ล้ำกว่าแอปแชทไปไกลมาก! “Life on LINE” ครบทั้งปล่อยกู้-ซื้อขายหุ้น-มาร์เก็ตติ้งออนไลน์-เสิร์ช-ที่ปรึกษา กม.-รีวิว ฯลฯ

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา “LINE” ได้เผยวิสัยทัศน์ใหม่บนเวที “LINE CONFERENCE 2019” ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดย “ทาเคชิ อิเดซาว่า” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เปิดตัวแอปส่งข้อความ LINE ในปี 2554 LINE ได้มุ่งมั่นให้บริการด้านการสื่อสารที่ผู้ใช้สามารถเพลิดเพลินและรู้สึกสะดวกสบายในตลอดการใช้งาน ด้วยแนวทางการให้บริการที่ครบครันทั้งการให้บริการที่หลากหลายและการให้ข้อมูลด้านคอนเทนต์ รวมไปถึงการพัฒนาสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่

พร้อมประกาศวิสัยทัศน์ธุรกิจของ LINE จากนี้คือ “LIFE ON LINE” เดินหน้าเป็นตัวช่วยทุกชีวิตที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนในทุกมิติ

“จุงโฮ จิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม (CWO) ได้กล่าวถึงแนวคิดของการส่งมอบคุณค่าจากบริการของ LINE ภายใต้แนวคิด “WOW” ที่มีแก่นสำคัญ คือ นวัตกรรม มุ่งหน้าสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมด้วย Lifestyle Innovation ที่จะมอบประสบการณ์ใหม่ที่ไม่เกิดเคยขึ้นมาก่อนให้กับผู้ใช้งานทุกคน โดยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในพื้นฐานการดำเนินชีวิตของผู้ใช้งาน (Life Infrastructure) ที่นำประโยชน์จากนวัตกรรมใหม่มาสนับสนุนทุกช่วงเวลาในแต่ละวันของผู้ใช้งานให้มีประสิทธิภาพ ง่าย และ สะดวกยิ่งขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน

ภายใต้ 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ “Offline”, “Fintech” และ “AI” ที่จะขับเคลื่อน “LIFE ON LINE” ให้เกิดขึ้นจริง ด้วยการผสานโลกดิจิทัลและโลกจริงให้กลายเป็นหนึ่งเดียว ด้วยแนวคิด OMO (Online Merges with Offline)

โดยบนเวที “LINE CONFERENCE 2019” มีการเปิดตัวบริการใหม่ของ LINE เยอะมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเริ่มให้บริการที่ประเทศญี่ปุ่นก่อนเป็นหลัก อาทิ “VISION” คอนเทนต์วีดีโอแนวตั้งที่จะปรากฏขึ้นบนแท็ปของ LINE NEWS ที่เปิดโอกาสให้ครีเอเตอร์ได้ร่วมสร้างสรรค์ไอเดีย เพื่อ มุ่งที่จะเป็นมากกว่าแพลตฟอร์มด้านข่าวสาร แต่จะเป็นแพลตฟอร์มคอนเทนต์สำหรับสื่อชั้นนำทุกรูปแบบทั้งโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์

LINE Stickers Premium จ่ายค่าสมาชิกรายเดือนแล้วซื้อสติกเกอร์จาก creator stickers ได้ไม่อั้น (240 เยน/เดือน แถมมีเรทนักเรียน นักศึกษา 120 เยนต่อเดือน)

LINE STEP ที่ต่อยอดจากการเปิดตัว แอปรีวิวอาหาร LINE CONOMI โดยจะเป็นบริการที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถโพสต์รีวิวและค้นหาร้านอาหารและแหล่งบันเทิงต่างๆ โดยตั้งเป้าจะเชื่อมโยงกับ LINE Search บริการค้นหาผ่านฐานข้อมูลทั้งหมดของ LINE ที่ใช้วิธีการที่ดีที่สุดในการให้ข้อมูลแก่ผู้ใช้

และไม่ใช่แค่คอนเทนต์ด้านความบันเทิง แต่ยังเตรียมเปิด LINE ASK me แพลตฟอร์มแบบ one-on-one ที่จะบริการให้คำปรึกษาด้านต่างๆ โดยเฉพาะกฏหมาย กับผู้ใช้งานผ่านทาง LINE และยังมี Talk CARE บริการจากผู้เชี่ยวชาญหลายแขนง รวมถึง Talk Fortune ที่เชื่อมโยงผู้ใช้กับหมอดูกว่า 1,000 คน

นอกจากนี้ยังเปิดบริการ Live Streaming บน LINE ให้ LINE LIVERs สร้างคอนเทนต์สดๆ แถมมีช่อง Premium Channel ให้จ่ายค่าบริการรายเดือนสำหรับชม Live แบบเอ็กคลูซีฟ และมี LIVE Commerce ให้ช้อปปิ้งสินค้าระหว่างชม Live ได้ แชทถามข้อมูลสินค้าได้

และยังมี Commerce Platform ที่ประกอบด้วย LINE Shopping, LINE Delima และ LINE Travel ที่จะค้นหาร้านค้า แหล่งท่องเที่ยวที่พักต่างๆ ที่อยู่ใกล้กับผู้ใช้งาน

