ย้อนมองยุคสัมปทาน ส่องอนาคต “ดาวเทียม” ในมือ “แคท”

ย้อนไปเมื่อ 11 ก.ย. 2534 คือจุดกำเนิดของธุรกิจดาวเทียมในประเทศไทย เมื่อกระทรวงคมนาคม ได้ทำสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ เป็นเวลา 30 ปี กับบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.อินทัช ในปัจจุบัน โดยในสัญญาข้อ 4 กำหนดให้บริษัทจะต้องจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ และถือหุ้นไม่น้อยกว่า51% เพื่อดำเนินงานแทนตามสัญญาสัมปทาน ซึ่งต่อมาคือบริษัท ชินวัตรแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.ไทยคมในปัจจุบัน

ขณะที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เข้ามารับหน้าที่ในการเป็นคู่สัญญากับ บมจ.ไทยคม และปัจจุบันคือภารกิจของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)

ส่วนแบ่งสัมปทานพุ่ง

โดยภายใต้สัมปทานนี้ ไทยคมจะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับกระทรวง เริ่มตั้งแต่ปี 2535 ในอัตรา 5.5% และปรับขึ้นเป็น 10.5% ในปี 2540 ก่อนจะขยับเป็น 15.5% ในปี 2545 เพิ่มเป็น 17.5% ในปี 2550 และ 20.5% ในปี 2555 ก่อนจะสิ้นสุดที่ 22.5% ตั้งแต่ปี 2560-2564

ทั้งยังกำหนดรายได้ขั้นต่ำตลอดอายุสัมปทานไว้ที่ 1,415 ล้านบาท แต่ในช่วง 14 ปีแรกของสัมปทาน บมจ.ไทยคมก็จ่ายเงินส่วนแบ่งรายได้ให้กระทรวงไปแล้วกว่า 3,317 ล้านบาท จากการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร 5 ดวง ได้แก่ ไทยคม 1 เมื่อ ธ.ค. 2536 ไทยคม 2 เมื่อ ต.ค. 2537 ไทยคม 3 เมื่อ เม.ย. 40 แต่ต้องสิ้นสุดการให้บริการก่อนกำหนดเมื่อ ต.ค. 2549 ไอพีสตาร์ เมื่อ ส.ค. 2548 และไทยคม 5 เมื่อ พ.ค. 2549

2557 ยุคทองไทยคม

ก่อนในปี 2557 จะเข้าสู่ยุคทองของไทยคม เนื่องจากมีการยิงดาวเทียมสู่วงโคจรถึง 2 ดวงคือ ไทยคม 6 ในเดือน ม.ค. และไทยคม 7 ในเดือน ก.ย.ทั้งยังเป็นปีแรกที่ไทยคมมีรายได้รวมทะลุ 1 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,600 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังเป็นปีที่ได้รับใบอนุญาตให้บริการดาวเทียมจาก “กสทช.” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งทำให้มีต้นทุนในการให้บริการดาวเทียมที่ต่ำกว่าการรับสัมปทานมากกว่าครึ่ง นำไปสู่การเดินหน้ายิงดาวเทียมไทยคม 8 ในเดือน พ.ค. 2559

แต่ยุคทองก็คงอยู่ในเวลาอันสั้น เมื่อปี 2558 กลายเป็นปีที่ไทยคมมีรายได้สูงสุดที่ 13,136 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 2,122 ล้านบาท หลังจากนั้นก็มีทิศทางรายได้และกำไรสุทธิเป็น “ขาลง” โดยในปี 2560 ขาดทุนสุทธิ 2,649 ล้านบาท และในปี 2562 มีรายได้รวม 5 พันล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 2,249 ล้านบาท

ทั้งยังเข้าสู่จุดเริ่มต้นของอีกข้อพิพาทกับผู้ให้สัมปทานในประเด็นว่า ไทยคม 7 และไทยคม 8 ถือเป็นดาวเทียมภายใต้สัมปทานหรือไม่ ซึ่งกำลังรอให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด

