ตรุษจีน 2567 ปักหมุด 9 ศาลเจ้า-วัดจีนทั่วกรุงเทพ เสริมดวง แก้ชง ขอโชคลาภ

ตรุษจีน ศาลเจ้า

ตรุษจีน 2567 ปักหมุด 9 วัดจีนและศาลเจ้า ทั่วกรุงเทพมหานคร ทำบุญเสริมดวงชะตา แก้ชง และขอโชคลาภรับปีใหม่ ความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

วันที่ 23 มกราคม 2567 ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับ “เทศกาลตรุษจีน” หรือวันขึ้นปีใหม่ของจีน ซึ่งปีนี้ วันจ่าย วันไหว้ วันเที่ยว ตรงกับวันที่ 8, 9 และ 10 กุมภาพันธ์ ตามลำดับ

นอกจากจะจับจ่ายซื้อของกันในวันจ่าย เพื่อนำมาสักการะเทพเจ้าและบรรพบุรุษในวันไหว้แล้ว อีกกิจกรรมหนึ่งซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นอะไรดี ๆ รับปีใหม่ ผู้คนมักเดินทางไปทำบุญ ไหว้พระขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเสริมโชคลาภ บารมี และความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ตลอดจนการแก้ชง ให้ตัวเองเเคล้วคลาดปลอดภัยตลอดปีตลอดไปด้วย

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวม 9 วัดและศาลเจ้าจีน ทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนอยู่ในเยาวราช เสริมดวงชะตา แก้ชง และขอโชคลาภรับปีใหม่

วัดมังกร-วัดมังกรกมลาวาส 龍蓮寺
ภาพจาก วัดมังกร-วัดมังกรกมลาวาส 龍蓮寺

วัดมังกร เยาวราช

“วัดเล่งเน่ยยี่” หรือ วัดมังกร ตั้งอยู่ในย่านเยาวราชแหล่งชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน โดดเด่นเรื่องการทำบุญแก้ปีชง ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2414 ลักษณะสถาปัตยกรรมจีนตอนใต้ของสกุลช่างแต้จิ๋ว มีวิหารท้าวจตุโลกบาลเป็นวิหารแรก ตรงกลางเป็นพระอุโบสถ ด้านหลังเป็นวิหารเทพเจ้า

วิหารท้าวโลกบาลมีเทวรูปเทพเจ้า 4 องค์ในชุดนักรบจีนถืออาวุธ ซึ่งชาวจีนเรียกว่า “ซี้ไต๋เทียงอ้วง” หมายถึงเทพเจ้าที่ปกปักษ์รักษาคุ้มครองทิศทั้ง 4 ทิศ

สำหรับอุโบสถ ประดิษฐานพระประธานของวัด คือ พระโคตมพุทธเจ้า, พระอมิตาภพุทธะ และพระไภษัชยคุรุพุทธะ หรือ “ซำป้อหุกโจ้ว” พร้อมพระอรหันต์อีก 18 องค์ ที่เรียกว่า “จับโป๊ยหล่อหั่ง”

นอกจากนี้ ยังมีเทพเจ้าอีกหลายองค์รวมทั้งหมดกว่า 58 องค์ อาทิ

  • ไท้ส่วยเอี๊ยะ เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา
  • เทพเจ้าแห่งยา
  • หั่วท้อเซียงซือกง
  • ไฉ่ซิ้งเอี๊ยะ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ
  • ไต่เสี่ยหุกโจ้ว เทพเจ้าเฮ่งเจีย
  • ปู๊กุ่ยหุกโจ้ว พระเมตไตรยโพธิสัตว์
  • พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์
  • แป๊ะกง และแป๊ะม่า
เล่าปุนเถ้ากง
ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง

ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง ทรงวาด

“ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง” ตั้งอยู่ที่ถนนทรงวาด เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ชาวจีนในสมั้ยรัชกาลที่ 3 ได้รวมตัวกันเชิญองค์เทพ “เล่าปุนเถ้ากง” มาจากประเทศจีน เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และสร้างศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากงขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2367 ดังนั้น ศาลเจ้าแห่งนี้จะมีอายุครบ 200 ปีพอดีในปีนี้

