ภารกิจ 6 เดือน รมว.ดีอีเอส จัดการอวตาร ไม่ปล่อยลอยนวลพ้นผิด

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์
ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์

ในแวดวงการเมืองอาจคุ้นเคยกับเขาดี แต่ไม่ใช่ในแวดวงธุรกิจ พลันที่ชื่อของ “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” ปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 10 ของพรรคพลังประชารัฐ ได้รับแต่งตั้งให้มานั่งเป็นเจ้ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เมื่อ 6 เดือนก่อน ไล่เรี่ยกับการกลับมาระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 และกระแสข่าวปลอม-เฟกนิวส์ท่วมสื่อโซเชียล

นั่นทำให้บทบาทของกระทรวงดีอีเอสในช่วงนั้นเทน้ำหนักมายังการไล่ล่าปราบปราม “เฟกนิวส์” เป็นพิเศษ ในขณะที่หลายฝ่ายคาดหวังและอยากเห็นมากกว่านั้น อย่างที่รู้กันว่า “ดิจิทัล” ได้เข้าไปเกี่ยวกับทุกสิ่ง โดยเฉพาะเมื่อมีโควิด-19 เป็นตัวเร่ง บทบาทของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ก็ไม่น่าจะต่างกันนัก

สงครามโควิด-เฟกนิวส์

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์

“ชัยวุฒิ” บอกว่า ช่วงที่มารับตำแหน่งใหม่ ๆ สถานการณ์โควิดในประเทศไทยค่อนข้างรุนแรง เปรียบได้กับภาวะกึ่งสงครามกับโควิด แต่ปัจจุบันเริ่มคลี่คลายลงแล้ว แม้อาจไม่ถึงกับบอกได้ว่า “เราชนะโควิดแล้ว” แต่เชื่อว่าคนไทยเริ่มยอมรับและปรับตัวที่จะอยู่กับ “โควิด” ได้บ้างแล้ว

“เราต้องเรียนรู้ เราต้องเปิดประเทศ และต้องอยู่กับมันให้ได้ เมื่อก่อนตกใจก็ปิดไป เหมือนเฟก นิวส์ที่มักจะมาในช่วงบ้านเมืองมีวิกฤต ช่วงนั้นมีทั้งเรื่องการเมืองกับเรื่องโควิดปนกันทำให้ดูมีความวุ่นวาย แต่เมื่อโควิดคลี่คลาย เฟกนิวส์ก็จะลดลงไปเอง เหมือนตอนนี้หลังสู้กับโควิดมาถึงช่วงปลายก็เริ่มจะอยู่ร่วมกันได้”

ปมร้อนล่าสุด กรณีพบผู้ถือบัตรเครดิตและบัตรเดบิตจำนวนมากประสบปัญหาในการชำระเงินโดยที่ไม่ได้ทำธุรกรรมด้วยตนเอง “ดีอีเอส” ไม่รอช้า ออกมาสั่งการหน่วยงานในสังกัดให้ตรวจสอบ และประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อทันที

“ชัยวุฒิ” กล่าวว่า จากข้อมูลการตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีบทบาทโดยตรงในการกำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยในการทำธุรกรรมการโอนเงิน หรือการตัดบัญชี ยืนยันว่าไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของธนาคาร โดยระบบของทุกธนาคารยังมีความมั่นคงปลอดภัย

ออกกฎหมายลูกเร่งอุดช่องโหว่

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากการใช้ช่องว่างจากการโอนเงิน ไม่ได้เป็นการแฮกเข้าไปในระบบ หรือแอปของธนาคาร ซึ่งดีอีเอสและธนาคารต่าง ๆ คงต้องเข้าไปดูว่าระบบมีช่องทาง ช่องโหว่ตรงไหนหรือไม่ และเร่งแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้นอีก”

อย่างไรก็ตาม ธปท.มีการตรวจสอบแล้วพบว่ามีผู้ใดที่เกี่ยวข้องในกระบวนการนี้ก็ขอให้ส่งข้อมูลมา ทางดีอีเอสและเจ้าหน้าที่ตำรวจจะติดตามดำเนินคดีให้ถึงที่สุด

“เราจะไม่ปล่อยให้คนผิดหรือคนกลุ่มนี้ลอยนวล แม้จะมีกรณีที่เป็นเว็บร้านออนไลน์ในต่างประเทศแต่บัญชีที่รับโอนก็เปิดในเมืองไทย ต้องมีคนไทยเกี่ยวข้องเป็นผู้ร่วมกระบวนการทำความผิด” โดยตนได้หารือกับผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA เพื่อเร่งดำเนินการในการบังคับใช้กฎหมาย ด้วยการออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล

“คอนเซ็ปต์คือ ต้องดูว่าการดำเนินธุรกิจไหนในไทยต้องมาจดแจ้ง มาลงทะเบียน โดยอาจพิจารณาตามขนาด รูปแบบธุรกิจ หรือกรณีที่เป็นบริษัทต่างประเทศก็ต้องมาจดแจ้ง และต้องมีตัวแทนในไทยด้วย เพราะหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจะได้หาผู้รับผิดชอบได้ อีกส่วนคือต้องมีการยืนยันตัวตนผู้ขายอย่างชัดเจน จะใช้อวตารไม่ได้”

ขับเคลื่อน 4 ภารกิจ

“ชัยวุฒิ” พูดถึงบทบาทหน้าที่ของกระทรวงดีอีเอสด้วยว่า มี 4 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.การวางโครงสร้างพื้นฐาน 2.การกำกับดูแลเรื่องของกฎหมาย และการออกกฎระเบียบ 3.การสร้างองค์ความรู้และบุคลากร และ 4.การสร้างโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้โครงสร้างพื้นฐานที่วางไว้ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยให้ประชาชนและภาคเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

