จาฤก กัลย์จาฤก “ตอนนี้ผมเป็นโค้ช…เจน 3 กันตนา”

สัมภาษณ์

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2494 “กันตนา” ได้ถือกำเนิดเป็นครั้งแรก โดยสองหัวเรือใหญ่ “ประดิษฐ์ กัลย์จาฤก” และ “สมสุข กัลย์จาฤก” จากการทำละครวิทยุ ซึ่งประสบความสำเร็จและเป็นที่นิยมทั่วประเทศ

และเป็นรากฐานอันแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจ หลายปีผ่านไปการเข้ามารับช่วงต่อของทายาทรุ่นสอง “กันตนา” ได้ผันตนเองสู่วงการโทรทัศน์ และยังเป็นธุรกิจรายแรก ๆ ที่สยายปีกเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ โดยนำละครโทรทัศน์ยอดฮิตหลายเรื่อง ไปพากย์เสียงเป็นภาษาต่างประเทศ

ตลอดจนขยายงานครอบคลุมธุรกิจสื่อบันเทิงทุกด้าน และก้าวสู่ผู้นำที่มีบทบาทในอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงของประทศไทย ปัจจุบันมีบริษัทในเครือราว 17 บริษัท รวมถึงการขยายงานครอบคลุมกว่า 40 ประเทศทั่วโลก และขณะนี้ถือเป็นปฐมบทการเริ่มเข้าสู่ยุคทายาทรุ่นที่ 3 ผ่านการเข้ามาบริหารส่วนงานสำคัญ ภายใต้การกำกับดูแลของทายาทรุ่น 2

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “จาฤก กัลย์จาฤก” พี่ใหญ่ ทายาทรุ่น 2 ของตระกูลกัลย์จาฤก ประธานกรรมการ บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่วันนี้มีธุรกิจสื่อบันเทิงทุกด้าน ทั้งธุรกิจคอนเทนต์และโปรดักชั่น สร้างสรรค์และผลิตคอนเทนต์เพื่อสื่อทุกแพลตฟอร์ม, ธุรกิจโปรดักชั่นเซอร์วิส

ให้บริการเครื่องมือ อุปกรณ์การถ่ายทำ และบริการหลังการผลิตครบวงจร รวมถึงให้บริการสตูดิโอมาตรฐานสากล, ธุรกิจเอดูเคชั่น ต่อยอดฐานความรู้ให้แก่สังคม ผ่านสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเฉพาะทางในรูปแบบมหาวิทยาลัยบริษัท (Corporate University) โดยเปิดสอนเกี่ยวกับการจัดการสื่อบันเทิงต่าง ๆ และธุรกิจอีเวนต์และนิวบิซ จัดกิจกรรมด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์ให้แก่ภาครัฐและภาคเอกชน

ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส

“จาฤก” เริ่มต้นด้วยการฉายภาพผลกระทบจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า ปัจจุบันแม้จะมีปัจจัยบวกจากการเข้ามาของวัคซีน และการค่อย ๆ ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของภาคเศรษฐกิจ แต่ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมสื่อโดยรวมได้รับผลกระทบไม่น้อย โดยเฉพาะสื่อทีวีดิจิทัลในปีที่ผ่านมาสูญเงินจากภาคธุรกิจตัดงบฯโฆษณาเพื่อรัดเข็มขัด และยังส่งผลกระทบเป็นโดมิโนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้อง หนึ่งในนั้นคือธุรกิจคอนเทนต์ ซึ่งเป็นสายน้ำเส้นหนึ่งที่หล่อเลี้ยงกันตนา

อย่างไรก็ตาม คีย์แมนกันตนายังเชื่อว่าทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ โดยเล่าย้อนความไปครั้งเหตุการณ์ต้มยำกุ้งปี 2540 ว่า เปรียบเสมือนการเผชิญกับความมืด ต้องต่อสู้กับปัญหารอบด้าน รายรับขาดหายในขณะที่รายจ่ายมากกว่าเดิม ทำให้ในช่วงนั้นต้องตัดใจขายทรัพย์สินบางส่วน เพื่อให้ธุรกิจสามารถไปต่อได้

