อัพเดตการทำงาน 3 เดือนแรก ภารกิจ และเป้าหมาย 5 กสทช.

แม้ทุกสายตาจะจับจ้องการทำงานของ “5 กสทช.” ชุดปัจจุบันไปยังการพิจารณาดีลควบรวมระหว่าง “ทรู-ดีแทค” และ “เอไอเอสไฟเบอร์-3 บีบี” เพราะไม่เพียงท้าทายการทำหน้าที่สำคัญในฐานะ “ผู้กำกับดูแล” (regulatory) แต่ชัดเจนว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลในหลายแง่มุมทั้งต่อธุรกิจ การแข่งขัน ผู้บริโภค และเศรษฐกิจ

ซึ่งยังต้องจับตาดูกันต่อ หลังสำนักงาน กสทช.จัดทำข้อสรุปทั้งหมดเพื่อนำเสนอบอร์ด กสทช.พิจารณาในวันที่ 3 ส.ค.นี้ แล้วจะได้ข้อสรุปในการประชุมบอร์ดนัดถัดไปที่คาดว่าจะมีอีกครั้งในวันที่ 10 ส.ค.นี้หรือไม่ แต่ในจังหวะที่ทั้ง 5 กสทช.นั่งทำงานมาครบ 3 เดือนจึงถือโอกาสเปิดเวทีอัพเดตการทำงาน และเป้าหมายของแต่ละคน

ยกระดับองค์กรเทียบสากล

เริ่มจาก ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า วิสัยทัศน์ และความตั้งใจของตนในฐานะ กสทช.คือต้องการส่งเสริม และสนับสนุนการนำระบบการแพทย์ทางไกล (telemedicine) เข้ามาเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ และสาธารณสุขให้คนไข้ ทำให้แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ติดตามดูอาการของผู้ป่วย

สอบถามพูดคุยสั่งยาตามอาการได้ แม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ช่วยลดขั้นตอน และค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา โดยเฉพาะในผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง เป็นต้น รวมถึงการจัดระเบียบสายสื่อสาร และการนำสายสื่อสารลงดิน ซึ่งดำเนินการร่วมกับหลายหน่วยงาน เช่น กฟน., กฟภ., กรุงเทพมหานคร กระทรวงมหาดไทย และผู้ประกอบการสายสื่อสาร เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชน

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ต้องการปรับองค์กร กสทช.ให้เป็นองค์กรวิชาการมากขึ้น มีความรู้ความสามารถสูงในการกำกับดูแลการแข่งขัน มีความเป็นสากล เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และเข้าไปมีส่วนร่วมในเวทีระหว่างประเทศ ด้วยการเพิ่มสายงานด้านวิชาการให้กับสำนักงาน กสทช. แบ่งเป็น 4 สำนัก และ 1 ศูนย์

โดยมีขอบเขตหน้าที่ครอบคลุมการศึกษา และวิเคราะห์นโยบายเชิงคุณภาพ เช่น การติดตามการแข่งขัน การประเมินผลกระทบทางสังคมจากนโยบายกำกับดูแล งานด้านวิเคราะห์นโยบายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี และพลวัตการแข่งขัน, การประเมินผลกระทบทางนโยบายเชิงปริมาณ เช่น การประเมินด้านราคา มูลค่าคลื่นความถี่ การคำนวณราคาตั้งต้นในการประมูลคลื่น รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นต้น

“อยากเห็นองค์กร กสทช.เป็นลักษณะเดียวกับเอฟซีซี สหรัฐ และออฟคอมของอังกฤษ ถ้าเทียบกับในไทย คือแบงก์ชาติที่กำกับดูแลไฟแนนเชียลแฟกเตอร์ เราจะมีการปรับโครงสร้างหรือลักษณะองค์กรให้เปลี่ยนไป เรื่องวิชาการต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่ ทั้งในโทรคมนาคม และบรอดแคสติ้งจะมีการนำมารวมกัน เราไปที่ไหนควรจะมีคนนับหน้าถือตาเราเรื่องโทรคมนาคม บรอดแคสติ้ง หรือดิจิทัลอีโคโนมี”

ปั้น “โซเชียลเครดิต” ดูแลเนื้อหา

พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช.กล่าวถึงงานในความรับผิดชอบว่า รับผิดชอบ 3 เรื่องหลัก คือ 1.งานด้านกิจการกระจายเสียง โดยกำหนดวิสัยทัศน์ ในการยกระดับกิจการกระจายเสียงไทย ก้าวสู่มาตรฐานสากล เพื่อสร้างสรรค์สังคมและเศรษฐกิจยั่งยืน 2.ด้านเทคนิค