“เรื่องการวางโครงสร้างพื้นฐาน เป็นการดำเนินการต่อเนื่องมา เช่น โครงการเน็ตประชารัฐจากเดิมที่อินเทอร์เน็ตจะมีอยู่แค่ในเมือง เราจึงต้องพยายามผลักดันว่ามีการลากสายไป เพราะคนจะใช้ไม่ใช้ก็เป็นอีกเรื่อง แต่ต้องมีแบ็กโบนให้ โดยเอ็นทีเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งจากงบของเอ็นที และบางส่วนกสทช.ทำ ส่วนเอกชนจะมาเกาะไปใช้ต่อหรือขายต่อก็แล้วแต่”

อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าปัจจุบันอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยคิดเป็นสัดส่วน 80% ของประชากรถือว่าอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก สะท้อนให้เห็นว่าอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยค่อนข้างครอบคลุมแล้ว

“โครงการเน็ตประชารัฐ สิ่งที่มีการปรับเปลี่ยนคือปรับให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการรับช่วงไปดูแลและพัฒนาต่อ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล เป็นต้น เพิ่งส่งเรื่องให้ครม.พิจารณา เป้าหมายสำคัญก็เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม ทั้งการเป็นสมาร์ทซิตี้ การติดตั้ง Free Wi-Fi ให้ประชาชนในท้องถิ่น เพราะท้องถิ่นต่าง ๆ เขาจะรู้และเข้าใจความต้องการของประชาชนมากกว่ารัฐบาลกลาง”

เรื่องที่ 2 การกำกับดูแลกฎหมาย “ชัยวุฒิ” กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายไทยมีเกือบทุกด้านแล้ว เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562, พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นต้น ซึ่งข้อบังคับต่าง ๆ ใช้ได้ดีในระดับหนึ่ง แต่อาจยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากประชาชนยังไม่รับรู้อย่างทั่วถึง รวมถึงกฎต่าง ๆ อาจยังไม่ชัดเจน

พัฒนาคน-เชื่อมโยงข้อมูล

3.การสร้างองค์ความรู้ และพัฒนาบุคลากร ถือเป็นอีกความท้าทายของกระทรวงดีอีเอสด้วยว่าประเทศไทยยังขาดบุคลากรที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญด้านไอทีจำนวนมาก ที่จะเข้ามาช่วยดูแล กำหนดมาตรฐาน แก้ไข และรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศ อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งกระทรวงดีอีเอสยังมีไม่เพียงพอ

“ในมุมของการลงทุนอาจค่อนข้างสูง แต่ถือว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับความเสียหายทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จากการโดนแฮกเกอร์โจมตี อย่างกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้น ไม่ถือว่าเป็นการแฮกข้อมูลจากแฮกเกอร์แต่ใช้ช่องว่างของการโอนเงินเข้ามา เช่น โอนเงินไม่กี่บาท ไม่ต้องใช้ OTP แต่มีการโอนหลายรอบ เป็นต้น”

เรื่องที่ 4 คือการสร้างโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้โครงสร้างพื้นฐานที่วางไว้ เช่น แอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” ซึ่งกระทรวงดีอีเอสรับช่วงต่อมาจากกลุ่มผู้พัฒนาและได้มอบหมายให้ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (เอ็นที) เข้ามาดูแล โดยให้ใช้คลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) รองรับปริมาณข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น ล่าสุด “ไทยแลนด์พาส” ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเข้าไปลงทะเบียน

สร้างตัวช่วยธุรกิจ-ปกป้องผู้ใช้งาน

“ไทยแลนด์พาส เป็นการลงทะเบียนเป็นเว็บเบส เป็นเว็บให้ผู้ที่จะเข้ามาในประเทศไทยเข้าไปคีย์ข้อมูลต่าง ๆ เพื่อออกใบอนุญาตเข้าประเทศ แต่กระทรวงดีอีเอสไม่ใช่กระทรวงที่ทำแอปพลิเคชั่น มีเฉพาะแค่หมอชนะที่รับมาทำต่อ โดยหลักแล้ว ไม่ว่าจะมีแอปอะไรต่าง ๆ ก็อยากให้เกิดคอนเซ็ปต์วันแพลตฟอร์ม คือการรวมกัน”

เป็น one platfrom one country ซึ่งไม่ง่ายแต่อยากให้เกิดในความหมายที่ว่าให้ข้อมูลทุกอย่างเชื่อมถึงกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ เพื่อให้เกิดการนำไปพัฒนาต่อยอดได้

“การพัฒนาดิจิทัล ไม่ใช่อะไรที่ทำวันเดียวจบ แต่เป็นการทำงานที่ต้องค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป การเข้ามาทำงานในครั้งนี้มีเป้าหมายชัดเจน 2 เรื่อง คือ 1.ต้องการให้ธุรกิจไทย เอสเอ็มอี สตาร์ตอัพไทยแข่งขันได้ด้วยการสร้างระบบ สร้างอีโคซิสเต็มต่าง ๆ ขึ้นมา โดย ก.ดีอีเอสกำลังเร่งดำเนินการ ส่วนที่ 2 คือ การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์ให้ภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงประชาชน วันนี้คนใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น แต่ความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ อาจยังมีน้อย ทำให้เกิดการหลอกลวงทางออนไลน์ ซึ่งเราพยายามเร่งแก้ไขและปิดช่องโหว่ต่าง ๆ”