และเมื่อธุรกิจเริ่มฟื้นจนกลับมารุ่งดังเดิม จึงได้ทยอยซื้อทรัพย์สินทั้งหมดคืนมา หรืออีกกรณีหนึ่ง คือ การเข้ามาดิสรัปชั่นของดิจิทัล ส่งผลกระทบต่อธุรกิจฟิล์มแล็บซึ่งเคยเป็นเรือธงของกันตนา ต้องเร่งปรับรูปแบบมาเป็นดิจิทัลแทน เพื่อก้าวให้ทันโลก

ส่วนสถานการณ์โควิด-19 แม้จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจในไทยและทั่วโลกแบบซึมลึก และอาจใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่าเหตุการณ์ต้มยำกุ้ง แต่ข้อดีคือการคาดเดาสถานการณ์ได้ง่ายกว่า โดยประยุกต์การแก้ปัญหาจากสถานการณ์วิกฤตในก่อนหน้านี้ ผนวกกับการจัดการความร่วมมือในองค์กร สร้างความแน่นแฟ้นและความเข้าใจซึ่งกันและกัน

เริ่มจากการปรับการทำงานมาใช้ระบบโอเคอาร์ (OKRs) ส่งเสริมให้พนักงานกำหนดเป้าหมายของตนเองและประเมินโดยวัดจากผลงาน มากกว่าการกำหนดให้พนักงานทำตามนโยบายบริษัทหรือคำสั่งจากบริษัทเท่านั้น รวมไปถึงการจัดเวิร์กช็อปภายในองค์กร

นอกจากนี้ ยังใช้โอกาสนี้ลีนองค์กรครั้งใหญ่ ทั้งการลดค่าใช้จ่ายจากการบริหารงาน รวมไปถึงการจัดการลดต้นทุนในด้านต่าง ๆ อาทิ การเจรจากับหน่วยงานภายนอก เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายให้คุ้มค่าที่สุด

“บางครั้งธุรกิจก็ต้องการการเขย่าจากวิกฤต เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ดีขึ้น ช่วงแรกที่เกิดโควิด ในฐานะผู้บริหารต้องกล้าตัดสินใจ เราได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานหลายรูปแบบให้เป็นนิวนอร์มอล เช่น การทำงานที่บ้าน ตลอดจนการลดค่าใช้จ่าย แต่เพิ่มปริมาณการผลิตให้มากขึ้น เป็นต้น จึงอาจกล่าวได้ว่าโควิดเป็นอีกหนึ่งโอกาสให้เราปรับวิธีการทำงานไปสู่รูปแบบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

เสริมทัพคนรุ่นใหม่

แม่ทัพใหญ่กันตนากล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กันตนาเริ่มเข้าใกล้ศักราชใหม่ขึ้นทุกที โดยผู้บริหารรุ่นที่ 3 เริ่มเข้ามามีบทบาทการบริหารมากขึ้น จากก่อนหน้านี้เมื่อราว 10 ปีก่อน เริ่มเข้าเรียนรู้งานตั้งแต่ระดับล่าง และค่อย ๆ ให้บริหารบริษัทในเครือ จนเริ่มเข้าสู่การขึ้นมาบริหารกันตนากรุ๊ปอย่างเต็มตัวมากขึ้น

โดยจะให้ผู้บริหารรุ่น 3 สลับกันเป็นประธาน เพื่อจัดประชุมกลยุทธ์ในทุกสัปดาห์ ขณะที่ทายาทรุ่น 2 มีหน้าที่วางตัวเสมือนโค้ช คอยแนะนำและช่วยเหลือการวางกลยุทธ์ให้ดียิ่งขึ้น

“การทำหน้าที่โค้ชจะสอนวิธีคิดและวิธีการทำงานให้แก่ผู้บริหารรุ่น 3 โดยถ่ายทอดสิ่งต่าง ๆ ผ่านปัญหา ข้อคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ผ่านการประชุมบอร์ดบริหาร โดยผู้บริหารรุ่น 3 จะได้เรียนรู้ด้วยการเห็นวิธีการทำงานและวิธีการแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ”

โดยวันนี้กันตนามีผู้บริหารรุ่น 3 ประมาณ 4 คนที่เข้ามาคุม 4 สายงานใหญ่ ได้แก่ 1.ปิยะรัฐ กัลย์จาฤก รับตำแหน่งรองผู้อำนวยการใหญ่ ดูแลด้านสายงานครีเอทีฟทั้งหมด 2.กัลป์ กัลย์จาฤก กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานคอนเทนต์และโปรดักชั่น

