กสทช.ประวิทย์ย้ำรีบไป5G ระวังติด “กับดัก”

ดัน 5Gกันอย่างเต็มสูบ โดยเฉพาะฝั่งสำนักงาน กสทช. ในขณะที่ฝั่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือบอร์ด กสทช. ยังไม่ได้มีทีท่าที่ชัดเจนมากนัก

ยกเว้น “กสทช.” เสียงข้างน้อยอย่าง “ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา”  กสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ  หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ตั้งคำถามว่า กับการใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช. ที่ 4/2562 ( กสทช. “ประวิทย์” ตั้งคำถาม “ม. 44” เอื้อรัฐ เอื้อเอกชน หรือเอื้อประชาชน? )

ล่าสุดได้ออกมาย้ำอีกครั้งถึง “กับดัก 5G และบทเรียนของทีวีดิจิทัล”

โดย กสทช. “ประวิทย์” ระบุว่า  สถานการณ์ทีวีดิจิทัล สรุปแบบชาวบ้านคือ “เกิดผิดเวลา” หลายฝ่ายสรุปตรงกันว่า  ทีวีดิจิทัลในประเทศไทยคลอดมาในยุคขาลงของธุรกิจทีวี ยิ่งมีช่องรายการเพิ่มจากเดิม 6 สถานีมาเป็น 24 สถานี ทำให้รายได้ถูกหารเฉลี่ยลดลงกันถ้วนหน้า สิ่งที่ขาดหายไปในการเปลี่ยนผ่านทีวีอนาล็อกมาเป็นทีวีดิจิทัลคือการประเมินสภาพตลาด ธุรกิจเป็นขาลงแต่จำนวนช่องรายการกลับเพิ่มขึ้น ทำให้การลงทุนไม่สอดคล้องกับสภาพตลาดที่แท้จริง

ขณะนี้เราก็กำลังเร่งรีบก้าวสู่ 5Gจนใช้ ม. 44 ทำคลอดการจัดสรรคลื่น 700 MHz แต่เราประเมินสภาพตลาดดีแล้วจริงหรือ การประเมินที่ผิดพลาดจะทำให้ธุรกิจ5G เกิดผิดเวลาและอาจประสบชะตากรรมไม่ต่างจากทีวีดิจิทัลก็เป็นได้

การพยายามปั้นตัวเลขว่า ไทยจะได้ประโยชน์จาก 5G เป็นมูลค่า2.33 ล้านล้านบาทใน 15 ปีข้างหน้า ทำให้ 5G หอมหวานจนลืมพิจารณาสภาพความจริงในปัจจุบันไปหรือไม

เมื่อเดือนกันยายน 2018 สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศหรือITU ได้เผยแพร่เอกสารในช่วงการประชุม ITU Telecom World เตือนว่า “The Needs for 5G is not immediate” – ความจำเป็นของ 5Gไม่ใช่ในขณะนี้

หากจะทำคลอด 5G ควรมีSpectrum Roadmap ที่ชัดเจน ควรมีการทดลองทดสอบการประยุกต์ใช้ 5G เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมให้เกิดความต้องการใช้งาน และรายได้หลักของ 5G นั้นเกิดในเขตเมือง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล คุณภาพบริการในเขตชนบทจึงเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวัง และที่สำคัญ4G ยังเป็นบริการที่ต้องให้ความสำคัญทั้งในด้านความครอบคลุมและคุณภาพบริการ สอดคล้องกับการคาดการณ์ของ GSMA ที่ประมาณว่า ในอีก 15 ปีข้างหน้า 4Gยังมีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า40% และจะมีคุณสมบัติที่ดีกว่า 4Gในปัจจุบันยิ่งขึ้นไปอีก

GSMA ยังได้เผยแพร่รายงานในเดือนธันวาคม 2018 ว่า เมื่อประมาณผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไทยจะได้รับจาก 5Gในอีก 15 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 4 แสนล้านบาท และ 25%เกิดจากการใช้งานคลื่นความถี่สูงมากหรือ mmWave เราจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับคลื่นย่านต่างๆ ของเทคโนโลยี 5G อย่างครบถ้วน มิเช่นนั้น 5G อาจล้มเหลว

การพยายามเร่งจัดสรรคลื่น 700 MHz สำหรับ 5G ในเดือนมิถุนายนนี้ จะทำให้เกิดสภาพการเกิดผิดเวลา เพราะคลื่น 700 MHz เหมาะกับการเพิ่มความครอบคลุมสัญญาณ ไม่ใช่การเพิ่มความเร็วระดับกิกะบิตหรือการตอบสนองที่ฉับไว จึงไม่ทำให้ไทยก้าวสู่ยุค 5Gและปัจจุบันยังไม่มีอุปกรณ์หรือบริการ 5G บนคลื่นนี้อย่างแท้จริง แต่กลับทำให้ค่ายมือถือแบกต้นทุนค่าคลื่นล่วงหน้าหลายปี นอกจากนี้ ไทยยังไม่เคยมีการทดลองทดสอบ5G บนคลื่น 700 MHz เลย

ความเร็วและการตอบสนองที่ฉับไวของ 5G จะเกิดจากคลื่นย่าน C-band และ mmWave เป็นหลัก เพราะมีปริมาณคลื่นความถี่มากกว่า โดยปริมาณคลื่นที่เหมาะแก่การให้บริการ 5G ในช่วง C-band อยู่ที่ 80-100 MHz และในช่วง mmWave อยู่ที่ 800-1000 MHz ต่อผู้ให้บริการ 1 ราย ซึ่งเทียบกับย่าน 700 MHz ที่ไทยจะจัดสรรนั้นจะได้กันไม่เกินรายละ 2 X 15 MHz

การจะนำประเทศไทยก้าวสู่ 5Gโดยเป็นที่หนึ่งในอาเซียนอย่างแท้จริง คือการเตรียมคลื่น C-bandและ mmWave และจัดทำRoadmap 5G ให้พร้อมจัดสรรภายในปี 2021 และต้องประเมินสภาพตลาดที่แท้จริงว่า ความต้องการใช้งาน 5G มีเพียงพอและคุ้มค่าที่จะลงทุนเมื่อใด เพื่อไม่ให้เกิดต้นทุนจมก่อนเวลา จนนำไปสู่ปัญหาการประกอบธุรกิจ

การทยอยปล่อยคลื่นทีละย่านความถี่สู่ตลาดอย่างสะเปะสะปะ จะทำให้อุตสาหกรรมพิกลพิการ และได้ 5G เทียมที่ไม่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง เมื่ออุตสาหกรรมแบกต้นทุนจากการจัดสรรคลื่นโดยขาดการวางแผน ในอนาคตก็จะเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือไม่มีวันจบสิ้น

เราจึงต้องประเมินสภาพตลาดและออกแบบตลาด 5G ให้เหมาะสมก่อนลงมืออย่างรีบเร่ง

ม.44 ที่ออกมาจึงไม่ได้แก้ปัญหาการติดกระดุมผิดเม็ด แต่อาจทำให้กระดุมติดผิดเม็ดมากขึ้นไปอีก และเพื่อรักษาหน้าผู้ออกคำสั่ง เราอาจจะได้ 5G เทียมๆ บนคลื่น 700 MHz ใช้งานไปพลางๆ ก่อน โดยที่คุณภาพไม่ได้แตกต่างจากเดิมเลย เพื่อที่จะประกาศได้ว่า เราเป็น 5Gก่อนใครในอาเซียน