“โอมิเซะ” ขยับสู่ “SYNQA” ฟินเทคไทยที่เปลี่ยนโลกด้วย “บล็อกเชน”

โลกฟินเทคยังคงร้อนแรง โดยเฉพาะบล็อกเชนเทคโนโลยีที่เป็นจุดกำเนิดของสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างคริปโทเคอร์เรนซี ที่บรรดานักลงทุนต่างตบเท้าเข้ามาลงทุนกันคึกคัก

“Omise” (โอมิเซะ) ฟินเทคสตาร์ตอัพดาวรุ่งที่เคยได้รับการจับตาว่าน่าจะมีโอกาสเป็นยูนิคอร์นกลุ่มแรก ๆ ของไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นที่มองว่าเทคโนโลยี “บล็อกเชน” กำลังจะเข้ามาเปลี่ยน

หลายสิ่งจึงไม่รอช้าลุกขึ้นมาเขย่าโครงสร้างองค์กร และเปิดระดมทุนในรอบซีรีส์ C รีแบรนด์จาก Omise Holdings เป็น SYNQA พร้อมประกาศว่าจะนำเงินที่ได้

ไปยกระดับผลิตภัณฑ์ด้านโซลูชั่นองค์กรเพื่อขับเคลื่อนศักยภาพด้านการทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่โลกดิจิทัล (FinTech transformation) รวมถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคมไร้เงินสดในประเทศแถบเอเชีย

“ประชาชาติธุรกิจ” พามาอัพเดตแนวทางการดำเนินธุรกิจกับ 2 ผู้บริหาร “อนุชิต จิตภิรมย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท โอมิเซะ จำกัด (Omise) และ “สุทธิพร เมฆาอภิรักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท โอพีเอ็น ทีเอช จำกัด (OPN)

Q : การปรับโครงสร้างองค์กร

อนุชิต : Omise เริ่มต้นจากอีคอมเมิร์ซ แต่ดันมาเห็นปัญหาการจ่ายเงินของลูกค้าจึงพักเรื่องอีคอมเมิร์ซมาพัฒนาเพย์เมนต์เกตเวย์ และไปซื้อบริษัทเพย์สบาย ซึ่งทำเพย์เมนต์อยู่แล้วเข้ามาเสริมอีกทางในปี 2558

ต่อมาเริ่มหันมาสนใจเทคโนโลยีบล็อกเชน ตั้งทีม R&D ในปี 2561 เพื่อศึกษาและสร้างแพลตฟอร์มการจ่ายเงินบนบล็อกเชนชื่อ“Omise Go” ออกเหรียญโทเค็นดิจิทัล “OMG coin” และเรียนรู้ว่าสิ่งที่ถนัดคือด้านเพย์เมนต์และการสร้างไฟแนนเชียลดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น

ในปี 2563 จึงปรับโครงสร้างองค์กรและขาย Omise Go ให้ Genius Block Venture (GBV) และตั้งโฮลดิ้งคอมปะนีชื่อ “SYNQA” พร้อมเปิดระดมทุนซีรีส์ C ได้เงินลงทุนจากนักลงทุนหลายกลุ่ม เช่น SCBX 10, SPARX Group, Toyota Financial Services Corporation (TFS),

Sumitomo Mitsui Banking Corporation (SMBC) และรายอื่น ๆ รวมแล้วได้เงินมา 80 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 2,478 ล้านบาท โดยโฮลดิ้งคอมปะนีใหม่จะดูแล 2 บริษัท คือ“Omise” ธุรกิจเดิมที่เป็นเพย์เมนต์เกตเวย์และบริษัทใหม่ OPN ธุรกิจไฟแนนเชียลทรานส์ฟอร์เมชั่น

Q : ทำไมถึงขาย Omise Go

อนุชิต : เมื่อนึกถึงบล็อกเชนทุกคนจะต้องนึกถึง Omise Go การออกโทเค็นเป็นของตนเองเหมือนเป็นการเพิ่มทางเลือกในตลาด