เล่าปุนเถ้ากงเป็นศาลเจ้าที่มีสถาปัตยกรรมสวยงาม ลักษณะอาคาร การแกะลาย เป็นสกุลช่างจีนแต้จิ๋ว เสาในศาลเจ้าเป็นรูปทรงเหมือนเม็ดข้าว อาคารเป็นแบบ “ซี้เตี๋ยมกิม” หรือ 4 ตำแหน่งทองคำ

ประกอบด้วยด้านหลังคือ เต่าดำ อยู่ตรงเท้าขององค์เทพ, มังกรเขียว ด้านซ้าย, เสือขาว ด้านขวา และด้านหน้าคือ หงส์แดง เป็นทิศของ “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” เล่าปุนเถ้ากงจึงมีฮวงจุ้ยโดดเด่น ไม่อับ สะอาดสะอ้าน ปลอดโปร่ง โล่งสบาย ใครเข้ามากราบไหว้ก็จะได้รับพลังที่ดี

ศาลแห่งนี้มีองค์ประธาน คือ “เทพเฮี่ยงเทียนเสี่ยงตี่” หรือเทพตั่วเหล่าเอี๊ยกง ชาวจีนย่านนี้เชื่อกันว่าโดดเด่นเรื่องการงานและทำมาค้าขาย ส่วนเทพ “เล่าปุนเถ้ากง” โดดเด่นทุกเรื่อง เป็นเทพปกครองท้องถิ่นนั้น ๆ ถามและขอได้ทุกเรื่องตั้งแต่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย

ศาลนี้มีเทพเล่าปุนเถ้ากงอยู่ 2 องค์ องค์แรกทรงอิริยาบถยืน อัญเชิญมาจากจีนตั้งแต่ 200 ปีก่อน คนจีนเสื่อผืนหมอนใบเดินทางโดยที่ไม่รู้ว่าต้องเจออุปสรรคอะไรบ้าง เทพที่เชิญมาต้องประทับยืนพร้อมที่จะฝ่าฟันทุกอย่าง ส่วนอีกองค์เป็นอิริยาบถนั่ง เครื่องทรงขุนนางจีนถือคทายู่อี่ ถือก้อนทอง สร้างในยุคหลังเมื่อ พ.ศ. 2525 สื่อว่า ผู้สร้างมีเงินแล้ว ร่ำรวยแล้ว

ถือเคล็ดกันว่า ถ้าจะเริ่มธุรกิจ หรือบุกเบิกอะไรใหม่ ๆ ให้ไหว้องค์เดิมที่ประทับยืน แต่ถ้าขอโชคลาภให้มาขอองค์ประทับนั่ง

โรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ-Thianfah-Foundation-Hospital-天華慈善醫院.jpg
ภาพจาก โรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ-Thianfah-Foundation-Hospital-天華慈善醫院.jpg

เจ้าแม่กวนอิม มูลนิธิเทียนฟ้า

มูลนิธิเทียนฟ้าเป็นมูลนิธิแห่งแรกในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2445 โดยการรวมตัวกันของกลุ่มชาวจีน เพื่อประสงค์ที่จะช่วยผู้ป่วยยากไร้ โดบปัจจุบันมีโรงพยาบาลรักษาทั้งแพทย์แผนจีนและแผนปัจจุบัน ชาวจีนย่านเยาวราชเรียกที่นี่ว่า “เทียนฮั้วอุยอี่”

สถานที่ตั้งอยู่บริเวณถนนเยาวราช แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ใกล้กับ วัดไตรมิตรวิทยาราม และวงเวียนโอเดียน

มูลนิธิมูลนิธิเทียนฟ้ามีศาลเจ้าแม่กวนอิม พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ปางประทานพร ทำด้วยไม้จันทน์แกะสลัก รูปแบบศิลปะราชวงศ์ถัง ประดิษฐานเป็นเทพเจ้าองค์ประธาน ผู้คนนิยมมาขอพรเรื่องโรคภัยไข้เจ็บและมีสุขภาพแข็งแรง

สันนิษฐานว่าองค์เจ้าแม่กวนอิมสร้างขึ้นในสมัยของราชวงศ์ซ่ง (ประมาณ 800-900 ที่แล้ว) จนกระทั่งใน พ.ศ. 2501 ได้ถูกอัญเชิญจากประเทศจีนและมาประดิษฐานอยู่ที่เยาวราชจนปัจจุบัน

