เฟซบุ๊กกับวิกฤตครั้งใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม

facebook
คอลัมน์ : Tech Times
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ก่อนจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2012 “เฟซบุ๊ก” เคยเผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่ วันนั้นรายได้ของบริษัทหล่นวูบ ขณะที่รายจ่ายพุ่งกระฉูดเพราะตามหลังคู่แข่งในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคสมาร์ทโฟน แต่บริษัทใช้เวลาแค่ 2 ปีกู้วิกฤตด้วยยอดขายที่พุ่งขึ้นถึง 72% หลังปรับโครงสร้างองค์กรขนานใหญ่เพื่อรองรับการให้บริการแบบ mobile-first อย่างเต็มตัว

นับจากนั้นเฟซบุ๊กไม่เคยเพลี่ยงพล้ำในเกมการแข่งขันอีกเลย ตรงกันข้ามบริษัทร่ำรวยขึ้นทุกวัน และทำให้ “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” ติดโผ top ten บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกตั้งแต่ปี 2018

แต่สถิตินั้นกำลังถูกท้าทายด้วยปัญหาที่ถาโถมไม่หยุดหย่อน

กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กหรือ Meta ช็อกนักลงทุนด้วยตัวเลขผู้ใช้ลดลงเป็นครั้งแรกตั้งแต่ให้บริการมา ส่งผลให้หุ้นร่วงถึง 26% พร้อมมูลค่าของบริษัทหายวับไปในพริบตาถึง 237 พันล้านเหรียญ นับเป็นวันที่บริษัทเสียหายวินาศสันตะโรที่สุดหลังนำหุ้นเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์

ที่ร่วงไปพร้อมราคาหุ้น คือ ตำแหน่งมหาเศรษฐีของมาร์กที่หล่นจากอันดับ 8 ไปที่อันดับ 12 เป็นครั้งแรกที่มาร์กหลุดโผ 10 คนที่มั่งคั่งที่สุดของโลกในรอบ 5 ปี

นอกจากปัญหาลูกค้าน้อยลงแล้ว บริษัทยังเผชิญกับปัญหาหลายด้าน ทั้งด้านกฎหมายการแข่งขันที่อาจส่งผลต่อการประกอบธุรกิจในระยะยาว ปัญหาอื้อฉาวด้านภาพลักษณ์จากการแฉของพนักงาน ไปจนถึงปัญหาการสร้างรายได้ใหม่จากโลกเสมือนหรือ “เมตาเวิร์ส” ที่แม้ว่ามาร์กจะเชื่อมั่นว่า “เมตาเวิร์ส” จะเป็นตัวช่วยให้เขาประสบความสำเร็จได้เหมือนที่ “สมาร์ทโฟน” เคยทำได้มาแล้ว แต่ก็ยังไม่ทำให้นักลงทุนและนักวิเคราะห์ซื้อไอเดียนี้เท่าไร

ADVERTISMENT

หนึ่งในคำวิจารณ์ คือ สถานการณ์ของ Meta วันนี้กับเฟซบุ๊กในวันก่อนแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง วันที่เฟซบุ๊กตัดสินใจกระโดดเข้าสู่ยุค mobile-first เต็มตัวนั้น ตลาดโมบายอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนกำลังเฟื่องฟู ทำให้มองเห็นโอกาสทำเงินได้ชัดเจน

แต่วันนี้โลกในฝันของมาร์กที่เขาเรียกว่า “เมตาเวิร์ส” ยังห่างไกลคำว่า “ชัดเจน” อยู่หลายขุม

ADVERTISMENT

ในปี 2012 ที่เฟซบุ๊กประกาศมุ่งหน้าเป็นบริการแบบ mobile-first นั้น ตลาดสมาร์ทโฟนกำลังมาแรงด้วยยอดขายหลายร้อยล้านเครื่อง ก่อนขยับเป็นหลักพันล้านเครื่องในอีกไม่กี่ปี แต่แว่น VR (อุปกรณ์ที่เชื่อว่าเป็นบันไดขั้นแรกสู่โลกเมตาเวิร์ส) มียอดขายทั่วโลกเมื่อปีก่อนอยู่ที่ 9.4 ล้านชิ้นเท่านั้น

