ส่องผลงานรอบ 9 ปี กสทช. “ประมูลหมายเลขสวย-5G” โกยรายได้เข้ารัฐ

กสทช.เปิดผลงานเด่นรอบ 9 ปี จัดประมูลหมายเลขสวย-5G เปลี่ยนผ่านทีวีอนาล็อกสู่ทีวีดิจิทัล สร้างรายได้เข้ารัฐ

ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า เนื่องจากครบรอบ 9 ปีของสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) (วันที่ 7 ตุลาคม 2563) ล่าสุด กสทช.ได้เปิดผลการดำเนินงาน 9 ปี เพื่ออวดผลงานที่โดดเด่นหลายชิ้น เช่น การประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล IMT ย่านความถี่ 2.1 GHz หรือ การประมูล 3G ในปี 2555 ซึ่งสร้างรายได้ส่งเงินเข้ารัฐเป็นมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท ตามด้วยการจัดประมูลทีวีดิจิทัล ซึ่งเป็นการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ สามารถทำรายได้เข้ารัฐเป็นเงิน 38,770.38 ล้านบาท ต่อด้วยการแจกคูปองกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลในปี 2557-2562 เพื่อเปลี่ยนผ่านจากทีวีอนาล็อกสู่ทีวีดิจิทัล

ขณะเดียวกันก็เดินหน้าลงทะเบียนซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือระบบเติมเงินทั่วประเทศ จำนวนกว่า 80 ล้านเลขหมาย เพื่อป้องกันมิจฉาชีพใช้ช่องทางในการหลอกลวง ก่อเหตุร้ายต่าง ๆ ส่งผลให้มียอดลงทะเบียนซิมสูงถึง 74.7 ล้านเลขหมายในระยะเวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น และหลังจากนั้นในปี 2558 ก็จัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz 900 MHz หรือ ประมูล 4G ครั้งแรก ซึ่งถือเป็นการประมูลครั้งประวัติศาสตร์ของไทย เพราะกินเวลานานถึง 5 วัน 4 คืน โดยสร้างรายได้ 316,523.12 ล้านบาท

นอกจากนี้ได้จัดประมูลหมายเลขสวย ประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHZ ซึ่งกสทช. ได้นำคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ที่ได้รับคืนมาจากการหมดสัญญาสัมปทาน มาจัดประมูลสำหรับให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงทำโครงการบริการด้านโทรคมนาคมในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ชนบท เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

สำหรับ ไฮไลต์สำคัญ คือ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมาได้จัดประมูล คลื่นความถี่ 5G ซึ่งเป็นการประมูลประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้ทันต่อการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีไปสู่เทคโนโลยี 5G สามารถทำรายได้ส่งเงินเข้ารัฐมูลค่า 100,521 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามช่วงวิกฤตโควิด-19 ก็ได้อนุมัติวงเงินงบประมาณโดยปรับเกลี่ยจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 รวมกับเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)มาใช้สนับสนุนการต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19โดยได้สนับสนุนสถานพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลภาคสนามของรัฐที่ผ่านตามเกณฑ์การพิจารณาสนับสนุนฯ ไปทั้งสิ้น 322 แห่ง รวมมูลค่า 1,187.530 ล้านบาท และยังได้จัดทำหลักเกณฑ์หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้มีการใช้สิทธิ์ในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในการจัดชุด (Package) อยู่ระหว่างการนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2563 กสทช. ได้มอบหลักฐานการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมขั้นต้น (ข่ายดาวเทียมประเภทวงโคจรดาวเทียมไม่ประจำที่ (NGSO) ที่มอบให้กับ 5 หน่วยงาน (6 ข่ายดาวเทียม)