ผ่าแนวคิด เอ็กซ์สปริง-กันตนา Cocreation ตอบโจทย์เกมเมอร์

ตลาดเกมเมอร์กลายเป็นเป้าหมายสำคัญของหลายธุรกิจ ไม่ใช่เพราะมีคนเล่นเกมมากถึง 1 ใน 3 ของประชากรในประเทศเท่านั้น แต่เพราะนักเล่มเกมเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง

ล่าสุด 2 บริษัท จาก 2 ธุรกิจ “เอ็กซ์สปริงฯ” และ “กันตนา กรุ๊ป” ก็กระโดดเข้ามาชิงเค้กในตลาดเกมเช่นกัน โดยลงทุนกว่า 100 ล้านบาท ครีเอต “THE UP RANK PROJECT” ร่วมกัน พร้อมประกาศว่าจะเชื่อมโยงระบบนิเวศในโลกของ “เกมอีสปอร์ต-ภาพยนตร์ และไลฟ์สไตล์” เข้าด้วยกันเพื่อตอบโจทย์เกมเมอร์

ต่างฝ่ายต่างรับผิดชอบในส่วนที่ตนถนัด โดย “เอ็กซ์สปริงฯ” ในฐานะผู้ให้บริการด้านการเงินดิจิทัลครบวงจร รับหน้าที่พัฒนาแอปพลิเคชั่น THE UP RANK ส่วน “กันตนา” สร้างคอนเทนต์และกิจกรรมต่าง ๆ

ร่วมกับ 5 พันธมิตรด้านไลฟ์สไตล์ ได้แก่ ทรู, สยามพิวรรธน์, ลาซาด้า, อโกด้า และดาคาซี่ จนออกมาเป็นแพ็กเกจ “THE UP RANK PACK” (ราคา 650 บาท มีจำนวนจำกัด 1 แสนแพ็ก)

ทั้ง “เอ็กซ์สปริงฯ และกันตนา” มั่นใจว่า “THE UP RANK PACK” จะขายหมดภายใน 2 เดือน หรือภายในเดือน ส.ค.นี้ ด้วยสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ออกมาแบบเพื่อกลุ่มเกมเมอร์โดยเฉพาะ

ไม่ว่าจะเป็น Limited Edition Skin Items จากเกม PUBG MOBILE, สิทธิพิเศษด้านไลฟ์สไตล์ เช่น ได้เน็ตฟรี 2GB จากทรู 5G, ส่วนลด 1,500 บาทในการจองที่พักจากอโกด้า, ส่วนลดซื้อสินค้าในเกมสเตชั่นของลาซาด้ามูลค่า 500 บาท, ส่วนลด 100 บาทเพื่อซื้อเครื่องดื่มเมนูต่าง ๆ ของดาคาซี่, ส่วนลดในการช็อปปิ้งที่ห้างในเครือสยามพิวรรธน์ และสิทธิในการเข้า prohub พื้นที่สำหรับคนรักเกมที่จะเปิดตัวในไตรมาส 4/2565 เป็นต้น

ที่มา “ดิ อัพ แรงค์ โปรเจ็กต์”

“ศศิกร ฉันท์เศรษฐ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การผลิตคอนเทนต์เป็นธุรกิจหลักของกันตนา เป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่มีอิทธิพลที่สุดกับทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือองค์กรต่าง ๆ ซึ่งคอนเทนต์ไม่จำเป็นต้องเป็นภาพยนตร์, เพลง, ละคร หรือซีรีส์เท่านั้น โดยเริ่มมาทำรายการเกี่ยวกับเกมในชื่อ King Of Gamer ตั้งแต่ 4-5 ปีก่อน เป็นอีสปอร์ตรายการแรกของโลกที่ออกอากาศทางทีวี

ศศิกร ฉันท์เศรษฐ์
ศศิกร ฉันท์เศรษฐ์

“รายการนี้เกิดจากการผลักดันของคุณกัลป์ กัลย์จาฤก (ปัจจุบันเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานคอนเทนต์และโปรดักชั่น) ตอนนั้นพวกเราเองก็ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไร เพราะถือเป็นสิ่งใหม่มากยุคนั้น และเป็นเทรนด์ของโลกด้วยจึงคิดว่าถ้าเป็นสิ่งใหม่และเป็นเทรนด์ของโลกก็น่าจะนำมาออกทีวีได้”