ณ ปัจจุบันมีดาวเทียมคงเหลือให้บริการอยู่ 4 ดวง ได้แก่ ไอพีสตาร์ ไทยคมดวงที่ 6 ถึง 8

มอบ “แคท” รับช่วงต่อ

ขณะที่ฝั่งกระทรวงดิจิทัลฯ ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการสิ้นสุดลงของสัมปทานดาวเทียมที่จะถึงในเดือน ก.ย. 2564 โดยได้มอบหมายให้ “แคท” บมจ.กสท โทรคมนาคม เป็นผู้เข้ามารับช่วงบริหารจัดการดาวเทียม แทนการหาเอกชนเข้ามาทำสัญญา PPP

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แคท เปิดเผยว่า ดาวเทียมไทยคม 4 มีอายุการใช้งานทางวิศวกรรมถึงปี 2565 และไทยคม 6 มีอายุการใช้งานถึงปี 2572 ซึ่งในเชิงวิศวกรรมสามารถขยายอายุใช้งานไปได้อีก 3-5 ปี

โดยในช่วงเวลา 1 ปีจากนี้ จะศึกษาความคุ้มค่าเพื่อตัดสินใจเรื่องการยืดอายุการใช้งานหรือไม่ เนื่องจากมีต้นทุนในการดำเนินการ 7-8 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ยังได้ส่งบุคลากรเข้าฝึกอบรมร่วมกับไทยคมเพื่อให้พร้อมรับช่วงบริหารและควบคุมดาวเทียม

มั่นใจยังมีโอกาสธุรกิจ

ในส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าธุรกิจดาวเทียมกำลังอยู่ในช่วง “ขาลง” นั้น กรรมการผู้จัดการใหญ่แคท ระบุว่า กิจการดาวเทียมยังมีความจำเป็นในการสื่อสาร ที่ไม่สามารถใช้เทคโนโลยีอื่นทดแทนได้ ทั้งในพื้นที่ที่มีอุปสรรคในการลากสาย ตั้งเสา ทั้งเรื่องความมั่นคง และปัจจุบันได้ถูกกำหนดเป็นหนึ่งในมาตรฐานการให้บริการ 5G ด้วย

“แม้ว่าเมื่อปี 2554 แคทและหน่วยงานความมั่นคงเอง ต่างเคยประเมินว่า เป็นธุรกิจที่ไม่คุ้มค่าในการลงทุน แต่หากมีการปรับแผนให้เป็นการใช้งานร่วมกันก็อาจจะมีความคุ้มค่าได้ โดยในช่วง 1 ปีนี้ก็จะประเมินเรื่องความคุ้มค่าในการยิงดาวเทียมดวงใหม่ และการรักษาตำแหน่งวงโคจรของประเทศ”

โดยยืนยันว่า ศักยภาพของแคทพร้อมที่จะเดินหน้าธุรกิจดาวเทียมอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งในแง่ของประสบการณ์ในฐานะผู้ให้บริการดาวเทียมมากว่า 50 ปี และโครงสร้างพื้นฐานที่มีสถานีภาคพื้นดิน 3 แห่ง ที่ศรีราชา อุบลราชธานี นนทบุรี

แต่ธุรกิจที่จะเริ่มเห็นภาพชัดเจนได้ในราวไตรมาส 3 ปีนี้คือ การเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการดาวเทียมวงโคจรต่ำ (low earth orbit : LEO) ที่เป็นการให้บริการผ่านกลุ่มดาวเทียม 600 ดวงทั่วโลก ซึ่งกำลังเจรจากับผู้ให้บริการ 2-3 ราย โดยแคทจะเป็นพันธมิตรในส่วนการให้เช่าสถานีฐานภาคพื้นดินและสิ่งอำนวยความสะดวก กับส่วนที่จะเป็นผู้แทนในการขาย บริการดาวเทียมในประเทศไทย โดยในส่วนนี้ยังต้องรอให้ “กสทช.” ประกาศหลักเกณฑ์ในการให้บริการดาวเทียมในประเทศไทย (แลนดิ้งไรต์) ก่อน