อีคอมเมิร์ซไทยทะลุ 3 ล้านล้าน สพธอ.สยายปีกโครงสร้างใหม่ดันเต็มสูบ

สพธอ.ปรับโครงสร้างรับกฎหมายใหม่ พร้อมเดินหน้าดันตลาดอีคอมเมิร์ซไทยให้ยิ่งเติบโต หลังปีཹ มูลค่ากว่า 3.15 ล้านล้านบาท เติบโต 14% คาดปีนี้บูมอีก 20% ทะลุ 3.8 ล้านล้านบาท แนะผู้ประกอบการไทยติดอาวุธด้วย big data-AI สร้างจุดต่างรับแข่งเดือด ชี้ตื่นตัวแต่ยังลงทุนต่ำล้าน 

 

สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กำลังรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเมื่อมีผลบังคับจะใช้เป็นการยกระดับสถานะของ สพธอ. จากที่เป็นองค์กรที่ตั้งโดยพระราชกฤษฎีกา ให้เป็นองค์กรที่มี พ.ร.บ.ก่อตั้งของตนเองทั้งยังมีหน้าที่เพิ่มในฐานะเป็นเลขานุการของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐาน กำกับดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมฯ ตามกฎหมาย วิเคราะห์และรับรองมาตรฐานต่าง ๆ

“ภารกิจจะเพิ่มขึ้น ในการออกมาตรฐานทางเทคนิค การกำกับดูแล อาทิ ดิจิทัลไอดี รวมถึงผลักดันอีคอมเมิร์ซเข้มข้นขึ้นอีก ซึ่งเป้าหมายระยะสั้นที่วางไว้คือการซัพพอร์ตให้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เป็นของคนไทยยังเดินหน้าต่อไปได้ หลังจากมีแพลตฟอร์มต่างชาติทุ่มลงทุนแข่งขันในตลาดอย่างรุนแรง”

เบื้องต้นจะรับพนักงานอีกราว 20 คน ทั้งในด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อรองรับงานด้านเทคนิคที่จะเพิ่มขึ้นอีคอมเมิร์ซไทย 3.8 ล้านล้าน

สำหรับผลการสำรวจมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยล่าสุดพบว่า ปี 2561 มีมูลค่า 3.15 ล้านล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 14.04% โดยแบ่งเป็นมูลค่าตลาดแบบ B2G (การค้าระหว่างธุรกิจกับภาครัฐ)5.72 แสนล้านบาท โตขึ้น 15.50% ตลาด B2B (การค้าระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ) 1.71 ล้านล้านบาท โต 13.55% ตลาด B2C (ธุรกิจกับผู้บริโภค) 8.65 แสนล้านบาท เติบโต 14.04%

“อีคอมเมิร์ซไทยโดยเฉพาะตลาด B2C ถือว่าใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยไทยมีมูลค่าราว 24.70 พันล้านเหรียญสหรัฐ มาเลเซีย 19.41 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ถ้าเป็นตลาด B2B สิงคโปร์ยังเป็นตลาดที่ใหญ่กว่าประเทศไทย สพธอ.จึงตั้งเป้าจะผลักดันให้ตลาด B2B ของไทยเติบโตมากขึ้น”

ขณะที่ปี 2562 คาดว่ายังเติบโตอีก 20% ไปอยู่ที่ 3.8 ล้านล้านบาท จากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น พฤติกรรมผู้บริโภคที่เชื่อมั่นในการซื้อขายออนไลน์มากขึ้น จากกลุ่มคนวัยดิจิทัลที่เติบโตมากับเทคโนโลยีหรือแม้แต่กลุ่มผู้สูงวัยที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ที่ทำให้ค่าบริการถูกลง และส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคได้รวดเร็วขึ้น

“ข้อมูลที่น่าสนใจคือ รูปแบบการชำระเงิน ที่แม้บัตรเครดิต/เดบิตจะยังเป็นอันดับ 1 ที่ 42.69% แต่อันดับ 2 คือ จ่ายเงินผ่านอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งและโมบายแอป 27.23% ซึ่งเป็นการยอมให้หักเงินออกจากบัญชีได้ทันที แสดงถึงความคุ้นเคยและเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการซื้อ”

