กสทช.เคาะ 4 คลื่น ประมูล 5G มั่นใจ เม.ย.’63 คนไทยได้ใช้ก่อนญี่ปุ่น

“กสทช.” เดินหน้าจัดเต็มประมูล 5G ครบ 4 ย่านคลื่น รื้อวิธีประมูลจากมัดรวมแพ็กเป็นการไล่เคาะราคาทีละย่านคลื่น พร้อมยืดเวลาจ่ายเงินประมูล 26 GHz มั่นใจ เม.ย.ปีหน้า กดปุ่มเปิดใช้งาน 5G ในไทยได้แน่บางพื้นที่ แซงหน้าญี่ปุ่น

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช. (24 ธ.ค. 62) เห็นชอบให้เดินหน้าจัดประมูล 5G ที่จะจัดเคาะราคาในวันที่ 16 ก.พ. 2563 ทั้งย่าน 700 MHz, 1800 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz

“บมจ.กสท โทรคมนาคม ได้ทำหนังสือขอให้ยืนยันประมูลคลื่น 700 MHz กสทช.จึงนำคลื่นย่านนี้ออกมาประมูลด้วย แต่รูปแบบการเคาะราคาได้เปลี่ยนจากที่เป็นการประมูลแบบมัลติแบนด์ ให้เป็นการเคาะราคาประมูลทีละคลื่นความถี่ แต่ยังคงใช้การประมูลแบบ clock auction”

กรอบเวลาในการประมูลมีดังนี้ วันที่ 27 ธ.ค. 2562 จะประกาศหลักเกณฑ์เผยแพร่บนราชกิจจานุเบกษา และวันที่ 2 ม.ค. 2563-3 ก.พ. 2563 ประกาศเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจเข้าประมูล วันที่ 4 ก.พ. 2563 เปิดให้ยื่นซองเอกสารแสดงความจำนงเข้าร่วมประมูล วางหลักประกัน ก่อนเคาะราคา 16 ก.พ. 2563

สำหรับคลื่นที่นำออกประมูล ได้แก่ ย่าน 700 MHz มี 3 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาทต่อชุด เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 440 ล้านบาท จ่ายเงินค่าประมูลแบ่ง 10 งวด งวดละ 10% ต้องวางหลักประกันการประมูล 2,637.60 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด 1,319 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูล ส่วนความถี่ 1800 MHz มี 7 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 12,486 ล้านบาทต่อชุด ประมูลได้สูงสุด 4 ชุด เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 25 ล้านบาท แบ่งชำระ 3 งวด งวดที่ 1 ชำระ 50% ของราคาที่ชนะ งวดที่ 2 ชำระ 25% งวดที่ 3 ชำระ 25% ต้องวางหลักประกัน 4,994.40 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด 1,873 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูล ผู้ชนะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 40% ของประชากรใน 4 ปี และ 50% ของประชากรภายใน 8 ปี

และคลื่น 2600 MHz มี 19 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาทต่อชุด ประมูลได้สูงสุด 10 ชุด เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 93 ล้านบาท แบ่งจ่าย 7 งวด งวดที่ 1 ชำระ 10% ของราคาที่ชนะประมูล งวดที่ 2-7 (ปีที่ 5-10) ชำระ 15% โดยผู้ชนะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ของพื้นที่ EEC ใน 1 ปี และครอบคลุม 50% ของประชากร smart city ใน 4 ปี วางหลักประกันการประมูล 1,862 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด 280 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูล

ส่วนความถี่ 26 GHz มี 27 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาทต่อชุด ประมูลได้สูงสุด 12 ชุด เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 22 ล้านบาท พร้อมปรับเงื่อนไขให้เริ่มจ่ายเงินประมูลทั้งหมดก้อนเดียวในปีที่ 2 ที่ได้รับใบอนุญาต จากเดิมจ่ายงวดเดียว ทั้งต้องวางหลักประกัน 507.60 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด 64 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูล

“คาดว่า มี.ค.ปีหน้าจะเริ่มติดตั้งอุปกรณ์ และเปิดใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่ เม.ย.นี้ ในบางพื้นที่ ถือเป็นครั้งแรกที่ไทยจะเปิดให้บริการเทคโนโลยีใหม่ก่อนญี่ปุ่น ซึ่งประกาศว่าจะเปิด 5G ในเดือน ก.ค.”

คลิกอ่านเพิ่มเติม… ภารกิจ 5G “กสทช.” ทำงานไม่มีอุปสรรค งานนั้นไม่มั่นคง