2020 ค้าปลีกยุคใหม่ รับมือดิสรัปต์อย่างไรให้รอด !

Photo : FB Priceza Insights

ค้าปลีกคือหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในเวที Priceza e-Commerce Summit 2020 ได้ฉายภาพของธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่

“วรวุฒิ อุ่นใจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีธุรกิจหลักอย่างร้านค้าปลีกแบรนด์ “ออฟฟิศเมท” และ “บีทูเอส” ได้กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจการค้าปลีกปีที่ผ่านมา ไม่สดใสมากนัก จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ GDP ลดจากที่ประมาณการเมื่อต้นปี 3.1 เหลือเพียง 2.6

ขณะที่ปี 2563 ธุรกิจค้าปลีกค่อนข้างสาหัสเพราะมีหลายปัจจัย ฉะนั้น ใครปรับตัวสู่ digital economy สำเร็จ คนนั้นไปต่อได้ ที่น่าเป็นห่วงคือคนที่อยู่ใน sector เดิม หรือ business model แบบเดิม ฉะนั้นจึงต้องปรับตัวให้เท่าทันเทคโนโลยี นอกจากนั้นคือการปรับตัวโดยการใช้ data base เพราะธุรกิจในอนาคตจะขับเคลื่อนด้วย data

“ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกไม่ได้กลัวธุรกิจออนไลน์ แต่กลัวของหนีภาษีจากธุรกิจออนไลน์ ซึ่งมีค่อนข้างมาก สินค้าที่นิยมส่วนใหญ่ในออนไลน์ คือ สินค้าประเภท lifestyle”

Omnichannel Retail

ขณะที่เทรนด์ของค้าปลีกยุคใหม่ที่ต้องก้าวให้ทัน คือ omnichannel retail หมายถึง ถ้าขายออนไลน์เพียงอย่างเดียว คือ single channel ถ้าขายออนไลน์ด้วยและค้าปลีกด้วย เป็น multichannel แต่ถ้าจะเป็น omnichannel retail ออนไลน์ จะต้อง simulate operation and data หมายความว่า ถ้าลูกค้าจะซื้อออนไลน์แล้วจะขอคืนของที่หน้าร้าน โดยตรวจดูได้จาก data ว่ามี data base ร่วมกัน ทุกอย่างต้องเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะในด้านของข้อมูล

“ในส่วนของออฟฟิศเมท มีการแก้ปัญหามาแล้วหลายปี มีการออกโมเดลที่ชื่อว่า omnichannel franchise ซึ่งในอนาคต ออฟฟิศเมทก็คงไม่ขยายสาขาเอง แต่จะใช้แฟรนไชส์เป็นตัวขยายสาขา แฟรนไชส์ของออฟฟิศเมทนั้นจะเป็นแฟรนไชส์แบบ omnichannel คือ ถึงแม้แฟรนไชส์จะมีขนาดเล็ก แต่ก็สามารถขายสินค้าได้เหมือนคลังสินค้าของออฟฟิศเมท เพราะมีการขายออนไลน์ที่หน้าร้านด้วย ถ้าสินค้าอะไรที่ลูกค้ามาหาที่หน้าร้านแล้วไม่เจอ ก็สามารถสั่งสินค้าทางออนไลน์ได้ omnichannel franchise ถือเป็นการปลดล็อกการค้าปลีกในอดีต จากที่มีของเท่าไหร่ก็ขายไปเท่านั้น เปลี่ยนเป็นขายของได้มากกว่าที่มีอยู่หน้าร้านในระยะยาว เพราะผู้ประกอบการรายใหญ่ถึงแม้จะเติบโตขึ้น แต่ก็ไม่ได้รังแกผู้ประกอบการรายย่อย และสามารถมาเป็นพันธมิตรร่วมกันได้”

ส่วนฝั่งของ “บีทูเอส” มีการปรับตัวอย่างมาก มีการเปลี่ยนสินค้าที่อยู่ในร้าน และจากเดิมขายแต่หนังสือ ก็มาสร้างส่วนที่เป็นกิจกรรมเพิ่มเข้ามา เรียกว่า play & learn โดยใช้โมเดลแบบ think space เพื่อรับกับความนิยมในหนังสือ และเอ็นเตอร์เทนเมนต์อย่างซีดี หนัง และเพลง ที่ลดลง

“แผงแมกาซีนของบีทูเอสที่เซ็นทรัลเวิลด์ ต้องลดขนาดลงเรื่อย ๆ เมื่อเพิ่มส่วนของกิจกรรมเข้ามา ในปีล่าสุดถึงแม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ค่อยดีนัก แต่การเติบโตของบีทูเอสนั้นเพิ่มขึ้นถึง 10% และมีการทำกำไรเพิ่มขึ้นด้วย”

ฉะนั้น สิ่งสำคัญในการรับมือกับค้าปลีกยุคใหม่ คือ การใช้ data นำมาใช้วิเคราะห์และปรับปรุงธุรกิจให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภค และเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะระบบบัญชีที่ดีและถูกต้อง ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของ data