาที่เกี่ยวข้อง โดย “ทรูมูฟ” จะโอนเสาตามสัญญาสัมปทานทั้งหมดคืนให้ ก่อนจะทำสัญญาเช่าใช้เสาเป็นรายปี เป็นโมเดลเดียวกับที่ “ดีแทค” ทำสัญญากับแคทเมื่อ 14 ก.ย. 2561 แต่ข้อพิพาทอื่นกำลังอยู่ระหว่างเจรจา

พิพาท “แคท” ทะลุ 6 หมื่นล้าน

สำหรับข้อพิพาทสำคัญระหว่างแคทกับ “ทรูมูฟ” มี 15 คดี ซึ่งมีทั้งที่อยู่ในกระบวนการของอนุญาโตตุลาการ และศาลปกครอง แบ่งเป็น “ทรูมูฟ” ฟ้องแคท 1 คดี เรียกให้คืนผลประโยชน์ตอบแทนที่คิดจากฐานรายได้ที่เกิดจากค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) 1.18 หมื่นล้านบาท และ “แคท” ฟ้องทรูมูฟ 14 คดี รวมมูลค่าพิพาท 5.81 หมื่นล้านบาท

ส่วน “ดีพีซี” มีข้อพิพาทสำคัญราว 8 คดี มูลค่ารวม 1.71 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 8.7 พันล้านบาท เกี่ยวกับการดำเนินการในช่วงสัมปทาน กับอีก 8.39 พันล้านบาท ที่เป็นค่าเช่าโครงข่ายในช่วงเยียวยาลูกค้าหลังสิ้นสุดสัมปทานตามประกาศของ กสทช.

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!