แสงปริศนาที่เชียงใหม่ ส.ดาราศาสตร์ คาดเป็นดาวตกชนิดระเบิด

แสงปริศนาบนท้องฟ้า
ภาพจากเฟซบุ๊ก First Patchaya

หลายหน่วยงานกำลังตรวจสอบกรณีชาวเชียงใหม่เห็นแสงปริศนาตามด้วยเสียงดังคล้ายระเบิดบนท้องฟ้าเมื่อช่วงหัวค่ำ เบื้องต้น สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ คาดเป็นดาวตกชนิดระเบิด

วันที่ 22 มิถุนายน 2564 มติชน รายงานว่า เมื่อช่วงหัวค่ำ ประชาชนในหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ เห็นแสงทอดยาวบนท้องฟ้า ก่อนเกิดเสียงคล้ายระเบิดดังสนั่น ประชาชนบางส่วนสันนิษฐานว่าเป็นเหตุการณ์หม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าระบบไฟฟ้ายังเป็นปกติ ขณะที่บางคนบอกว่าระหว่างเกิดเสียงดังนั้น กระจกบ้านถึงกับสั่นไหว รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนราวกับแผ่นดินไหว

ชาวโซเชียลพากันแชร์ภาพแสงสีเขียวสว่างวาบบนท้องฟ้าช่วงกลางคืน พร้อมคาดเดากันไปต่าง ๆ นานาว่าเป็นอุกกาบาต หรือไม่ก็ยูเอฟโอ ซึ่งในเบื้องต้นยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นภาพล่าสุดหรือไม่ ขณะที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ First Fpatchaya รวบรวมภาพและคลิปที่อ้างว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ ซึ่งเป็นภาพที่เกิดขึ้นในช่วงที่ฟ้ายังสว่างอยู่

ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังนักวิชาการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ ได้รับการชี้แจงเบื้องต้นว่าได้รับรายงานว่าเกิดเสียงคล้ายระเบิดจริง โดยมีประชาชนโทร.เข้ามาสอบถามจำนวนมากว่าเกิดอะไรขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูล และจะชี้แจงโดยเร็วที่สุด

ด้านสถาบันวิจัยดาราศาสตร์โพสต์ข้อความบนเพจว่า ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อวิเคราะห์กรณีแสงสีเขียวและเสียงระเบิดแถบเชียงใหม่ หากใครมีภาพหรือวิดีโอ รบกวนส่งเข้าไปที่เพจด้วย

มติชน รายงานด้วยว่า ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ได้ยินเสียงดังกล่าวเช่นเดียวกัน เพราะขณะเกิดเหตุอยู่ที่บ้าน ตอนแรกนึกว่านกบินชนบ้าน เพราะกระจกสั่น ไม่ได้รู้สึกแปลกใจอะไร จนกระทั่งมีคนโทรศัพท์มาบอกว่า เกิดเสียงดังจากท้องฟ้า

จากนั้นมีคนส่งภาพมาให้ดูเยอะมาก แต่เป็นภาพเก่า เป็นเฟกนิวส์ ตอนนี้จึงยังไม่สามารถพูดอะไรได้ เพราะไม่เห็นภาพจริง ๆ อย่างไรก็ตาม หากเป็นอุกกาบาต หรือลูกไฟขนาดใหญ่พุ่งเข้ามาจริง อีก 1-2 วันจะทราบว่าเป็นอะไร เนื่องจากมีดาวเทียมตรวจจับวัตถุแปลกปลอมจับภาพอยู่

ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก ลับลวงพรางแชนเนล ซึ่งรายงานความเคลื่อนไหวของกองทัพระบุว่า กองทัพอากาศกำลังเร่งตรวจสอบแสงวาบสีเขียว พร้อมเสียงดังสนั่น 2 ครั้ง ที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่

ล่าสุด เพจเชียงใหม่นิวส์ วอนให้ชาวโซเชียลหยุดแชร์ภาพแสงสีฟ้าเขียว ซึ่งเป็นภาพเก่าตั้งแต่ปี 2558

ล่าสุด นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เบื้องต้นคาดว่าอาจเกิดจากดาวตกชนิดระเบิด (Bolide) เป็นเหตุการณ์ที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

โดยปกติแล้ว ดาวตกที่เข้ามาในชั้นบรรยากาศจะเริ่มเกิดความร้อนสูงจนเกิดการลุกไหม้ที่ความสูงประมาณ 80-120 กิโลเมตร จึงมักจะสูงเกินกว่าที่จะได้ยินเสียง อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งดาวตกอาจจะแผ่คลื่นเสียงกระแทก (sonic boom) ในลักษณะเดียวกันกับเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการพบเห็นที่ระบุว่าเห็นแสงวาบก่อนที่จะได้ยินเสียงตามมา ซึ่งระยะเวลาระหว่างการพบเสียงและแสงนั้นจะขึ้นอยู่กับระยะห่างของดาวตกในขณะที่พบเห็น
ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าวัตถุดังกล่าวนั้นจะตกลงมาถึงพื้นโลกเป็นอุกกาบาตหรือไม่ ดาวตกส่วนมากที่ตกลงมานั้นจะไหม้หมดไปในชั้นบรรยากาศ สำหรับอุกกาบาตที่ใหญ่พอจนตกลงมาถึงพื้นโลกได้นั้น มีการประมาณการกันว่ามีอยู่ประมาณ 6,000 ดวงในทุกๆ ปี แต่ส่วนมากนั้นตกลงในมหาสมุทร หรือพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีผู้ใดพบเห็น ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้น ลมีอุกกาบาตเพียงไม่กี่ชิ้นที่มนุษย์สามารถเก็บขึ้นมาได้หลังจากมีผู้พบเห็นเป็นดาวตกอยู่บนท้องฟ้า
ทั้งนี้ ในแต่ละวันจะมีอุกกาบาตเข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลกเป็นจำนวนมาก แต่โดยทั่วไปจะไหม้หมดไปตั้งแต่ความสูงนับร้อย กม. ในชั้นบรรยากาศ ในทางดาราศาสตร์ถือเป็นเรื่องปกติและสามารถอธิบายได้ ไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจเพราะโอกาสที่จะเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินนั้นมีความเป็นไปได้น้อยมาก นายศุภฤกษ์กล่าวปิดท้าย

 

หากมีความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ ประชาชาติธุรกิจจะรายงานเพิ่มเติมต่อไป