ภาพจาก ศาลเจ้าพ่อเสือเสาชิงช้า - official
ภาพจาก ศาลเจ้าพ่อเสือเสาชิงช้า – official

ศาลเจ้าพ่อเสือ

“ศาลเจ้าพ่อเสือ” มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เดิมตั้งอยู่ริมถนนบำรุงเมือง แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้ขยายถนนบำรุงเมือง และให้พระยาโชฎีกราชเศรษฐีย้ายศาลมาไว้ที่ทางสามแพร่ง ถนนตะนาว จนถึงปัจจุบัน

ลักษณะอาคารของศาลเจ้าพ่อเสือสร้างตามรูปแบบศาลเจ้าที่นิยมทางภาคใต้ของจีน ตกแต่งด้วยโบราณวัตถุ ซึ่งบางชิ้นมีอายุกว่า 100 ปี ประดิษฐานเทพเจ้าประจำศาล คือ “เสียนเทียนซั่งตี้” หรือ “เจ้าพ่อเสือ”

สำหรับการสร้างศาลประดิษฐานรูปเสือนั้น เป็นการนำเอากระดูกเสือบรรจุในแท่น และอัญเชิญดวงวิญญาณเสือขอให้ปกปักรักษาประชาชนให้อยู่เย็นเป็นสุข

นอกจากนี้ภายในศาล ยังมีเทพเจ้าอีกหลายองค์ อาทิ เจ้าพ่อกวนอู และเจ้าแม่ทับทิม ผู้คนต่างแวะเวียนมาที่แห่งนี้เพื่อกราบไหว้เสริมอำนาจบารมี ขอพรเรื่องงาน ขอลูก หรือแก้ชง

มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง
ภาพจาก มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง

ศาลเจ้าไต้ฮงกง

“ศาลเจ้าไต้ฮงกง” ตั้งอยู่บนถนนพลับพลาไชย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2452 ชาวจีนที่อพยพมาเมืองไทยได้อัญเชิญรูปเคารพของ “หลวงปู่ไต้ฮงกง” มาด้วย

ตามประวัติกล่าวไว้ว่า หลวงปู่ไต้ฮงกง เกิดที่เมืองเวินโจว มณฑลเจ้อเจียง เมื่อ พ.ศ. 1582 สมัยราชวงศ์ซ่ง  เป็นภิกษุชาวจีนที่ช่วยเหลือชาวบ้านตลอดจนเก็บศพผู้ยากไร้ไปฝังโดยไม่รังเกียจ จนกระทั่งลูกหลานชาวจีนที่ศรัทธาสานต่อปณิธานกันมาเป็น “มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง” ที่รู้จักกันในปัจจุบัน

สำหรับผู้ที่มากราบไหว้บูชา มักจะขอพรเรื่องสุขภาพ ให้ร่างกายแข็งแรง การงานประสบความสำเร็จ ตลอดจนขอเรื่องโชคลาภ

ศาลเจ้าเห้งเจีย - ไต้เสี่ยฮุกโจ้ว วัดสามจีน-ไตรมิตร
ภาพจาก ศาลเจ้าเห้งเจีย – ไต้เสี่ยฮุกโจ้ว วัดสามจีน-ไตรมิตร

ศาลเจ้าพ่อเห้งเจีย วัดสามจีน

“ศาลเจ้าพ่อเห้งเจีย วัดสามจีน” หรือศาลเจ้าไต้เสี่ยฮุกโจ้ว ตั้งอยู่บนถนนพระราม 4 เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เป็นศาลเจ้าเห้งเจียที่มีความเก่าแก่ที่สุดในไทย โดยสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2

สำหรับ องค์ไต้เซี้ยฮุกโจ้ เป็นปางสำเร็จเป็นอรหันต์นั่งขัดสมาธิบนดอกบัว แกะสลักจากไม้มงคลโบราณ ลงลักปิดทองมีอายุยาวนานร่วม 200 ปี

แต่เดิมเจ้าพ่อเห้งเจียถูกอัญเชิญมาจากประเทศจีนโดยเรือสำเภามาประดิษฐาน ณ วัดสามจีน หรือ “วัดไตรมิตรววิทยารามวรวิหาร” ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่ตึกย่านถนนพระราม 4 ใกล้ ๆ กับวัดไตรมิตรในปัจจุบัน

