อินเทล ปรับแผน เร่งลงทุน 2 หมื่นล้านเหรียญ ตั้งโรงงานรับผลิตชิป

อินเทล ปรับแผน ทุ่ม 2 หมื่นล้านเหรียญ ตั้งโรงงานรับผลิตชิปในสหรัฐ-ยุโรป เพิ่มกำลังผลิตรับปัญหาซัพพลายขาดตลาด พร้อมเร่งพัฒนาโซลูชั่น เฮลท์แคร์-EdTech ตอบโจทย์ผู้บริโภคนิวนอร์มอล ประกาศเปิดตัว Intel Gen 11 เวอร์ชั่นใหม่ และ Intel 5G Solution ชิปประมวลผล 5G บนพีซีตัวแรก

วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 Michelle Johnston Holthaus Executive Vice President ของอินเทล กล่าวในงานเปิดตัว Intel Computex 2021 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 2-4 มิ.ย. 64 ว่า 15 เดือนที่ผ่านมาเป็นช่วงที่โควิด-19 ระบาดอย่างหนัก ทำให้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคเริ่มสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตทำงานและชีวิตความเป็นอยู่ ต้องการใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยนวัตกรรม อินเทลจึงต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทั้งโลกด้วยเทคโนโลยี ซึ่งจะถูกนำไปใช้ในวงการเฮลท์แคร์ การศึกษา และแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังเริ่มพัฒนาโซลูชั่นให้รองรับกับเหตุการณ์วิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

จึงได้ผุด The pandemic Response Technology Initiative (PRTI) หน่วยงานสำหรับพัฒนาโซลูชั่น ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 230 โครงการ และมีบริษัทพาร์ตเนอร์เข้าร่วมแล้ว 170 บริษัท ตัวอย่างโครงการ เช่น ความร่วมมือกับ ASUSTek Computer ที่ได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นเฮลท์แคร์ให้โรงพยาบาล Taipei City Heping ในไต้หวัน สำหรับวินิจฉัยโรคให้กับทั้งผู้ป่วยในและนอก รวมถึงนำเทคโนโลยีมาตรวจอาการของผู้ป่วยในห้องกักกันโรคผ่านคลาวด์ และ AI

อย่างไรก็ตามคาดว่า ปี 2573 จะมีการตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาภายใต้ชื่อ The Intel Rise Tecnology Initiative (IRTI) ด้วยงบประมาณ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสานต่อโครงการที่เกี่ยวข้องกับเฮลท์แคร์และการศึกษา ซึ่งโซลูชั่นทั้งหมดจะอยู่บนพื้นฐานความเท่าเทียมที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ สิทธิและเสรีภาพ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

Pat Gelsinger Chief Excutive officer บริษัทเดียวกัน กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา โควิด-19 ทำให้ซัพพลายเชนทั่วโลกปั่นป่วน อินเทลก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน จึงได้เพิ่มปริมาณการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ หรือชิปประมวลผลมากที่สุดในรอบ 4 ปี รวมถึงเข้าไปติดตามปัญหาอย่างใกล้ชิดร่วมกับซัพพลายเออร์ที่เวียดนาม ทำให้กำลังการผลิตของอินเทลในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็นหลักล้านหน่วย

นอกจากนี้ยังปรับแผนการผลิตชิปผ่านกลยุทธ์ “IDM 2.0 Strategy” หันมาใช้โรงงานภายนอกในการผลิตชิป ขยายโรงงานการผลิตไปยังที่ใหม่ ๆ อาทิ รัฐแอริโซน่า รัฐนิวเม็กซิโกในสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป พร้อมทุ่มงบอีก 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งโรงงานผลิตชิปแห่งใหม่ ชื่อ Intel Foundry Services (IFS) สำหรับรับจ้างผลิตชิปอีกด้วย

ทั้งนี้ภายในงานยังพูดถึงโซลูชั่นใหม่ ๆ ของอินเทล อาทิ “Intel Xeon Platform Gen3” แพลตฟอร์มศูนย์ข้อมุลรุ่นใหม่ล่าสุด ที่เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้สูงกว่ารุ่นก่อนหน้า 50% รองรับเวิร์กโหลดได้มากขึ้น สามารถปรับใช้งานกับระบบคลาวด์และแอปพลิเคชั่น Edge ได้อย่างรวดเร็ว “3D Aithetic tracking Tecnology” โซลูชั่นที่ถูกคิดค้นสำหรับใช้งานใน Tokyo Summer Oympic Games โดยเฉพาะ ซึ่งจะเชื่อมต่อกับ 3D Camera Tracking ไว้กับนักกีฬา เพื่อวิเคราะห์การเคลื่อนไหว และประเมินสมรรถนะภาพได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งอนาคตจะขยายไปยังอีเวนต์อื่น เช่น งาน Sydney Royal Easter Show และ Australian Open

Chris Walker รองประธาน และผู้จัดการทั่วไป Mobility Client Platforms ของอินเทล กล่าวเสริมว่า ไฮไลต์สำคัญของงานคือ การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ Intel Core เจเนอเรชั่นที่ 11 ที่รองรับการใช้งานชิป i7-1195G7 ที่มีความถี่สูงสุด 5 GHz และรองรับชิป i5-1155G7 ความถี่ 4.3 GHz โดยคาดว่าจะวางจำหน่ายในแล็ปทอปของ Acer, ASUS, Lenovo และ MSI ในเร็ว ๆ นี้ และตั้งเป้าที่จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ Intel Core เจเนอเรชั่นที่ 12 แต่ยังไม่สามารถระบุช่วงเวลาที่แน่นอนได้ เนื่องจากสถานการณ์ซัพพลายยังไม่ดีขึ้น

และ Intel 5G Solution 5000 ที่ร่วมคิดค้นกับ MediaTek และ Fibocom เป็นผลิตภัณฑ์ 5G สำหรับพีซีตัวแรกที่รองรับโซลูชั่น 5G ใช้งานได้ทั้ง Windows, Chrome และ Linux ซึ่งคาดว่าจะวางจำหน่ายผ่าน Acer, ASUS และ HP เร็ว ๆ นี้เช่นกัน