3.ธนามล ธนสถิตย์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานเอดูเคชั่น 4.พิมพ์ลภัทร ไชยวิริยะโชค กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่สายงานโปรดักชั่นเซอร์วิส ทั้งนี้ การบริหารงานจะเปิดกว้างแบ่งตามความถนัดและศักยภาพของแต่ละคน

โดยมี ศศิกร ฉันท์เศรษฐ์ กรรมการบริหารและผู้อำนวยการใหญ่ ดูภาพรวมรายละเอียดงานใน 4 สายงานข้างต้น ส่วนจิตรลดา ดิษยนันทน์ กัลย์จาฤก รองประธานกรรมการบริหาร และ ผศ.ปนัดดา ธนสถิตย์ ประธานกรรมการบริหาร เข้ามาดูแลภาพรวมใหญ่ของบริษัท และนโยบายการบริหารงานอีกครั้งหนึ่ง

“การเข้ามาของผู้บริหารรุ่น 3 มีส่วนช่วยส่งเสริมกันตนา ผ่านการร่วมกันนำเสนอไอเดียดี ๆ ถ่ายทอดความคิด สิ่งที่เน้นย้ำเสมอคือ การลงเรือลำเดียวกันต้องเชื่อใจกัน พร้อมกับรับฟังและเคารพการตัดสินใจของผู้ที่มีหน้าที่ในการตัดสินใจ เพื่อช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย”

ควบคู่กับการปลูกฝังแนวคิดการตั้งใจทำทุกสิ่งให้สำเร็จ โดยไม่ปล่อยทิ้งไว้กลางทาง รวมไปถึงในด้านการสร้างผลงาน เพื่อบรรลุเป้าต้องเป็นผู้นำกระแสอยู่เสมอ และต้องดูเทรนด์ตลาดเสมอ จึงจะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในอาชีพคอนเทนต์โพรไวเดอร์

พร้อมกันนี้ พี่ใหญ่ของกันตนายังขยายความคำว่า “รุ่น 3” ในสายตาเขาว่า ไม่เพียงแต่กล่าวถึงทายาทโดยตรง แต่ยังหมายรวมไปถึงกลุ่มพนักงานรุ่นใหม่ไฟแรง ที่ได้เข้ามาเสริมทัพ ปรับภาพกันตนาไปในทิศทางแนวใหม่ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันกันตนากรุ๊ปมีสัดส่วนคนรุ่นใหม่ราว 600-700 คน

ก้าวต่อไปของกันตนา

ส่วนทิศทางของกันตนาต่อไปนี้ “จาฤก” บอกว่า หลัก ๆ จะยังคงเดินตามแนวทางที่เคยวางไว้ก่อนจะประมูลทีวีดิจิทัล โดยการตั้งตนเป็นคอนเทนต์โพรไวเดอร์ เนื่องจากเชื่อว่าคอนเทนต์เป็นอีกหนึ่งตลาดที่ใหญ่ และไม่มีการหยุดนิ่ง

ยิ่งในปัจจุบันช่องทางการรับชมคอนเทนต์ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงโทรทัศน์ แต่ยังรวมไปถึงช่องทางออนไลน์ แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งวิดีโอที่ก้าวขึ้นมาเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น จะส่งเสริมให้ตลาดคอนเทนต์เป็นตลาดที่ใหญ่ขึ้น และเป็นโอกาสไม่สิ้นสุดของกันตนา

ที่ผ่านมา ภาพของกันตนาได้เปลี่ยนไปพอสมควร จากรับงานสายการผลิตให้แก่ช่องทีวีดิจิทัลเพียงอย่างเดียว ก็เพิ่มการผลิตคอนเทนต์ป้อนให้แก่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งวิดีโอ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

รวมไปถึงการสร้างคอนเทนต์รูปแบบใหม่ที่เน้นการเผยแพร่ได้ในหลายช่องทาง ทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์ รวมถึงการนำคอนเทนต์ที่อยู่ในมือมาทำให้เกิดประโยชน์มากขึ้น อาทิ การจับมือร่วมกับแอปพลิเคชั่น JOOX นำตัวละครยอดฮิตอย่างก้านกล้วยมาพากย์นิทาน เป็นต้น

“กันตนาพยายามทำตัวเป็นน้ำ อ่อนตัวไปตามสถานการณ์และสภาพแวดล้อม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของวงการตลอดไป ส่วนเป้าในแต่ละปีอาจเติบโตเล็กน้อย และมีกำไรพอเหมาะ เพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้”