บิ๊กตู่เปิดม่าน”ระบบเคเบิลใต้น้ำAAE-1″โครงการร่วม18ปท.3ทวีป2.7หมื่นล้าน”สายเมน”เส้นแรกของไทยทะยานขึ้นฮับดิจิทัลอาเซียน

นายกฯลงพื้นที่อำเภอละงู จังหวัดสตูล เป็นประธานเปิดโครงการเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศAAE-1ที่สถานีเคเบิลใต้น้ำปากบารา ปลื้มเป็นโครงการแรกๆ ที่อนุมัติ ด้านรมว.ดีอี เผยเป็นการเพิ่มศักยภาพเชื่อมต่อ 3 ทวีป ยุโรป-แอฟริกา-เอเชีย รองรับปริมาณทราฟฟิกเติบโตในประเทศถึงปี 63 ขึ้นแท่นฮับอาเซียนฮับอาเซียน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการแรกๆ ที่อนุมัติตั้งแต่มาเป็นเป็นคสช.ในปี 2557 โดยตัดสินใจตอนนั้นด้วยสมองอันน้อยนิดแต่ก็สำเร็จในวันนี้ อย่างไรก็ตามอยากให้ทีโอทีพาประชาชนที่รักธรรมชาติไปเห็นให้เกิดความเชื่อใจว่าสายเคเบิลจะไม่กระทบธรรมชาติใต้น้ำ นำไปสู่การพัฒนาประเทศ ซึ่งที่จริงต้องทำล่วงหน้าเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามหลัง

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) กล่าวว่า ระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ AAE-1 ที่ดำเนินการโดยบมจ.ทีโอที ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของไทยที่มีศักยภาพการเชื่อมโยงด้านคมนาคมในระดับสากล เชื่อมทวีปยุโรป แอฟริกา และ เอเชีย โดยเป็นการลงทุนร่วมกันของ 18 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส อิตาลี กรีซ อียิปต์ ซาอุดิอาระเบีย ดิบูติ เยเมน การ์ต้า ยูเออี โอมาน ปากีสถาน อินเดีย ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม และ ฮ่องกง รวม 2.7 หมื่นล้านบาท ความยาวของโครงการ 25,000 กิโลเมตร มีความจุทั้งเส้น 40 Tbps/วินาที หรือ 40 ล้านล้านบิตส์/วินาที ด้วยเทคโนโลยีล่าสุด 100 Gbps ต่อหนึ่งคลื่นลำแสง โดยประเทศไทยได้ลงทุน 1,700 ล้านบาท

ภาพรวมโครงการปัจจุบันดำเนินการเสร็จแล้ว 90% โดยเฟส1 เส้นทางไทย-ยุโรปเปิดใช้งานแล้ว และ เส้นทางไทย-สิงคโปร์ อยู่ระหว่างการทดสอบ ขณะที่เฟส2 ไทย-ฮ่องกง จะเปิดใช้งานได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี 60 สำหรับจุดเด่น คือ สายเคเบิลได้ลอดใต้น้ำมาขึ้นบกที่สตูล แล้วเชื่อมสายดิจิทัล แลนด์บริดจ์ไปสมิลา สงขลา โดยที่ไม่ต้องอ้อมช่องแคบมะละกาเพื่อยิงต่อไปที่ฮ่องกง นี่คือ นวัตกรรมของประเทศไทย ซึ่งลดต้นทุนไป 1 พันกว่ากิโลเมตร ถ้าเทียบกับการผ่านช่องแคบมะละกา ในเชิงเทคนิค การช้อตคัทระยะทางทำให้ประสิทธิภาพของตัวสัญญาณดีขึ้น ถึงแม้จะนิดหน่อยแต่ในทางดิจิทัลเป็นเรื่องสำคัญ

นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า ไทยตอนนี้มีความเป็นศูนย์กลางของ AAE-1 ค่อนข้างชัด เนื่องจากเคเบิลAAE-1 ที่มีถึง3เส้นล้วนต้องมาลิงค์ที่สตูล แม้จะไม่ประกาศความเป็นฮับ แต่โดยศักยภาพมันเป็นเช่นนั้น ในอนาคตจึงเป็นไปได้ว่าบริษัทดิจิทัลขนาดใหญ่ อาทิ เฟซบุ๊ค กูเกิ้ล เมื่อเห็นศักยภาพนี้ โอกาสที่จะเอาเซิร์ฟเวอร์ของเขามาตั้งที่ประเทศไทยก็มากขึ้น อีกทั้งการที่ไทยมีโครงการใหญ่ในระยะ 1-2 ปี เช่น อีอีซี ทำให้เรื่องคอนเนคทิวิตี้ ดิจิทัล กลายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะอีอีซี กำลังมีโครงการขนาดยักษ์หลายโครงการ รวมทั้งดิจิทัล ปาร์ค ไทยแลนด์ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะเป็นตลาดให้เกิดการใช้แบนด์วิดท์ที่สูงขึ้น ฉะนั้นระบบเคเบิลระหว่างประเทศก็จะเป็นการรองรับซึ่งกันและกัน

นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงดิจิทัลไทย สามารถรองรับทราฟฟิค หรือการใช้งานในประเทศ ที่เติบโตสูงถึงปีละ 65% ได้อย่างน้อยอีก 3 ปี

ด้าน น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) กล่าวว่า รัฐบาลต้องการเห็นไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค โดยเฉพาะ CLMVT ฉะนั้นการที่นักลงทุนมาทำธุรกิจ ที่ต้องมีศูนย์อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ เฮดควอเตอร์ สิ่งที่ต้องการมากที่สุด คือ ศักยภาพทางด้านดิจิทัล เพราะเขาต้องติดต่อสื่อสาร

“เราเปิดตัวเองว่าพร้อมจะเป็นฮับ ตอนอยู่บีโอไอ ก็พยายามจะดึงบริษัทยักษ์ใหญ่ดิจิทัลให้มาอยู่เมืองไทย แต่เจอคำถามตลอด เพราะแม้จะมีสนามบิน ท่าเรือที่ใหญ่ แต่โลกปัจจุบัน ป้จจัยสำคัญ คือ อินเตอร์เนชั่นแนล เกตเวย์ ฉะนั้นการมีสายไฟเบอร์ออพติกจะทำให้นักธุรกิจมองประเทศไทยว่าเหมาะสมจะเป็นฐานในการทำธุรกิจ เป็นเซนเตอร์ของภูมิภาคนี้ แล้วธุรกิจที่จะใช้ไทยเป็นฮับก็จะตามมา เพราะว่าเรามีสายเมน ซึ่งเป็นอินฟราสตรัคเจอร์นี้แล้ว”ปลัดกระทรวงฯกล่าว