แต่ King Of Gamer ไม่ใช่แค่รายการโทรทัศน์ แต่เป็นเหมือน “คอมมิวนิตี้” ที่แข็งแกร่งมากของอีสปอร์ตที่สร้างนักกีฬาอีสปอร์ตให้ติดทีมชาติมาแล้วด้วย

“อีสปอร์ตจึงไม่ใช่แค่เด็กเล่นเกม แต่เป็นกีฬา เป็นอาชีพได้ สิ่งที่น่าทึ่งกว่าสำหรับเรา คือ คอมมิวนิตี้ ของคิงส์ ออฟ เกมเมอร์ที่แข็งแรงและใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันมีร่วม 2 แสนคน จุดนี้ทำให้คุณจาฤก (ประธานกรรมการ กันตนา กรุ๊ป) คิด The Up Rank โปรเจ็กต์ขึ้นมา”

วรางคณา อัครสถาพร
วรางคณา อัครสถาพร

Cocreation ตอบโจทย์เกมเมอร์

ด้าน “วรางคณา อัครสถาพร” ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พฤติกรรมผู้บริโภคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และเริ่มคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงโควิด ทำให้การใช้จ่ายผ่านมือถือเป็นเรื่องปกติ แม้แต่ร้านค้าข้างถนนก็ใช้ได้อย่างสะดวก บริษัทอยู่ในธุรกิจดิจิทัลจึงมองเห็นถึงความสำคัญนี้

สอดรับกับข้อมูลจากการสำรวจของบริษัทวิจัยแมคคินซีย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่พบว่า การใช้ดิจิทัลแบงกิ้งระหว่างปี 2017-2021 เติบโตจาก 55% เป็น 88% ขณะที่การทดลองบริการการเงินใหม่ ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นจาก 6% เป็น 24%

“สิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก คือ เทคโนโลยีบล็อกเชน และสมาร์ทคอนแทร็กต์ ซึ่งอยู่เบื้องหลังการทำดิจิทัลแอสเซตต่าง ๆ และเราเชื่อว่าเรื่องดิจิทัลกับไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิต และความบันเทิงต่าง ๆ จะผนวกเข้าด้วยกัน”

นั่นคือสาเหตุที่ทำให้บริษัทเข้ามาร่วมลงทุนในโปรเจ็กต์ดังกล่าวด้วย โดยเข้ามาทำในส่วนที่เป็นอินฟราสตรักเจอร์

“เราจะทำเรื่องดิจิทัลแอสเซตหรือยูทิลิตี้โทเค็น อันนี้ยังไม่ใช่ fully utility token แต่สร้างอินฟราสตรักเจอร์ไว้แล้วเพื่อช่วยกันตนาให้ผู้สนใจเข้ามาใช้ได้ง่ายขึ้น โดยทำเป็นแอปพลิเคชั่นจริง ๆ กลุ่มเกมเมอร์จะคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอยู่แล้ว โ

จทย์ของเราจึงเป็นการทำอย่างไรให้คนใช้ถูกใจ ทั้งในแง่ความสะดวก ปลอดภัย การเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ หรือแม้แต่การจ่ายเงินซื้อแพ็กเกจก็ต้องทำได้ง่ายด้วยการเป็นมัลติเปย์เมนต์”

ผู้บริหาร “เอ็กซ์สปริงฯ” กล่าวด้วยว่า กันตนามีชื่อเสียงมาอย่างยาวนานในฐานะผู้ผลิตคอนเทนต์หลัก ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะเรื่องเกมดังจะเห็นได้จากความสำเร็จของรายการ King Of Gamer ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก แม้รายการจะจบไปแล้วซึ่งตลาดเกมในไทยถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และเติบโตต่อเนื่อง

โดยในปีที่ผ่านมามีคนเล่มเกมเพิ่มขึ้นถึง 8 ล้านคน ทำให้ปัจจุบันมีคนเล่นมากกว่า 27 ล้านคน มีมูลค่าในเชิงธุรกิจสูงถึง 1.7 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มคนเล่นเกมมีการใช้จ่ายต่อหัวค่อนข้างสูงถึงประมาณ 1,720 บาท

