“ตลาดเนินสูง” จันทบุรี แผงค้าส่ง “ทุเรียน” ใหญ่สุดในไทย

ทุเรียน

“ทุเรียน” ยังคงเป็นราชาผลไม้ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะฤดูกาลปี 2566 เรียกได้ว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ทั้งตลาดส่งออกหลักจีน และตลาดค้าส่งใหญ่สุดในประเทศไทย “ตลาดเนินสูง” จ.จันทบุรี ศูนย์รวมขายส่งทุเรียนไปทั่วทุกภูมิภาคของไทย

“ประชาชาติธุรกิจ” ลงพื้นที่สำรวจตลาดเนินสูง ต.เขาวัว อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี พบว่า ปีนี้ทุเรียนมีราคาค่อนข้างสูงกว่าปีที่ผ่านมา และทุเรียนตกเกรดที่โรงคัดบรรจุ (ล้ง) คัดออก ไม่ผ่านมาตรฐานส่งไปจีน ถูกนำมาส่งขายยังตลาดเนินสูง เส้นทางการค้าทุเรียนเริ่มตั้งแต่ชาวสวนตัดสดขายให้ล้ง คัดเป็นเกรดส่งออกไปจีนตามขนาดและคุณภาพ เมื่อตกเกรดเหลือจากล้งจึงจะนำเข้าตลาดเนินสูง ซึ่งถือว่าเป็นตลาดทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

แผงค้ารายได้ 2 ล้านบาท/ปี

“นรา ล้วนรัตน์” เจ้าของแผงค้าส่งทุเรียน “เจ้นรา” แผงค้าทุเรียนรายใหญ่ในตลาดเนินสูง บอกว่า ชาวสวนในจังหวัดจันทบุรีที่ปลูกทุเรียนส่งตลาด มักปลูกทุเรียนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 10 ไร่/ราย และชาวสวนจันทบุรีไม่มีใครมานั่งขายริมทางอย่างเด็ดขาด

เมื่อตัดทุเรียนเสร็จจะส่งให้ล้งเป็นอันดับแรก เกรดส่งออกไปจีนลูกจะสวยไร้ตำหนิ มีขนาดรูปร่างและน้ำหนักเฉลี่ย 2-5 กก./ลูก ส่วนที่ส่งเข้าตลาดมีลักษณะเนื้อแก่ใช้ได้ แต่รูปร่างไม่สวย มีตั้งแต่ลูกเล็กมากไปจนถึงลูกใหญ่ หรือน้ำหนักเกิน 10 กก./ลูก ราคาถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับขนาดและคุณภาพที่ถูกคัดแยกในตลาดอีกรอบ และขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตในแต่ละสัปดาห์

ปีนี้แผงจะรับซื้อทุเรียนจากชาวสวนราคาเริ่มต้น 90 บาท/กก. บวกกำไร 10 บาท เท่ากับขายส่งในราคา 100 บาท/กก. แต่ราคานี้ต้องซื้อยกเข่ง 50 กก.ขึ้นไปเท่านั้น ตกประมาณ 5,000 กว่าบาท/เข่ง คนที่มารับซื้อไปขายต่อจะบวกราคาขั้นต่ำเพิ่มอีก 10 บาท/กก. และมีสิทธิเพิ่มราคาไปจนถึง 150 บาท/กก. หรือมากกว่านั้น ด้วยเหตุผลเรื่องน้ำหนักที่หายตามระยะเวลา

ทุเรียน

“รูปแบบการขายในตลาดเนินสูงจะแบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1.ชาวสวนส่งทุเรียนถึงมือพ่อค้าแม่ค้าเจ้าของแผงในตลาดโดยตรง 2.ผ่านนายหน้าหรือคนโบกรถทุเรียนก่อนเข้าสู่แผงในตลาด โดยรับซื้อทุเรียนทุกรูปแบบ อย่างทุเรียนที่มีตำหนิเล็กน้อย เน่า มีหนอน อ่อน แก่ เรารับซื้อหมด

เพราะบางครั้งขายส่งเพื่อนำไปแปรรูปด้วย ซึ่งแผงในตลาดไม่ค่อยแข่งขันกันมากนัก ต่างคนต่างขายและมักมีคู่ค้าประจำของตัวเอง ถ้าแผงไหนขาดเหลือก็พึ่งพาอาศัยกันและแบ่งกันไป แต่ละแผงสามารถรับซื้อทุเรียนสูงสุดได้ 40-50 ตัน/วัน

ถ้าหมดฤดูหรือหมดรุ่นเก็บเกี่ยวก็ไม่ถึง 2 ตัน/วัน ภาพรวมรายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านบาท/ปี โดยเจ้าของแผงต้องจ่ายค่าแรงให้คนงานในแต่ละรอบด้วย เช่น คนคัดทุเรียน 1,500 บาท คนโยนทุเรียน 1,000 บาท คนลากเข่ง 500 บาท เป็นต้น”

