ผู้เลี้ยงกระอัก หมูเป็นราคาดิ่ง หมูเถื่อนทะลัก ห้างแข่งจัดโปรลดราคา

หมู

ผู้เลี้ยงหมูวิกฤตหนัก ราคาหมูเป็นตกวูบเหลือ กก.ละ 70 บาท ขณะที่ต้นทุนเลี้ยงปาเข้าไป 100 บาท/กก. เหตุโดน “หมูกล่อง” ลักลอบนำเข้าถล่มราคา ต้นทุนการเลี้ยง-ข้าวโพดแพงขึ้น โรค ASF ยังไม่หมดไปจริง ซ้ำห้างค้าปลีก-ค้าส่ง ร้านจำหน่ายหมู จัดโปรโมชั่นขายหมูราคาถูกให้ผู้บริโภค พร้อมทำหนังสือถึง กรมการค้าภายใน ให้เข้ามาแทรกแซงราคาขายปลีกหมูโดยด่วน

นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ในฐานะนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร เขต 7 และนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อย และรายกลางที่ยังอยู่รอดจากโรค ASF ประสบปัญหาวิกฤตอย่างหนักจากราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มจะลดลงต่ำกว่า 70 บาทต่อ กก.

ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงทุกตัวปรับสูงขึ้น อย่างน้อยต้องขายไม่ต่ำกว่า 100 บาท/กก. “ผู้เลี้ยงถึงอยู่ได้ ส่งผลให้ปัจจุบันผู้เลี้ยงขายหมูขาดทุนตัวละประมาณ 2,000 กว่าบาท”

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ผู้เลี้ยงหมูต้องเผชิญกับราคาหมูเป็นที่ตกต่ำลง มาจาก 1) ขบวนการผู้มีอิทธิพลลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนจากต่างประเทศ เช่น บราซิล เยอรมนี ออสเตรเลีย สหรัฐ มาเป็นจำนวนมากในระดับหลาย 1,000 ตู้ต่อเดือน โดยหมูเถื่อนหรือ “หมูกล่อง” เหล่านี้จะเข้ามาตีตลาดหมูเนื้อแดงในประเทศ ขายกันแค่ 105-110 บาท/กก. ยิ่งเป็นพวกชิ้นส่วนราคาจะถูกลงไปอีกมาก โดยขนส่งทางเรือผ่านมาทางท่าเรือแหลมฉบัง มีการสำแดงเท็จว่า เป็นสินค้าปลาหรืออาหารสัตว์

2) ห้างค้าส่ง-ค้าปลีกรายใหญ่และร้านมีตช็อปทั้งหลาย มีการจัดโปรโมชั่นจำหน่ายหมูเนื้อแดงและชิ้นส่วนในราคาถูก เช่น เนื้อแดง 118-119 บาท/กก. ส่งผลกระทบรุนแรงไปยังสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มของเกษตรกรต้องปรับราคาลดลงตาม มิเช่นนั้นก็ไม่สามารถขายได้

“ทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ทำหนังสือถึง อธิบดีกรมการค้าภายใน ขอให้เข้าแทรกแซงราคาสินค้าสุกร ซึ่งทางกรมการค้าภายในได้เชิญห้างค้าปลีกรายใหญ่มาหารือแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อขอความร่วมมือไม่ให้นำสินค้าเนื้อหมูมาประกาศลดราคาจูงใจให้คนเข้าห้าง แต่ก็ยังไม่ได้รับความร่วมมือ ราคาหมูในห้างยังถูกกว่าผู้ค้าเขียงตลาดสดทั่วไปอยู่ดี” นายพิพัฒน์กล่าว

3) ต้นทุนวัตถุดิบแพงขึ้น ยาเวชภัณฑ์สัตว์ทุกตัวปรับราคาขึ้นหมด กากถั่วเหลือง ข้าว ปลายข้าว รำข้าว การผลิตอาหารสัตว์ต้นทุนสูงขึ้น 40-50% ยกตัวอย่าง ข้าวโพด ราคา 13-14 บาท/กก. รัฐบาลประกันราคา 8.50 บาท/กก. คนขายจริง ๆ ได้ 9-10 บาทกว่า/กก. พอมาถึงมือผู้บริโภคราคา 14-15 บาท/กก. และ 4) ปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร หรือ ASF ยังไม่ได้หมดไปจากประเทศไทย หากไม่มีลงทุนทำระบบมาตรฐานในการเลี้ยงสุกรที่มีประสิทธิภาพสูง หมูที่ลงเลี้ยงใหม่ก็ยังตายอยู่

“ปัจจุบันนี้ผู้เลี้ยงหมูรายกลาง รายย่อยถูกถล่มราคาจากทุกด้าน คนเลี้ยงอยากให้ผู้บริโภคกินหมูถูก เพื่อให้ผู้บริโภคกินหมูกันเยอะ ๆ แต่ทุกวันนี้ถูกบังคับด้วยระบบต้นทุนวัตถุดิบ ต้องลงทุนระบบป้องกันโรคที่มีราคาสูง ต้นทุนลูกหมู ต้นทุนการเลี้ยง มันขึ้นหมด เรากดราคาไม่ลง กำลังการบริโภคก็ลดลงด้วย เมื่อขายหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มราคา 70 บาท/กก. จากฟาร์มไปสู่เขียงราคาคูณ 2 เขียงขายหมู 130-140 บาท/กก. พอมีหมูเถื่อนจากต่างประเทศเข้ามาอีก ผู้เลี้ยงรายกลาง รายย่อยจะตายกันหมด” นายนิพัฒน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายนิพัฒน์ตั้งข้อสังเกตว่า หากขายหมูเนื้อแดงที่ราคา 118-119 บาท/กก. ถ้าคำนวณกลับมาเป็นราคาหมูเป็น x2 เท่ากับผู้ขายมีต้นทุนหมูมีชีวิตเพียง 60 บาทเท่านั้น “หากกลไกกำหนดราคาหมูยังเป็นแบบนี้ สุดท้ายก็จะเหลือเฉพาะฟาร์มหรือผู้เลี้ยงรายใหญ่เท่านั้น”

ทั้งนี้ ก่อนเกิดการระบาดของโรค ASF ประเทศไทยมีแม่พันธุ์หมูประมาณ 1.2 ล้านแม่ “หมูในระบบถือว่า ล้น” แต่ปัจจุบันมีแม่พันธุ์หมูเหลืออยู่ประมาณ 800,000-900,000 แม่ “แต่ทำไมหมูในระบบก็ล้นอีกแล้ว” นั่นเป็นเพราะ มีหมูส่วนเกินเข้ามาในระบบ ส่วนแม่หมูปัจจุบันครึ่งหนึ่งเป็นของผู้เลี้ยงรายใหญ่ ได้แก่ ซีพี เบทาโกร และไทยฟู้ดส์ หากรวมกับฟาร์มผู้เลี้ยงรายใหญ่อีก 7 ราย จะคิดเป็น 70% ของทั้งระบบ ส่วนที่เหลือ 30% เป็นของผู้เลี้ยงรายกลางและรายย่อย

ด้านแหล่งข่าวจากผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้กล่าวว่า เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ ร่วมกับปศุสัตว์เขต 8 ด่านกักกันสัตว์ กองทัพภาคที่ 4 ปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่ สมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดนครศรีธรรมราช ภาคบริษัทและเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่ภาคใต้ ได้มีการประชุมแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศ

โดยที่ประชุมได้มีการหารือว่า จะหาทางทำอย่างไรให้การลักลอบเคลื่อนย้ายสุกรลดลง จะทำอย่างไรให้ราคาหมูมีเสถียรภาพ และเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรสามารถอยู่ได้

โดยที่ผ่านมาทางด่านกักกันสัตว์ ร่วมกับศุลกากร สามารถจับ “หมูกล่อง” ที่เป็นลอตใหญ่ได้จำนวน 3 ครั้งด้วยกัน ได้แก่ครั้งละ 20 ตัน จำนวน 2 ครั้ง และ 30 ตัน 1 ครั้ง นอกจากนั้นหมูกล่องยังมีการลักลอบขนย้ายรูปแบบกองทัพมดอีกจำนวนหนึ่ง ตั้งแต่ 100 กก. ถึงหลายร้อยกิโลกรัม

“ตอนนี้ทราบว่า หมูกล่องที่จับได้นั้นยังมีอยู่ 57 ตู้ ที่ยังไม่ถูกทำลายในพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ เดิมผู้เลี้ยงสุกรมีอยู่ประมาณ 200,000 รายทั่วประเทศ โดยขณะนี้เหลืออยู่ประมาณ 70,000 ราย แลจากทางภาคใต้เดิม 20,000 ราย ขณะนี้เหลือประมาณ 15,000 ราย และมีแนวโน้มว่าจะเหลือประมาณ 7,000 ราย”

ทางด้าน นายภักดี ชูขาว กรรมการสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้และภักดีฟาร์ม อ.ควนขนุน จ.พัทลุง กล่าวว่า จะมีการประชุมผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่ภาคใต้ และ จ.พัทลุง อีกรอบในเร็ว ๆ นี้ เพื่อร่วมกันดำเนินการป้องกันหมูกล่องที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เพื่อให้ผู้เลี้ยงสุกรรายเล็ก รายย่อยให้อยู่ได้ หากไม่ดำเนินการอย่างเข้มงวดแล้วแนวโน้มว่าผู้เลี้ยงรายเล็ก รายย่อยจะอยู่ไม่ได้

ส่วนนายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ กล่าวว่า ผลการประชุมหลายหน่วยงานร่วมกับกองทัพภาค 4 มีมาตรการป้องกันหมูกล่องหรือหมูป่านำเข้า จะส่งผลดีต่อผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้

“ต้นทุนการเลี้ยงหมูในขณะนี้อยู่ที่ราคา 95-100 บาท/กก. แต่ผู้เลี้ยงขายสุกรมีชีวิตได้แค่ 74 บาท/กก. โดยสุกรเฉลี่ยที่ 100 กก. จะขาดทุนกว่า 2,000 บาท/ตัว โดยภาพรวมสุกรมีชีวิตจะออกสู่โรงเชือดเข้าสู่ตลาดประมาณ 5,000 ตัว/วัน จะขาดทุนประมาณ 10 ล้านบาท/วัน ประมาณ 300 ล้านบาท/เดือน โดยสุกรภาคใต้ขาดทุนมาแล้วประมาณ 3 เดือน ตั้งแต่มกราคม-มีนาคม 2566 เป็นเงินเกือบ 900 ล้านบาท”