ทั้งพบด้วยว่ากลุ่มหลักไม่ใช่เด็กแต่มีอายุระหว่าง 25-34 ปี คิดเป็นสัดส่วนถึง 31.4% รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 35-44 ปี สัดส่วน 4.8% ทำให้กลุ่มคนทำงานเป็นกลุ่มหลัก และกว่า 40% เป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง

จิรัจ กัลย์จาฤก
จิรัจ กัลย์จาฤก

พลิกธุรกิจเชื่อมโลกใหม่

“จิรัจ กัลย์จาฤก” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) อธิบายเพิ่มเติมว่า โปรเจ็กต์นี้คิดค้นขึ้นมาบนอีโคซิสเต็มที่อยากขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์และอุตสาหกรรมเกมในประเทศไทย เริ่มจากการสร้างภาพยนตร์ “THE UP RANK อาชญาเกม” มีเนื้อหาตีแผ่วงการเกมในมุมใหม่ ๆ ที่คนส่วนใหญ่อาจยังไม่รู้

เช่น อาชีพรับจ้างปั๊มแรงก์ในเกม ซึ่งบางประเทศผิดกฎหมาย บางประเทศไม่ผิด กฎหมายแต่ผิดกฎเกม เป็นต้น โดยจะเชื่อมโยงภาพยนตร์ไปสู่ความหลงใหลในเกมผ่านแอปพลิเคชั่น ร่วมไปกับ THE UP RANK PACK

“เราต้องการเป็นแอปของเกมเมอร์ในแพ็กจึงมีดีลพิเศษ ๆ สำหรับเกมเมอร์โดยเฉพาะ เช่น จะได้ Limited Edition Skin Items จากเกม PUBG MOBILE ที่ไม่สามารถหาได้จากที่อื่น, สิทธิในการชมภาพยนตร์ THE UP RANK อาชญาเกม ก่อนใครวันที่ 4 สิงหาคมนี้ ร

วมถึงพริวิลเลจต่าง ๆ จากพันธมิตรไลฟ์สไตล์ เช่น ทรู 5G ให้เน็ตฟรี 2GB นาน 7 วัน หรือร่วมกับทรูและสยามพิวรรธน์ทำคอมมิวนิตี้สำหรับคนที่สนใจอีสปอร์ตชื่อโปรฮับที่สยามดิสคัฟเวอรี่เพื่อให้มาแฮงเอาต์กับเพื่อน หรือพบโปรฯที่เขาชื่นชอบ เป็นต้น”

ทั้งยังเตรียมต่อยอดแคแร็กเตอร์ “พี่ UP RANK” ในภาพยนตร์มาเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบ “NFT Art” เพื่อเอาใจนักสะสมและนักลงทุนในดิจิทัลแอสเซตอีกด้วย

ชัดเจนว่า THE UP RANK PROJECT ไม่ใช่แค่การผลิตคอนเทนต์ แต่คือการสร้างแพลตฟอร์มที่รวมไลฟ์สไตล์ทั้งสายเกม สายคอนเทนต์ และไลฟ์สไตล์ รวมไปถึงการใช้ชีวิตของเกมเมอร์ให้มารวมกันอยู่ในคอมมิวนิตี้เดียวกัน

“ศศิกร” ทิ้งท้ายด้วยว่า สำหรับกันตนาถือเป็นการทรานส์ฟอร์มตนเองอย่างหนึ่ง โดยคาดหวังให้เป็นมาตรฐานใหม่ของการอยู่รอดของธุรกิจบันเทิงในยุคนี้ เพราะผู้บริโภคเปลี่ยน ตลาดเปลี่ยน โดยมีโควิดเป็นตัวเร่งให้เร็วขึ้น

“เราต้องสร้างอะไรสักอย่าง ซึ่งก็คือแพลตฟอร์มที่ทำให้คนเชื่อมโยงกับคอนเทนต์ นำคอนเทนต์ไปเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน กับไลฟ์สไตล์ และตอบโจทย์ผู้บริโภค ผู้สนับสนุน และสร้างคอมมิวนิตี้ที่แข็งแกร่งขึ้นมาได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน”