ชาระมิงค์ รุกทำซอสชา ปั้นแบรนด์ใหม่ ROS RAMING

ROS RAMING

หลายคนบอกว่าการต่อยอดธุรกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าจากสิ่งที่ถนัดเป็นแนวทางที่ดีกว่าการแตกไลน์ไปสู่ธุรกิจใหม่ที่ไม่ชำนาญ ดังนั้น ปี 2566 บริษัท ชาระมิงค์ จำกัด จ.เชียงใหม่ ผู้ปลูกและผู้ผลิตชาดำ (black tea) หรือชาพันธุ์อัสสัมมาเป็นเวลา 81 ปี จึงวางแผนงานแตกไลน์สู่ธุรกิจอาหาร โดยต่อยอดจากธุรกิจชาดำที่มีอยู่ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ นางวงเดือน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหาร บริษัท ชาระมิงค์ จำกัด

เปิดตลาด “ซอสชา” กลางปี 2566

วงเดือนบอกว่า ได้นำใบชาพันธุ์อัสสัมออร์แกนิกจากไร่ชาระมิงค์ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ มาทำผลิตภัณฑ์ซอสปรุงอาหารที่มีชาเป็นส่วนผสมหลัก (base) ซึ่งซอสชาผลิตขึ้นภายใต้แบรนด์ “รสระมิงค์” หรือ ROS RAMING เป็นซอสชาพร้อมรับประทาน (ready to eat) และสามารถนำไปปรุงอาหารได้ คาดว่าจะเริ่มเปิดตลาดประมาณกลางปี 2566

จุดเริ่มต้นการผลิตซอสชา “ROS RAMING” เป็นสูตรที่คิดค้นขึ้นเอง โดยทำรับประทานกันในครอบครัว ก่อนจะนำมาเป็นซอสปรุงอาหารให้กับร้านชา “ระมิงค์ ที เฮ้าส์” บนถนนท่าแพ เชียงใหม่ ซึ่งเป็นธุรกิจร้านชาและร้านอาหารของชาระมิงค์ จากนั้นได้เริ่มขยายกำลังการผลิตแบบโฮมเมด โดยบรรจุซอสชาใส่ขวดแก้ว วางจำหน่ายในร้านระมิงค์ ที เฮ้าส์ ราคาขวดละ 125 บาท ขนาดความจุ 290 กรัม

วงเดือน วังวิวัฒน์
วงเดือน วังวิวัฒน์

นางวงเดือนบอกต่อไปว่า ใบชามีความพิเศษคือ มีสารที่ให้กลิ่นรสประมาณ 1,000 กว่าชนิด ชาจะมีมิติในรสชาติอยู่ในตัวเอง จึงมองว่าการนำซอสชามาปรุงอาหารหรือรับประทานคู่กับอาหาร จะทำให้เมนูอาหารมีความพิเศษที่แตกต่างจากอาหารทั่วไป

โดยมีชาเป็นตัวเข้ามาช่วยปรุงรส เพิ่มมิติในรสชาติอาหารให้มีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งจะมีทั้ง layer ของรสต่าง ๆ ให้ความชุ่มคอของใบชาที่เป็น aftertaste และความอูมามิของใบชา ซึ่ง aftertaste ที่ดีต้องมีความชุ่มฉ่ำ

Advertisment

โดยเมนูแรกที่นำซอสชา “ROS RAMING” มาทำอาหาร คือ เปาะเปี๊ยะจิ้มซอสชา ได้รับผลการตอบรับที่ดีจากลูกค้า จึงเพิ่มเมนูอื่น ๆ ตามมา

ROS RAMING

อาทิ เมนูไก่ทอดมะแขว่นจิ้มซอสชา เมี่ยงบุษบาราดซอสชา ปานีปูรีราดซอสชา สปาเกตตีเบคอนซอสชา ผัดไทยกุ้งสดซอสชา ไก่ผัดเม็ดมะม่วงซอสชา เทมปุระใบชาจิ้มซอสชา นอกจากนี้ ยังสามารถใส่ซอสชาได้กับอาหาร ทั้งอาหารผัด อาหารทอด หรือรับประทานกับแหนมเนือง เปาะเปี๊ยะสด หรือนำมาจิ้มกับเนื้อย่าง หมูย่าง เพียงใส่ข้าวคั่วใส่ผักชีซอยลงไปกลายเป็นน้ำจิ้มแจ่วได้

ROS RAMING

Advertisment

ชง 2 สูตรรองรับลูกค้าไทย-เทศ

ซอสชา “ROS RAMING” มีด้วยกัน 2 สูตร รองรับทั้งลูกค้าชาวต่างชาติและคนไทย ซึ่งชาวต่างชาติไม่ชอบรสเผ็ด จะมีสูตรที่ไม่เผ็ดด้วย และซอสชาสูตรนี้ยังเป็นพื้นฐานของซอสผัดไทยของร้านระมิงค์ ที เฮ้าส์ ด้วย

โดยส่วนผสมประกอบด้วย น้ำมะขามที่เป็นมะขามสุกและเครื่องเทศต่าง ๆ ที่คลุกเคล้าลงไป และส่วนผสมหลักสำคัญที่เป็น base คือ น้ำชาสกัดเข้มข้น เป็นชา black tea และ Thai tea นำมาปรุงลงไปในน้ำซอสและต้มเคี่ยวให้มีความหนืด ความหอม ความหวาน กลมกล่อมที่พอดี ส่วนสูตรเผ็ดจะถูกปากคนไทย