ขณะเดียวกันยังมี Marketing Solution Platform ภายใต้แนวคิด “Life-marketing Platform” ช่วยเพิ่ม touchpoint กับผู้ใช้ และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และเกี่ยวข้องให้กับผู้ใช้อย่างมากที่สุด มี LINE Ads Platform สำหรับ Publisher

และบริการที่ผู้ใช้ในไทยจะมีโอกาสได้ใช้บริการในไม่กี่เดือนนี้คือ คือ “ช่องทางอัจฉริยะในการแสดงโฆษณาวิดีโอ” ซึ่งจะแสดงที่ด้านบนของแชท LINE และเมื่อผู้ใช้แตะที่ภาพโฆษณาบนแบนเนอร์ จะสามารถขยายเพื่อเล่นวิดีโอทำให้ผู้โฆษณาสามารถส่งเนื้อหาที่หลากหลายไปยังผู้ใช้ ซึ่งก่อนหน้านี้ในญี่ปุ่นใช้สำหรับการส่งข้อมูลเตือนภัยพิบัติต่างๆ ด้วย

รวมถึงบริการ OpenChat ที่ผู้ใช้ชาวไทยจะได้ใช้งานในปีนี้ เปิดให้สร้างกลุ่มเฉพาะตามความสนใจ มีฟังก์ชั่นพิเศษให้ admin กลุ่มจะตอบรับให้ใครเข้ามาร่วมสนทนาเพิ่มเติม และยังสามารถสร้างรหัสในการเข้าร่วม ขณะที่ผู้ใช้งานก็เปลี่ยนชื่อที่แสดงในแต่ละกลุ่มต่างกันไปได้ และดูข้อความย้อนหลังที่เกิดขึ้นก่อนเข้าร่วมเป็นสมาชิกก็ได้

ที่เด็ดสุดบนเวที (แต่ยังไม่รู้ว่าคนไทยจะได้ใช้เมื่อใด) น่าจะเป็นการประกาศจะเปิด “บริษัทหลักทรัพย์ LINE” ที่ญี่ปุ่นภายในปีนี้ ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนของ LINE Financial กับ Nomura Holdings ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ LINE ซื้อขายหุ้นได้จากแอปพลิเคชั่น โดยจะมีการรวบรวมหุ้นที่คัดสรรจากบริษัทชั้นนำ 100 แห่งในญี่ปุ่นและอนุญาตให้ผู้ใช้เริ่มต้นลงทุนขั้นต้นที่ 150 เยน (ขั้นต่ำ) ถึง 3,000 เยน (เฉลี่ย) ต่อหุ้น

นอกจากนี้ยังเตรียมเปิดบริการสินเชื่อส่วนบุคคล โดยไม่ต้องใช้หลักประกัน “LINE Pocket Money” ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้ LINE Credit บริษัทร่วมทุนระหว่าง LINE Financial, Mizuho Bank Ltd. และ Orient Corporation โดยจะให้บริการสินเชื่อที่คิดอัตราดอกเบี้ยและวงเงินสินเชื่อประจำปีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ใช้แต่ละรายโดยพิจารณาจากคะแนน LINE Score ซึ่งเป็นโมเดลการให้สะสมแต้ม ทั้งยังมีทั้งโปรโมชั่น ดีลสุดพิเศษ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่แบ่งชัดเจนตามแต่จำนวนแต้มของผู้ใช้งานแต่ละคน

เรียกว่าเป็นการต่อยอด Mobile Payment Platform ที่ LINE ได้ให้บริการผ่านบริการกระเป๋าเงินดิจิทัล LINE Pay ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการมากกว่า 48 ล้านคนทั้งในประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และไทย โดยในประเทศไทย มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเพิ่มชึ้นจาก 3.1 ล้าน เป็น 6 ล้านคน

โดย LINE ตั้งเป้าจะเป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินและธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย 

และด้วยเป้าหมายที่จะก้าวเข้ามาใกล้ชิดผู้คนมากขนาดนี้ “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE” จึงย้ำว่า ตลอดเวลาการให้บริการของ LINE นอกจากพัฒนาเทคโนโลยีแล้วยังควบคู่ไปกับการสร้างกฏเกณฑ์การทำงานที่ยึดตามหลักกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป (GDPR )และกฎระเบียบเฉพาะของประเทศต่าง ๆ รวมถึงการให้คำอธิบายข้อมูลแก่ผู้ใช้ถึงการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลอย่างรัดกุมและเข้มงวด ซึ่งนอกเหนือจากการปฏิบัติตามกฎระเบียบแล้ว LINE ยังได้เปิดเผยรายงานความโปร่งใสเกี่ยวกับวิธีการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการ LINE ได้อย่างปลอดภัย และให้ความสำคัญของการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรก

ทั้งหมดนี้ คือ สิ่งที่จะส่งให้ LINE เป็นมากกว่าแอปสนทนาแต่จะมุ่งหน้าสู่การเป็น Lifestyle Infrastructure ซึ่งคือความท้าทายครั้งสำคัญที่จะปฏิวัติความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ LINE และสร้างปรากฏการณ์ใหม่สู่การยกระดับชีวิตของผู้คน สู่ความสะดวกสบายที่มากกว่า และเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ใหม่ขององค์กรที่ว่า “LIFE ON LINE”