ขณะที่แผนก VR/AR ของเฟซบุ๊กผลาญเงินไปแล้วกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญในปี 2021 ยังไม่รวมค่าซื้อกิจการ Oculus (บริษัทเจ้าของแว่น VR) ในปี 2014 และค่าพัฒนาอุปกรณ์ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

“ราเชล โจนส์” นักวิเคราะห์จาก GlobalData มองว่า การที่เฟซบุ๊กทิ้งธุรกิจหลักเพื่อทุ่มสรรพกำลังทั้งหมดให้กับการสร้างเมตาเวิร์สเป็นกลยุทธ์ที่ไม่ฉลาดนัก แม้เมตาเวิร์สจะเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการเติบโต แต่ต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีกสิบปีกว่าจะไปรูปเป็นร่าง

“แอนจีโล ซิโน” นักวิเคราะห์จาก CFRA Research ชี้ว่า แม้จะทุ่มเงินทำรีแบรนดิ้งครั้งใหญ่ แต่ไม่ได้ช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอยู่ดี ในแง่ของฮาร์ดแวร์ก็สู้ Apple ไม่ได้ จะหันไปสู้ด้านซอฟต์แวร์ก็ยังห่างชั้นกับ roblox ครั้นจะหันไปเจาะกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นที่เชื่อว่าจะเป็นกลุ่มผู้ใช้หลักของเมตาเวิร์สในระยะแรกก็สู้ TikTok ไม่ได้อีก เพราะเฟซบุ๊กวันนี้โดนมองว่าเป็นแพลตฟอร์มของคนสูงวัย หรือเป็นช่องทางที่เด็กใช้ติดต่อกับญาติผู้ใหญ่เท่านั้น

การเปลี่ยนนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Apple ยังส่งผลต่อรายได้จากการโฆษณาของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ขนาดที่ประธานด้านการเงินของบริษัทยังยอมรับว่าอาจสูญเงินถึง 1 หมื่นล้านเหรียญในปีนี้

ที่น่ากังวลที่สุด คือ การที่บริษัทไม่สามารถดึงดูดผู้ใช้งานรุ่นใหม่ได้ เพราะโดนคู่แข่งที่น่ากลัวอย่าง TikTok แย่งลูกค้าที่เป็นวัยรุ่นไปเกือบหมด อีกทั้งการที่เฟซบุ๊กมีผู้ใช้งานทั่วโลกอยู่ถึง 3 พันล้านบัญชี โอกาสในการเติบโตไปกว่านี้ก็ดูจะยาก หรือแพลตฟอร์มนี้อาจมาถึงทางตันแล้วก็เป็นได้

ความวิตกต่ออนาคตของแพลตฟอร์มเดิม และความไม่แน่นอนของแพลตฟอร์มใหม่อย่างเมตาเวิร์ส ทำให้บริษัทประเมินว่ารายได้อาจเติบโตในไตรมาสแรกปีนี้ในช่วง 3-11% เท่านั้น เทียบกับ 48% ในปีก่อน

ถึงไม่ได้หมายความว่าบริษัทจะล้มละลายในทันใด เพราะผลประกอบการไม่เป็นไปตามคาด แต่ Meta ก็ยังมีรายได้ปีที่แล้วถึง 4 หมื่นล้านเหรียญ แต่ด้วยสารพัดปัญหาที่รุมเร้าและการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากผู้คุมกฎที่จ้องจะเชือดบิ๊กเทคเรื่องการผูกขาดอยู่ตลอดเวลา

รวมถึงแรงกดดันจากภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอที่เรียกร้องเรื่องความโปร่งใสและการรักษาข้อมูลของผู้บริโภค ทำให้สถานการณ์ในวันนี้มีความซับซ้อนและแตกต่างจากวิกฤตที่บริษัทเคยเผชิญในปี 2012

คำถามคือ เฟซบุ๊กหรือ Meta จะสามารถฝ่าวิกฤตเหมือนที่เคยทำได้เมื่อสิบปีก่อนอีกครั้งหรือไม่