ยิ่งไวรัสโควิด-19 อยู่ใกล้ตัวมากเท่าไร “เวลา” ที่ผู้คนใช้กับอินเทอร์เน็ตก็มีมากขึ้น โอกาสที่จะเกิด “cyberbullying” หรือ “การระรานทางไซเบอร์” ไม่ว่าจะในฐานะเป็นผู้กระทำ หรือถูกกระทำก็มีมากขึ้น
นิยามของคำว่า cyberbullying กินความตั้งแต่การโพสต์ภาพตัดต่อล้อเลียน หรือภาพที่ทำให้เกิดความเสียหาย การใช้ถ้อยคำนินทา ด่าทอ ให้ผู้อื่นรู้สึกเสียหายอับอาย ใส่ร้าย ข่มขู่ หรือทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย ไปจนถึงการสวมรอยเป็นผู้อื่นบนโลกออนไลน์
6 รูปแบบ Cyberbullying
ข้อมูลจาก “สพธอ.” สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ระบุว่า cyberbullying มักเป็นการกระทำต่อ “เหยื่อ” อย่างต่อเนื่องไม่ใช่แค่ครั้งเดียวจบ ไม่ว่าจะเป็น 1.การทำให้อับอาย สร้างความเสียหายต่อเหยื่อ อาทิ การกุข่าวโคมลอย เพื่อให้เกิดกระแสพูดต่อ ๆ กันไป 2.แฉด้วยคลิป ไม่ว่าจะเป็นคลิปอนาจาร หรือคลิปที่เหยื่อถูกรุมทำร้าย เพื่อให้เหยื่อเกิดความอับอาย หรือถูกวิพากษ์วิจารณ์
3.การแอบอ้างตัวตนของผู้อื่น ซึ่งมักเกิดขึ้นจากการที่มีผู้อื่นรู้รหัสผ่านของบัญชีการใช้งานโซเชียลมีเดีย แล้วถูกสวมรอยแอบใช้งานแทน เพื่อโพสต์ข้อความหยาบคาย ให้ร้ายบุคคลอื่น โพสต์รูปโป๊ คลิปวิดีโอลามก หรือสร้างความเสียหายในรูปแบบอื่น
4.การแบล็กเมล์ ด้วยการนำความลับหรือภาพลับมาเปิดเผย เพื่อให้เกิดการแชร์ต่อไปอย่างกว้างขวาง บางครั้งก็ยังเป็นการคุกคามทางเพศ ถ่ายภาพโป๊เปลือยหรือใช้เป็นเครื่องมือต่อรองเรียกรับผลประโยชน์ หรือค่าไถ่
5.การหลอกลวง มีทั้งการหลอกลวงให้หลงเชื่อ ให้ออกมาตามนัดเพื่อกระทำมิดีมิร้าย หรือลวงเอาเงิน-ทรัพย์สิน
6.การสร้างกลุ่มในโซเชียลเพื่อโจมตีโดยเฉพาะ “เพจแอนตี้” จับผิดทุกประเด็นเพื่อสร้างความเสียหายต่อคนที่ไม่ชอบ และอาจมีการโน้มน้าวให้คนอื่นรู้สึกรังเกียจไปด้วย บางครั้งอาจรุนแรงถึงขั้นไล่ให้ไปฆ่าตัวตาย
ปรับใช้กฎหมายหมิ่นประมาท
แต่ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ cyberbullying โดยตรง ดังนั้น การฟ้องร้องดำเนินคดี จึงนำตัวบทกฎหมายที่มีอยู่มาปรับใช้ในบางลักษณะ ได้แก่ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
โดยมาตราที่นำมาปรับใช้กับพฤติกรรม cyberbullying ได้มากที่สุด คือ เรื่องการ”หมิ่นประมาท” ตามมาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าความผิดนั้นกระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกภาพ บันทึกเสียง การกระจายเสียง กระจายภาพ เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 328 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาทและหากทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัว หรือตกใจ อย่างการโพสต์ขู่ทำร้ายทางโซเชียลมีเดีย ก็เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 392 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนกรณีที่กระทำการใด ๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือทำให้อับอายเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท ตามมาตรา 397
เรียกค่าเสียหายทางแพ่งได้
กฎหมายอีกฉบับที่นำไปปรับใช้ได้คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ตัวอย่างการกระทำที่อาจจะเข้าข่าย เช่น สวมรอยเป็นเจ้าของบัญชีการ hack เข้าบัญชี Facebook หรือการแอบนำรหัสผ่านเข้าบัญชี Facebook มา login เพื่อสวมรอยเป็นเจ้าของบัญชี และเข้าไปโพสต์ข้อความ เพื่อสร้างความเสียหายแก่ผู้ถูกระราน อาจจะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 5 คือ การเข้าถึงโดยมิชอบ ซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ และมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเป็นการนำมาตรการป้องกันไปเปิดเผยโดยมิชอบ เช่น นำรหัสไปเปิดเผย และเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น จะมีความผิดตามมาตรา 6 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนการนำภาพเปลือย หรือวิดีโอทางเพศของเหยื่อ cyberbullying ไปโพสต์ผ่านทางหน้าโซเชียลมีเดียที่เป็นสาธารณะ อาจจะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 14 (4) หรือถ้าเป็นกรณีการกดแชร์ภาพ หรือวิดีโอดังกล่าว ก็อาจจะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 14 (5) ได้ คือ การนำเข้าหรือเผยแพร่ข้อมูลที่มีลักษณะลามกในระบบคอมพิวเตอร์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และถ้าภาพหรือวิดีโอนั้น เกิดจากการตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้อื่นถูกระรานเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ก็อาจจะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 16 วรรคแรกได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
ที่สำคัญคือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 420และมาตรา 423 ยังให้สิทธิในการเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ จากกรณีที่ถูกทำให้เสียหาย ไม่ว่าทางกาย ทางชื่อเสียง เสรีภาพ การทำมาหาได้