“หมูเถื่อน” ทำเกษตรกรใต้ไม่กล้าลงทุน

หมูเถื่อน

หมูเถื่อนยังเกลื่อนเมือง ทำเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูพัทลุง แหล่งเลี้ยงหมูอันดับ 1 ของภาคใต้ “เบรกลงเลี้ยงหมูรอบใหม่” เหตุหมูเถื่อนต้นทุนต่ำ เกษตรกรสู้ไม่ไหว สวนทางธุรกิจท่องเที่ยวเติบโต ปกติความต้องการบริโภคหมูจะพุ่งสูง แต่ตอนนี้ความต้องการซื้อสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มทรงตัว

แหล่งข่าวจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดพัทลุง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ปัญหาการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนมาวางขายทั่วประเทศในราคาถูกกว่าหมูที่เลี้ยงภายในประเทศ ยังคงวางขายกันเต็มท้องตลาด และโลกออนไลน์

โดยเฉพาะหมูเนื้อแดงเถื่อนราคาขายอยู่ที่ประมาณ 130-140 บาท/กก. ขณะที่หมูเนื้อแดงที่เลี้ยงภายในประเทศวางขายอยู่ที่ 180-200 บาท/กก. ส่งผลให้จังหวัดพัทลุงถือเป็นพื้นที่เลี้ยงสุกรรายใหญ่ อันดับ 1 ของภาคใต้ประมาณเกือบ 5 แสนตัว มีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรวมกว่า 5 พันราย ยังวิตกกังวล ไม่กล้าตัดสินใจจะลงทุนเลี้ยงรอบใหม่ เพราะต้นทุนในการเลี้ยงสูง

เนื่องจากผลกระทบของหมูเถื่อนที่นำเข้าจากต่างประเทศเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ยอดขายหมูทรงตัว ขณะที่ธุรกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้ เช่น จ.สงขลา และย่านอันดามันทั้งภูเก็ต กระบี่ พังงา ซึ่งถือเป็นตลาดผู้บริโภครายใหญ่กำลังเติบโตขึ้น จะทำให้ความต้องการบริโภคหมูเติบโตขึ้นตามไปด้วย คาดว่าคงเป็นหมูเถื่อนทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายเล็ก รายย่อยจะล้มหายตายจากไป เพราะสู้ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงที่ปรับขึ้นทุกตัวไม่ไหว ทั้งอาหารสัตว์ พลังงาน ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าแรงงาน ขณะที่ผู้เลี้ยงรายกลางค่อนข้างใหญ่ และผู้เลี้ยงรายใหญ่ก็ดำเนินธุรกิจอย่างยากลำบากเช่นกัน

“ที่ผ่านมาผู้ลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนหรือหมูกล่องนำเข้ามาเป็นตู้คอนเทนเนอร์ แล้วนำใส่กล่องโฟมกระจายไปทั่วประเทศ การแก้ปัญหาทางกรมปศุสัตว์จะต้องเข้มแข็ง ทำงานจริงจังกว่านี้ จับแล้วต้องทำลาย คิดว่าจะทำให้ผู้ค้าหมูเถื่อนไม่กล้านำเข้า และจะทยอยหายไป” แหล่งข่าวระบุ

ทางด้านนายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางกรมปศุสัตว์ ปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง ร่วมกับสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ ได้จัดสัมมนาเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรแบบความปลอดภัย ตามนโยบายกรมปศุสัตว์ที่ส่งเสริมการเลี้ยงสุกรในการกลับมาเลี้ยงใหม่ ที่ จ.พัทลุง

โดยปศุสัตว์จังหวัดพัทลุงเป็นประธาน ซึ่งเกษตรกรมีการตื่นตัวสูงมาก ได้เข้าร่วมถึงประมาณ 150 คน ในการสัมมนากรมปศุสัตว์เน้นการเลี้ยงต้องมีมาตรฐาน ทั้งการเลี้ยง การเคลื่อนย้าย ต้องเข้มงวดเรื่องความปลอดภัย และการเลี้ยงให้รอด ตลอดจนเรื่องสายพันธุ์หมูที่มีความแข็งแรง และมีผลผลิตที่ได้ปริมาณพอสมควร

“สำหรับเรื่องตัวแปรเกี่ยวกับการเลี้ยงหมูตอนนี้ คือ ความกังวลกันมากเรื่องหมูกล่อง เพราะได้ส่งผลกระทบทำให้ราคาในพื้นที่อ่อนตัวลง หมูกล่องเข้ามาดัมพ์ราคา ทำให้ผู้เลี้ยงอยู่ยาก โดยเฉพาะรายย่อย รายเล็กจะหายไป เหลือแต่รายใหญ่ก็จะเสียหายตามไปด้วย และที่น่ากังวลมากที่สุดคือเรื่องหมูกล่องที่ลักลอบนำเข้าไม่มีการตรวจเชื้อโรค และสารปนเปื้อน หากเป็นหมูป่วยก็จะกระทบหนัก” นายปรีชากล่าว

นายปรีชากล่าวต่อไปว่า ในช่วงโรค ASF ระบาดในพื้นที่ภาคใต้ หมูหายไปจากระบบประมาณ 30% จากแม่พันธุ์สุกรที่มีอยู่ 100,000 กว่าแม่พันธุ์ ปัจจุบันเหลือประมาณ 70,000 แม่พันธุ์ แต่ตอนนี้ได้ขยับมาเลี้ยงกันเพิ่มขึ้นประมาณ 5%

เป็นประมาณว่า 75,000 ตัว และให้ผลผลิตแล้ว แต่ประเด็นสำคัญในการเลี้ยงใหม่ คือยังขาดแม่พันธุ์ จึงต้องนำหมูขุนมาทำเป็นแม่พันธุ์

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดสงขลาว่า ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายน 2565 ทางด่านกักกันสัตว์สงขลาได้จับกุมหมูกล่องที่นำเข้ามากับรถบรรทุก ซึ่งไม่มีเอกสารสำแดงจำนวน 12 ตัน ที่ อ.บางกล่ำ จ.สงขลา

โดยฝ่ายปราบปรามศุลกากร ด่านกักกันสัตว์สงขลา ได้สั่งทำลาย ทั้งนี้ ทางด่านกักกันสัตว์สงขลาจะขยายผลถึงขบวนการลักลอบในครั้งนี้ ตามนโยบายและคำสั่งของอธิบดีกรมปศุสัตว์ให้เข้มงวดเรื่องนี้มากขึ้น