องค์เจ้าพ่อเห้งเจีย ปราดเปรื่องเรื่องสติปัญญา โดดเด่นเรื่องเมตตา ผู้ที่มาสักการะจะขอเรื่องแคล้วคลาดปลอดภัย สุขภาพ สติปัญญา และความกล้าหาญ

ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ

“ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ” เป็นศาลเจ้าแต้จิ๋วเก่าแก่ ตั้งอยู่ที่ตรอกอิสรภาพ เยาวราช ซอย 6 เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 3 หรือบางข้อมูลระบุว่าสร้างตั้งแต่สมัยอยุธยาก็มี

ลักษณะอาคารเป็นทรงภูเขาตามหลักฮวงจุ้ยของจีนโบราณ หลังคาปูด้วยกระเบื้องเคลือบสีแบบจีน และด้านบนมีรูปปั้นมังกร 2 ตัวหันหน้าเข้าหากัน

ภายในศาลมีแท่นบูชา เล่งบ๊วยเอี๊ยะ หรือ “เทพเจ้าหางมังกร” เป็นองค์ประธาน พร้อมด้วย ฮูหยิน และทหารเอก ด้านช้ายตั้งแท่นบูชาเทพเจ้ากวนอูและด้านขวามือเป็นแท่นบูชาพระแม่สวรรค์ นอกจากนี้ยังมีที่เก็บรักษาโบราณวัตถุต่าง ๆ ไว้ภายในศาลด้วย

สำหรับศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ เป็นที่นับถือศรัทธาและกราบไหว้บูชาเพื่อความเจริญก้าวหน้าในกิจการค้าขาย

วัดบำเพ็ญจีนพรต
วัดบำเพ็ญจีนพรต

วัดบำเพ็ญจีนพรต

“วัดบำเพ็ญจีนพรต หรือวัดย่งฮกยี่ เป็นวัดจีนเก่าแก่ขนาดเล็กท่ามกลางอาคารพาณิชย์บนย่านเยาวราช ตั้งอยู่เยาวราชซอย 8 หรือ ตรอกเต๊า สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2338 ถือเป็นวัดจีนแห่งแรกของไทย

ลักษณะตัวอาคารเป็นตึกเก่าแบบตะวันตก ยุคต้นสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่สร้างล้อมวิหารจีนไว้ โครงสร้างอาคารเป็นไม้แบบจีน ผนังก่ออิฐฉาบปูน หลังคาจั่วมุงด้วยกระเบื้องดินเผากาบกล้วย สันหลังคาก่ออิฐปั้นปูนเป็นจั่วปั้นลมตามแบบช่างจีนแต้จิ๋ว

ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธาน 3 องค์ ได้แก่ พระศากยมุนีพุทธเจ้า, พระอมิตาภะพุทธเจ้า และพระไภษัชยะคุรุพุทธเจ้า

ด้านหน้าพระประธานประดิษฐาน พระจัณฑิอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ หรือ “จุนที้ผู่สัก” ปางหนึ่งของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ทรงลักษณะแห่งพุทธมารดา มี 18 กร และมีรูปพระโพธิสัตว์ธรรมบาลยืน 2 องค์ คือ พระสกันทโพธิสัตว์ และพระสังฆารามโพธิสัตว์

ศาลเจ้าหลีตี๊เมี้ยว

“ศาลเจ้าหลีตี๊เมี้ยว” หรือศาลเจ้าลื้อตี่เบี่ย ตั้งอยู่บนถนนพลับพลาไชย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2445 ถือเป็นศาลเจ้าเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งในย่านเยาวราช

ตัวอาคารมีลักษณะสวยงามคล้ายพระราชวังจีนสูง 4 ชั้น แต่ละชั้นประดิษฐานเทพเจ้าแตกต่างกันไปประกอบด้วย

  • ชั้นที่ 1 พระสังกัจจายน์
  • ชั้นที่ 2 องค์หลีไทตี้
  • ชั้นที่ 3 องค์พระอรหันต์
  • ชั้นที่ 4 องค์เง็กเซียนฮ่องเต้

สำหรับศาลเจ้าหลีตี้เมี้ยว ผู้คนที่มาสักการะมักนิยมขอพรเรื่องความรัก หรือคนขอเรื่องการมีบุตร