แข่งเดือด-เลี่ยงออนไลน์ไม่พ้น

ที่สำคัญคือการเข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ในรูปแบบ O2O (offline to online) ซึ่งล้วนมีแบรนด์ที่แข็งแกร่งช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในการซื้อสินค้ามากขึ้น อาทิ กลุ่มเซ็นทรัลที่เปิด JD.co.th

“การแข่งขันในตลาดอีคอมเมิร์ซยังรุนแรง จากข้อมูลที่สำรวจพบว่า แพลตฟอร์มรายใหญ่อย่างช้อปปี้และลาซาด้า ใช้งบฯลงทุนด้านการตลาดมากกว่า 100 ล้านบาทต่อปี เพื่อชิงมาร์เก็ตแชร์ในไทยให้ได้ ซึ่งการจะอยู่ให้รอดท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดแบบนี้ ผู้ประกอบการต้องหาจุดต่างของตัวเองและเข้าถึงลูกค้าให้ได้มากที่สุด”

ปี 2561 พบว่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทย ในกลุ่มเอ็นเตอร์ไพรส์ (มีรายได้เกิน 50 ล้านบาท) มีมูลค่า 1.97 ล้านล้านบาท เติบโต 8.70% ส่วน SMEs (รายได้ต่ำกว่า 50 ล้านบาท) มีมูลค่า 6.07 แสนล้านบาท เติบโต 20.39%

โดยกลุ่มเอ็นเตอร์ไพรส์ ทำตลาดผ่านเฟซบุ๊ก 30.61% กูเกิลและยูทูบ 29.93% ไลน์ 14.29% สื่อโฆษณาออนไลน์ไทย 13.61% และเสิร์ช 7.48% ขณะที่ 46.15% ใช้งบฯการตลาดทั้งปีน้อยกว่า 1.2 ล้านบาท 23.07% น้อยกว่า 6 ล้านบาท 15.38% ใช้น้อยกว่า 120 ล้านบาท และ 7.69% ใช้มากกว่า 120 ล้านบาทต่อปี

ส่วน SMEs นิยมทำตลาดทางออนไลน์ถึง 69.92% โดยใช้เงินกับเฟซบุ๊กมากสุดถึง 93.94% ทั้งรูปแบบของการ boost post และ boost ads เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าและตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น รองลงมาเป็นไลน์ 3.09% กูเกิล 1.48% ยูทูบ 1.34% อินสตาแกรม 0.15% และเสิร์ช 0.01%

Big Data-AI ยังลงทุนน้อย

อีกสิ่งที่จะสร้างความแตกต่างได้คือ การนำ big data มาใช้ รวมถึง AI (ปัญญาประดิษฐ์) ซึ่งในต่างประเทศเริ่มใช้มานานแล้ว แต่ในไทยพบว่า กลุ่มเอ็นเตอร์ไพรส์มีความตื่นตัว ในการใช้แต่ยังลงทุนด้านนี้น้อยเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการต่างประเทศที่ลงทุนด้านนี้มหาศาล และกลายเป็นอาวุธสำคัญในการทำตลาด

โดยส่วนของ big data 46.15% ลงทุนน้อยกว่า 1 ล้านบาท และ 100% ใช้วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อนำเสนอสินค้าใหม่ ๆ 92.85% ใช้ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคอย่างแม่นยำและวางแผนการตลาด

ส่วน AI มีเอ็นเตอร์ไพรส์ 76.93% ที่นำมาใช้แล้ว แต่ 38.46% ยังลงทุนน้อยกว่า 1 ล้านบาท 23.07% ลงทุนราว 1-5 ล้านบาท โดย 69.23% ใช้ช่วยในการให้บริการลูกค้า เช่น chatbot, CRM 23.07% ใช้ด้านอื่น เช่น claim analytics, underwriting, notification

“สิ่งที่ผู้ประกอบการกังวลและอยากให้รัฐช่วยเหลือคือ ด้านนวัตกรรมที่ไทยยังด้อยและทำให้อยู่ยากในตลาดขึ้นทุกวัน เช่น อาจจะมีเงินกองทุนสนับสนุน การป้องกันการทุ่มตลาดของผู้ประกอบการต่างชาติ และระบบภาษีที่ชัดเจนและเป็นธรรมกับทั้งรายเล็กรายใหญ่ ซึ่งทั้งหมดก็เป็นงานที่ สพธอ.ต้องเร่งผลักดันให้รัฐบาลเห็นความสำคัญ”

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!