สำหรับทุเรียนในตลาดเนินสูง ส่วนมากเป็นพันธุ์หมอนทอง เพราะได้รับความนิยมจากลูกค้า เมื่อมาถึงตลาดมีคนมารับซื้อต่อไปยังต่างจังหวัดทั่วประเทศไทย รวมถึงข้ามไปยังกัมพูชาด้วยบางส่วน

300 แผง-100 ล้ง รายได้สะพัด

นายวิโรจน์ งามระเบียบ นายกเทศมนตรีตำบลเนินสูง ต.เขาวัว อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดเนินสูง ก่อตั้งขึ้นในปี 2543 บนพื้นที่ 12 ไร่ ริมถนนสุขุมวิท โดยได้รับงบประมาณจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)

เพื่อช่วยให้เกษตรกรที่ทำสวนผลไม้ในตำบลเนินสูงมีตลาดวางจำหน่ายผลผลิต ชาวสวนในพื้นที่จะได้แผงในตลาดคนละแผง แต่พอความต้องการทุเรียนมากขึ้น ขายได้ราคาดี เจ้าของสวนไม่มีเวลามานั่งขายเพราะต้องดูแลสวน จึงเปลี่ยนเป็นแม่ค้ามาขายแทนชาวสวน โดยไปซื้อทุเรียนจากสวนมาวางขายที่นี่

ปัจจุบันถือเป็นตลาดค้าส่งทุเรียนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีแผงค้าย่อยรวมทั้งหมด 300 แผง เฉพาะช่วงฤดูผลไม้ภาคตะวันออก (เดือนมีนาคม-พฤษภาคม) มีการซื้อขายทุเรียนผ่านเข้า-ออกวันละกว่า 1,000 ตัน โดยมีแม่ค้าจากทั่วประเทศมาซื้อไปขายต่อทั่วประเทศ และปีนี้ความต้องการทุเรียนมีสูงมาก

แต่ตลาดเนินสูงมีผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากปีนี้โรงคัดบรรจุ (ล้ง) ที่ซื้อทุเรียนส่งออกต่างประเทศประกาศรับซื้อทุเรียนทุกไซซ์ A B C จากเมื่อก่อนเอาเฉพาะไซซ์ A B

ทุเรียน

“สมัยเริ่มก่อตั้งตลาดเนินสูง ถือเป็นตลาดค้าส่งทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก เป็นชื่อติดหูทั่วประเทศ ถ้าจะกินทุเรียนต้องมาตลาดเนินสูงมีทุเรียนเยอะ แม่ค้าจากทั่วประเทศจะสั่งซื้อทุเรียนเข้ามาต้องการไซซ์ไหน ราคาเท่าไหร่ กี่ตัน สมมุติ 1 เที่ยวรถปิกอัพเท่ากับ 4 ตัน แม่ค้าที่ตลาดเนินสูงจะไปหาสินค้ามากองไว้ให้ ตลาดเนินสูงทำให้ชาวบ้านทุกครัวเรือนในเขตเทศบาลเนินสูงมีรายได้ที่ดีมาก ไม่มีการตกเกณฑ์ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.)

ยิ่งช่วงปี 2557-2558 ทางประเทศจีนมาหาซื้อทุเรียน และมาลงทุนเช่าที่ดิน เพื่อตั้งล้งรับซื้อทุเรียน ทำให้พื้นที่ใกล้ตลาดเนินสูงจากที่เคยเป็นสวนทุเรียน กลายเป็นที่ตั้งล้งทุเรียนหมด ปัจจุบันในเขตพื้นที่เทศบาลเนินสูงรวม 9 ตารางกิโลเมตร มีผู้ประกอบการมาขออนุญาตตั้งล้ง 100 แห่ง ตลาดเนินสูงกลายเป็นตลาดที่รับซื้อทุเรียนตกไซซ์ มีตำหนิที่ตกมาตรฐานส่งออก”

นายวิโรจน์กล่าวต่อไปว่า ประชากรในเทศบาลเนินสูงมีประมาณ 3,000 กว่าคน มีประชากรแฝงไม่ต่ำกว่า 2 พันคน โดยเฉพาะที่มาอาศัยช่วงฤดูผลไม้ แต่ทางเทศบาลได้รับงบประมาณเพียง 3 แสนบาท คิดตามจำนวนประชากรแท้จริง

ขณะที่เทศบาลเก็บได้เพียงภาษีโรงเรือน ภาษีป้าย และค่าเช่าแผง ค่าเช่าล้ง รวมประมาณ 10 ล้านบาทต่อปี ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดูแลพื้นที่ จึงอยากให้รัฐบาลใหม่มีนโยบายกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น และสามารถเก็บภาษีรายได้บางส่วนมาบำรุงท้องที่ เพราะปัจจุบันการของบประมาณมาใช้ยากมากกว่าจะได้