แต่เราไม่ได้ต้องการเป็นทางเลือก เราต้องการเป็นอินฟราสตรักเจอร์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ และตัวเชื่อมให้ทุกคนเข้าสู่โลกของสินทรัพย์ดิจิทัล

สุทธิพร : ปัญหาที่พบบ่อยในเพย์เมนต์คือ การย้ายเงิน ดังนั้น คุณจุน ฮาเซกาวาซีอีโอ SYNQA จึงดึงบล็อกเชนเข้ามาทำให้ customer journey ดีขึ้น แม้จะไม่ได้ทำ Omise Go แล้ว

แต่ OPN ก็สานต่อด้วยการสร้างระบบอีวอลเลตบนบล็อกเชนสำหรับองค์กร ยึดหลัก ไวต์เลเบล (white lable) เข้าไปซัพพอร์ตโซลูชั่นให้ลูกค้าหลังบ้าน ปัจจุบันมีการสร้างไฟแนนเชียลเซอร์วิสแอปพลิเคชั่นให้อีวอลเลตเจ้าใหญ่ ๆ ในตลาด และเตรียมทำโปรเจ็กต์สร้างโทเค็นดิจิทัลจากบล็อกเชนที่เรียกว่า Nonfungible Token (NFT)

Q : จุดเริ่มต้นของ OPN

สุทธิพร : วิชั่นของ SYNQA Group คือ Open Financial Access For Everyone ทำให้ทุกคนเข้าถึงบริการทางการเงิน

เริ่มแรก OPN เป็นหน่วยงานเฉพาะกิจสำหรับศึกษาเรื่องบล็อกเชน แต่ด้วยเทรนด์ที่องค์กรเริ่มสร้างไฟแนนเชียลเซอร์วิสเป็นของตนเอง จึงตั้ง OPN ขึ้นมาเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเพย์เมนต์เกตเวย์ บล็อกเชน

และเทคโนโลยีเดิมขององค์กรเข้าด้วยกัน บล็อกเชนจะกลายเป็นโลกอนาคตของไฟแนนซ์ ต่อไปเทคโนโลยีจะเอามาอินทิเกรตกันได้ ทำให้เราขยายฐานไปยังลูกค้าระดับเมกะโกลบอล หากจะเทียบความสัมพันธ์ระหว่าง Omise กับ OPN ก็เสมือนแชสซี (chassis) ที่เป็นโครงสร้างสำคัญของรถขาดกันไม่ได้

Q : การปรับจูนการทำงาน

อนุชิต : Omise ต้องปรับวิธีการมองตลาด เดิมทำแค่ออนไลน์เพย์เมนต์แต่ปัจจุบันปรับมาเป็นอินฟราสตรักเจอร์ หรือเทคโนโลยีโพรไวเดอร์ให้ลูกค้าสร้างระบบเพย์เมนต์แบบครบวงจร ดึงบล็อกเชนจาก OPN มาซัพพอร์ตระบบชำระเงินทั้งฝั่งธุรกิจในฐานะผู้รับเงิน และลูกค้าองค์กรในฐานะผู้ชำระเงิน ให้มีประสบการณ์ทางการเงินที่ดีขึ้น

ฐานลูกค้าของ Omise ก็เปลี่ยนกลายมาเป็นธุรกิจที่ค้าขายผ่านออนไลน์และออฟไลน์แบงก์และน็อนแบงก์ (nonbanks)ที่ไม่ต้องการลงทุนเทคโนโลยีเอง ส่วน OPN เจาะกลุ่มสตาร์ตอัพและธุรกิจที่อยากมีบริการทางการเงินเป็นของตนเอง

Q : ในฝั่งผู้บริโภคเป็นยุคของอีวอลเลต

สุทธิพร : ผู้บริโภคยุคเน็กซ์นอร์มอลไม่ต้องการควักเงินสดแต่ต้องการบริการทางการเงินที่ดีกว่าเดิม ทำให้องค์กรต้องมีเพย์เมนต์เกตเวย์เป็นของตนเอง สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ตอนนี้แทบทุกองค์กรต้องการมีอีวอลเลตเป็นของตนเอง เพื่อใช้กับลูกค้าและพนักงานในองค์กร