โดยมีเมนูยอดนิยมคือ ยำใบชา พล่าเนื้อใบชาสด สามารถนำซอสชาทั้ง 2 สูตรมาผสมกัน ตามความเผ็ดที่ชอบได้ จุดเด่นของซอสชา “ROS RAMING” ช่วยเพิ่มความหอม หวาน กลมกล่อม ความชุ่มคอ ชุ่มปาก ชุ่มลิ้น aftertaste ให้ความหวานจากซอสชา และเพิ่มความอูมามิรสชาติของอาหารได้เพิ่มมากขึ้น

ROS RAMING

นางวงเดือนกล่าวต่อว่า ราวกลางปี 2566 จะเปิดตลาดซอสชา “ROS RAMING” อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งถือเป็นการนำชาแตกไลน์สู่ธุรกิจอาหารอย่างเต็มตัว โดยได้ผ่านกระบวนการศึกษาวิจัย R&D ร่วมกับศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ หรือศูนย์ FIN (Food Innovation and Packaging Center) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ การใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการดำเนินธุรกิจ ทดสอบ ตรวจสอบในห้องปฏิบัติการด้านนวัตกรรมอาหาร ซึ่งจะช่วยสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าสินค้า และเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจให้กับซอสชา เป็นการต่อยอดสู่ธุรกิจอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน

ขณะเดียวกัน ก็อยู่ในขั้นตอนของการเจรจาในรายละเอียดการผลิตและการทำ R&D กับโรงงานที่รับจ้างผลิต (OEM) ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งซอสชา “ROS RAMING” จะเป็นอีกทางเลือกที่ตอบโจทย์ในการปรุงเมนูอาหารที่ได้รสชาติอร่อย แตกต่าง และดีต่อสุขภาพ

รร.สอนชงชาแห่งแรกของไทย

นางวงเดือนกล่าวอีกว่า ในส่วนของร้านชา “ระมิงค์ ที เฮ้าส์” หลังเปิดประเทศตั้งแต่กลางปี 2565 จนถึงปัจจุบัน ลูกค้าต่างชาติเพิ่มขึ้นถึง 70% โดยลูกค้าต่างชาติมีสัดส่วน 90% และอีก 10% เป็นนักท่องเที่ยวคนไทยและคนในท้องถิ่นเชียงใหม่ ให้บริการทั้งเมนูชาและเมนูอาหาร

โดยชาที่เป็น signature คือ black tea ออร์แกนิกจากไร่ชาระมิงค์ ชาผสมเครื่องเทศ ชาไทยที่ใช้ความเป็นธรรมชาติเข้าไปมิกซ์ อาทิ บีทรูต อัญชัน รวมถึง craft tea ที่เป็นชาดีต่อสุขภาพ มีส่วนผสมจากพีชมินต์ กุหลาบ ลิ้นจี่ สมุนไพรต่าง ๆ ที่ชาระมิงค์คิดค้นสูตรขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่หรือกลุ่มวัยรุ่นที่นิยมการดื่มชาเพิ่มมากขึ้น

ROS RAMING

ส่วนเมนูอาหารที่เป็น signature อาทิ ผัดไทยกุ้งสดซอสชา ยำใบชาทูน่าน้ำพริกเผา พล่าเนื้อใบชาสด ไก่ทอดมะแขว่นจิ้มซอสชา ปานีปูรีราดซอสชา สปาเกตตีเบคอนซอสชา ไก่ผัดเม็ดมะม่วงซอสชา เทมปุระใบชาจิ้มซอสชา น้ำพริกอ่องไก่คั่วชาเมี่ยง เป็นต้น

นางวงเดือนกล่าวด้วยว่า สำหรับ ASIAN SCHOOL OF TEA ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนชงชาแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ภายในร้านระมิงค์ ที เฮ้าส์ เริ่มเปิดการสอนเมื่อราวปี 2565 กลุ่มคนที่เข้ามาเรียนเป็นกลุ่ม tea lover ที่ชื่นชอบชาและอยากเรียนรู้ในความเป็นชา แบ่งสัดส่วนกลุ่มคนที่มาเรียนเป็นคนไทย 70% และคนต่างชาติ 20-30%

โดยชาวต่างชาติที่มาเรียนมีทั้งจากยุโรป คาซัคสถาน มาเลเซีย และสิงคโปร์ นอกจากนี้ ยังมีบริษัทแบรนด์ดังส่งคนมาเรียนด้วย ปัจจุบันมีนักเรียนที่จบหลักสูตรแล้วจำนวน 30 รุ่นแล้ว รุ่นละ 5-7 คน เรียนจบได้ใบ certificate โดยเปิดสอน 2-3 คลาสต่อเดือน

โดยมองว่าคอร์สการเรียนรู้เรื่องชาสามารถผูกโยงกับการท่องเที่ยวได้อย่างลงตัว (tea tourism) ที่สามารถจัดเป็นแพ็กเกจการท่องเที่ยว มีที่พัก อาหารตลอดการเรียนการสอน เรียนรู้เรื่องชาผ่านวิถีชุมชน เที่ยวชมสวนป่าเมี่ยง เรียนรู้กระบวนการผลิตชา

โดยคอร์สหลัก ๆ ที่เปิดสอนได้แก่ Tea Connoisseur Program เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของชา วัฒนธรรมการดื่มชา-ชงชา และปฏิบัติการชงชา ชิมชาจากแหล่งชาระดับโลก Tea Tasting & Blending Masterclass เน้นการเบลนด์ชาครบวงจร และ International Tea Sommelier Program เป็นหลักสูตรเรียนรู้เรื่องชาครบทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยแต่ละคอร์สมีระยะเวลาการเรียนการสอน 2-4 วัน