และ 3.ด้านกิจการดาวเทียม ซึ่งดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์ และวิธีอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ในลักษณะจัดชุด (package) แล้ว โดยปรับปรุงการจัดชุดจากเดิม 4 เป็น 5 ชุด และกำหนดเงื่อนไขให้แตกต่างกันตามสภาพข่ายงานดาวเทียม เพื่อเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการทั้งรายเดิมและรายใหม่เข้าสู่การแข่งขันได้มากขึ้น

ฟาก กสทช. ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต กล่าวว่า มีบทบาทผลักดันใน 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.แก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และข้อความสั้นหลอกลวง (scam) ตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 10 องค์กร เพื่อประสานความร่วมมือในกระบวนการตรวจสอบเส้นทางการกระทำผิด และดำเนินการจับกุมได้ทันท่วงที โดยใช้มาตรการทางกฎหมาย และกำหนดโทษทางปกครองสำหรับผู้ให้บริการมือถือที่ฝ่าฝืนไม่ได้ดูแลการลงทะเบียนผู้ใช้บริการที่ถือมากกว่า 5 เลขหมาย (ซิม) เป็นต้น

2.พัฒนา และสร้างกลไกในการกำกับดูแลเนื้อหาให้มีคุณภาพ เรียกว่า “โซเชียลเครดิต” ที่ใช้ทั้ง “คน” และเทคโนโลยี “เอไอ” เริ่มจากทีวีดิจิทัล ซึ่งการทำเนื้อหาที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ มีผลกับเงื่อนไขใบอนุญาต และการได้สิทธิส่งเสริมเนื้อหา และ 3.สนับสนุนชุมชนที่มีความพร้อมในการดำเนินการโทรทัศน์ชุมชน

“ไม่เน้นลงโทษ แต่ป้องกัน และส่งเสริมให้เกิดคุณภาพเนื้อหาที่ดีขึ้น และร่างประกาศขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับเนื้อหาทั้งการนำเสนอเนื้อหารายการเด็กเยาวชน ชาติพันธุ์ หลากหลายทางเพศ รวมถึงภาพข่าวรุนแรงก็จะให้แนวทางที่ชัดเจนก็จะให้แนวทางว่าอะไรทำได้ไม่ได้”

ลดเหลื่อมล้ำกลุ่มเปราะบาง

ด้าน นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่าถือเป็นปรากฏการณ์ในงานระดับบริหารที่มีคนพิการเข้ามาเป็นผู้มีส่วนในการกำหนดนโยบายด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางด้อยโอกาส เข้าถึงสิทธิในการใช้ทรัพยากรโดยเฉพาะทรัพยากรสื่อสาร โดยตนได้เสนอให้ตั้งคณะอนุกรรมการการจัดให้มีบริการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และเสมอภาค สำหรับคนพิการ ผู้มีความต้องการที่หลากหลาย และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม เพื่อสร้างกลไกการแก้ปัญหาได้โดยตรง

“แม้ประเทศเราจะกระจายโครงข่ายครอบคลุม แต่ในความเป็นจริงมีหลายพื้นที่ คุณภาพสัญญาณ และการบริการไม่เท่าเทียมกัน รวมถึงราคา แม้เงินที่จ่ายจะไม่มาก แต่ถ้ามองในความเสมอภาค และปัจจัยด้านความเป็นธรรมจะพบว่าคนจำนวนมากมีอุปสรรคในการเข้าถึงบริการ หรือกรณีดิจิทัลดิสรัปต์ที่ทำให้หลายอย่างทำผ่านระบบดิจิทัล

ทำให้เกิดสถานะคนที่เข้าไม่ถึงดิจิทัล เป็นผู้ด้อยโอกาสซ้ำ เป้าหมาย กสทช. คือทำอย่างไรจะลดช่องว่างได้ จึงเสนอให้ตั้งคณะอนุกรรมการว่าด้วยการจัดบริการกระจายเสียง โทรทัศน์ เข้าถึงกลุ่มคนด้อยโอกาส เป็นคณะอนุฯที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เพื่อทำให้เห็นว่าในพื้นที่การกำหนดนโยบายมีพื้นที่ของผู้ด้อยโอกาส”