เส้นแบ่งของบริการทางการเงินค่อนข้างเบลอ เพราะธุรกิจใหญ่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินเริ่มโดดเข้ามาตรงนี้ ขณะเดียวกันสถาบันการเงินพยายามก้าวออกไปให้บริการด้านอื่น

Q : เป้าหมายธุรกิจ

อนุชิต : เป้าของ SYNQA จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% ทุกปี และปีนี้ก็ยังตั้งเป้าเดิม มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ดูแลโดย OPN ให้เป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เก็บได้ทั้งเงินสด รีวอร์ดพอยต์ สินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นคริปโทเคอร์เรนซี และโทเค็นดิจิทัล

ยิ่งไปกว่านั้นคือ การเข้าไปสร้างสินทรัพย์ดิจิทัลให้กับองค์กรขนาดใหญ่ต่าง ๆ ทำให้ร้านพาร์ตเนอร์ของ Omise ที่มีกว่า 10,000 เจ้าทั่วประเทศ รับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล ณ จุดชำระหน้าร้านเว็บไซต์ และโมบายแอป

นอกจากนี้ เรายังจับมือกับสตาร์ตอัพไทยรายหนึ่งชื่อ อีเวนท์ป๊อบ สร้าง Esimo-เอสิโม แพลตฟอร์มบริหารจัดการสำหรับพ่อค้าแม่ค้าอีคอมเมิร์ซ ซึ่งจะมีเครื่องมือสำหรับสร้างเว็บไซต์ส่งเสริมกิจกรรมการตลาด ระบบชำระเงิน ระบบสต๊อกสินค้า และจัดการออร์เดอร์ที่จะเชื่อมไปยังอีคอมเมิร์ซเจ้าใหญ่อย่างลาซาด้า, ช้อปปี้ เพื่อเพิ่มช่องทางการขายเหมาะกับร้านค้าที่อยากก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร

Omise ยังจะขยายบริการไปในอีก 2 ประเทศ คือ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย จากเดิมที่มีในไทย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์

Q : ผลกระทบจากวิกฤตโควิด

อนุชิต : ลูกค้าของ Omise ที่เป็นรีเทลเลอร์และธุรกิจ Online Travel Agency หายไป แต่ไม่ได้รับผลกระทบมากนักเพราะได้ลูกค้าฟู้ดดีลิเวอรี่และรีเทลดีลิเวอรี่มาแทน และพยายามรุกไปในตลาดแบงก์และน็อนแบงก์ด้วย

สุทธิพร : OPN เกิดในช่วงโควิดพอดี โชคดีที่ตลาดตื่นตัวและเริ่มลงทุนบล็อกเชน ทำให้เราโตได้จากที่มีทีมงานแค่ 10 คนปีที่แล้ว ปีนี้มีทีมงานร่วม 80 คน และมีสำนักงาน 3 ที่ คือในไทยบัลแกเรีย และญี่ปุ่น โดยทั้งหมดทำงานแบบ work from anywhere

Q : เทรนด์ของบล็อกเชน

สุทธิพร : ภาคธุรกิจเริ่มเรียนรู้ว่าบล็อกเชนไม่ใช่แค่เรื่องของคริปโทฯ แต่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในธุรกิจอื่นได้ เช่นซัพพลายเชนไฟแนนซ์ (SCF) ต้องทำความเข้าใจว่าการประยุกต์ใช้บล็อกเชนในแต่ละธุรกิจจะให้ผลประโยชน์ที่ต่างกัน

ขึ้นอยู่กับยูสเคสและความต้องการขององค์กร เช่น ธุรกิจที่ต้องวิเคราะห์และกระจายดาต้า ถ้ามีบล็อกเชนก็จะได้เปรียบ ท้ายที่สุดบล็อกเชนจะกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยสร้างมูลค่าให้องค์กรในอนาคต สอดคล้องกับเป้าหมายของเราที่ต้องการนำบล็อกเชนมาสร้างโซลูชั่นเพื่อแก้ปัญหาให้ธุรกิจ